เทคโนโลยีลดขยะ/สร้างพลังงาน ฝืมือนักศึกษาไทยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)

ข่าวทั่วไป Friday March 12, 2004 17:33 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--12 มี.ค.--สกว.
ขยะในชุมชนส่วนใหญ่ จะปล่อยให้ขยะย่อยสลายไปเองทั้งที่สามารถใช้ประโยชน์จากก๊าซมีเธนที่เกิดขึ้นในด้านพลังงานได้ นักศึกษา คปก. จาก JGSEE จึงศึกษาเทคนิคการกำจัดขยะแบบไร้อากาศ เพื่อนำมาใช้กับขยะจากตลาดสด ที่จะนำไปสู่เทคนิคในการกำจัดขยะชุมชนที่มีประสิทธิภาพ และสามารถรวบรวมก๊าซมีเธนที่เกิดขึ้นมาใช้ประโยชน์ได้(ดาวน์โหลดภาพประกอบและบทความที่ http://pr.trf.or.th/news/index.asp )แต่ละวันจะมีขยะมูลฝอยเกิดขึ้นทั่วประเทศกว่า 4 หมื่นตัน โดยเกือบ 1 ใน 4 มาจากคนในกรุงเทพฯและปริมณฑลสร้างขึ้น แต่ก็พบว่ามีขยะเพียง 18 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่ถูกนำกลับมาใช้ประโยชน์ สำหรับขยะอินทรีย์ ซึ่งมีปริมาณมากกว่าครึ่งหนึ่งของขยะมูลฝอยทั้งหมดนั้น แหล่งที่เป็นที่รวมของขยะเหล่านี้มากที่สุดคือ "ตลาดสด" จุดนัดพบของพืชผักผลไม้จากเกษตรกรทั่วประเทศ ก่อนถูกส่งต่อให้กับผู้บริโภค ทำให้แต่ละวันมีอินทรีย์วัตถุจากผลผลิตเหล่านี้ ทั้งใบ ราก กิ่ง ผล ฯลฯที่กลายเป็นขยะที่ต้องถูกกำจัดจำนวนมาก ซึ่งวิธีการที่นิยมใช้มากที่สุดคือ "การขนไปทิ้ง (ฝังกลบ)" พร้อม ๆ กับขยะทั่วไป โดยไม่รู้ว่าสิ่งที่ทิ้งไป มีประโยชน์มากกว่าการเป็นปุ๋ย
นส.ชีวานุช ทับทอง นักศึกษาปริญญาเอก โครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก (คปก.) จากบัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม (JGSEE) กล่าวว่า การฝังกลบจะทำให้ขยะทับถมกันเป็นกอง และแทบจะไม่มีโอกาสได้สัมผัสกับอากาศ ทำให้เกิดการย่อยสลายอินทรีย์วัตถุพวกซากพืชผักเหล่านี้เป็นการย่อยแบบไม่ใช้ออกซิเจน (Anaerobic) ที่นอกจากจะเปลี่ยนขยะเหล่านี้เป็นสารอินทรีย์แล้ว ผลพลอยได้ที่สำคัญคือก๊าซชีวภาพ โดยเฉพาะ "ก๊าซมีเธน" ซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจกชนิดหนึ่งที่สามารถติดไฟได้
จากคุณสมบัติที่ติดไฟได้ของก๊าซมีเธน หากมีระบบกำจัดขยะที่มีประสิทธิภาพสามารถรวบรวมก๊าซมีเธนที่เกิดขึ้นได้ในปริมาณที่มากพอ นอกจากจะได้ความร้อนจากก๊าซดังกล่าวเพื่อนำไปใช้ประโยชน์แล้ว ยังเป็นการลดการปล่อยก๊าซที่เป็นต้นเหตุของภาวะโลกร้อนสู่บรรยากาศได้อีกทางหนึ่ง ซึ่งในต่างประเทศเทคโนโลยีนี้ ได้มีการนำไปใช้ในหลาย ๆ ด้าน เช่น หรือนำไปผลิตกระแสไฟฟ้า หรือส่งความร้อนที่ได้ไปสร้างความอบอุ่นให้บ้านเรือนในฤดูหนาวของประเทศเขตอบอุ่น
สำหรับประเทศไทย การใช้ประโยชน์จากก๊าซมีเธนจะอยู่ในฟาร์มเลี้ยงหมู ที่นำเข้าเทคโนโลยีการเก็บรวบรวมก๊าซมีเธนจาก "ขี้หมู" เพื่อนำไปสร้างความร้อนใช้ในโรงงานของตน ขณะที่การจัดการกับก๊าซมีเธนที่เกิดในกองขยะ จะเน้นการ "กำจัด" มากกว่าการ "นำไปใช้" เพราะองค์ประกอบของขยะในแต่ละประเทศจะแตกต่างกันค่อนข้างมาก เราจึงไม่สามารถนำเทคโนโลยีการเก็บก๊าซมีเธนของต่างประเทศมาใช้โดยตรงได้ ด้วยเหตุ นส.ชีวานุช จึงได้ทำวิทยานิพนธ์เรื่อง "ระบบกำจัดขยะแบบไร้ออกซิเจน สำหรับขยะอินทรีย์จากตลาด " เพื่อศึกษาคุณสมบัติการย่อยสลายของขยะอินทรีย์จากตลาดสดในประเทศไทย เพื่อที่จะนำไปสู่การพัฒนาเทคโนโลยีการกำจัดขยะชนิดนี้ที่เหมาะสม รวมถึงสามารถนำก๊าซมีเธนที่เกิดขึ้นในกองขยะมาใช้ประโยชน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมี รศ.ดร. สิรินทรเทพ เต้าประยูร เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา
"งานวิจัยนี้ เราได้ตัวอย่างขยะมาจากตลาดสี่มุมเมือง ซึ่งแต่ละวันมีขยะจากเศษพืชผลทางการเกษตรเกิดขึ้นหลายตัน มาสร้างสภาพการย่อยสลายแบบไม่ใช้ออกซิเจนให้เกิดขึ้นในในห้องปฏิบัติการ เพื่อที่จะทำความเข้าใจถึงขั้นตอนของการย่อยสลายโดยละเอียด ว่ามีรูปแบบการย่อยและการเปลี่ยนแปลงสภาพของขยะประเภทนี้ทางชีวเคมีอย่างไร โดยค่าตัวแปรต่าง ๆ ที่ทำการศึกษามีประมาณกว่า 20 ค่า"
นส.ชีวานุช กล่าวว่า ข้อค้นพบในเบื้องต้นที่น่าสนใจคือ การทำงานของจุลินทรีย์และแบคทีเรียในการเปลี่ยนสภาพขยะจากของแข็งไปเป็นของเหลว จะเกิดอย่างรวดเร็วมาก แต่ของเหลวเหล่านั้นกลับมีสัดส่วนการเปลี่ยไปเป็นก๊าซที่น้อยกว่าที่ควรจะเป็น
"จากการทดลองเราพบว่าภายในเวลาเพียง 7 วัน ปริมาตรของขยะจะสามารถลดลงไปได้กว่า 70 เปอร์เซ็นต์ แต่พบว่าแทนที่การเปลี่ยนอย่างรวดเร็วจะทำให้เกิดก๊าซมีเธนในปริมาณมาก กลับกลายเป็นว่าของเหลวที่เกิดขึ้นพร้อม ๆ กันในปริมาณมาก จะเป็นตัวยับยั้งมิให้จุลินทรีย์สำคัญสร้างก๊าซมีเธนได้ เพราะความเป็นกรดที่สูงมากของเหลวจะเป็นตัวไปยับยั้งการทำงานของจุลินทรีย์สำคัญที่จะสร้างก๊าซมีเธน"
นส. ชีวานุช สรุปว่า ความรู้จากงานวิจัยชิ้นนี้ จะทำให้เข้าใจถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในกองขยะประเภทนี้ อันจะนำไปสู่เทคนิคในการควบคุมกลไกหรือปฏิกิริยาในกองขยะเหล่านี้ให้มีสภาพที่เหมาะสมกับการย่อยสลายและทำให้เกิดก๊าซมีเธนในปริมาณที่มากขึ้น ซึ่งขณะนี้ได้ศึกษาถึงเทคนิคการปรับสภาพของเหลวเหล่านั้นให้เหมาะสมต่อการทำงานของจุลินทรีย์ด้วย ตั้งแต่การหาสารที่จะมาลดค่าความเป็นกรดของของเหลว หรือการมีระบบที่จะนำของเหลวบริเวณอยู่ด้านล่างของกองขยะขึ้นมาฉีดพ่นสร้าความชื้นที่กองขยะด้านบน เพื่อเป็นการลดความเข้มข้นของสารที่ก้นกองขยะ และเพิ่มปริมาณการย่อยสลายให้มากขึ้น เพื่อนำไปสู่การพัฒนาระบบการกำจัดขยะอินทรีย์แบบไร้อากาศ ด้วยวิธีต่อเนื่อง (Continuous) ที่เป็นเทคโนโลยีที่กำลังได้รับความสนใจยิ่งจากนักวิจัยสาขานี้ทั่วโลก
รศ.ดร. สิรินทรเทพ ในฐานะอาจารย์ที่ปรึกษา กล่าวสรุปว่า งานวิจัยระดับปริญญาเอกที่พัฒนาระบบกำจัดขยะแบบไร้ออกซิเจนชิ้นนี้ นอกจากจะเหมาะสมและสามารถปรับใช้ในการกำจัดขยะอินทรีย์จากตลาดสด ตลาดขายส่งสินค้าเกษตร รวมถึงขยะจากชุมชน ได้อย่างมีประสิทธิภาพและเหมาะสมกับขยะในเมืองไทยแล้ว นอกจากจะนำไปใช้ประโยชน์โดยตรงในแง่ของการทดแทนกระแสไฟฟ้าหรือพลังงานความร้อนให้กับเจ้าของแล้ว การที่เราสามารถลดการปล่อยก๊าซมีเธนซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจกที่มีผลต่อการทำให้โลกร้อนและสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง เป็นการเพิ่มข้อได้เปรียบของประเทศไทยในเวทีโลก ทั้งเวทีสิ่งแวดล้อมและเวทีการค้าให้มากขึ้น ในฐานะของประเทศที่มีจัดการกับก๊าซเรือนกระจก (มีเธน) ได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกเหนือจากวิทยานิพนธ์ของ นส. ชีวานุช แล้ว งานวิจัยด้าน BIOGAS ที่ทีมวิจัยกลุ่ม Biogas ของ JGSEE ทั้งในส่วนของวิทยานิพนธ์ปริญญาโท-เอก และงานวิจัยจากอาจารย์หลาย ๆ ท่าน จะเป็นข้อมูลสำคัญส่วนหนึ่งในการพัฒนาระบบกำจัดขยะที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพต่อไป
เพราะฉะนั้น สำหรับหน่วยงานหน้าที่ในด้านนี้รวมถึงภาคเอกชน และกำลังขาดแคลนทั้งข้อมูลหรือบุคลากรด้านวิชาการเกี่ยวกับการกำจัดของเสียและขยะมูลฝอย ทาง JGSEE จึงเป็นฝ่ายสนับสนุนด้านวิชาการที่พร้อมจะช่วยแก้ปัญหาหรือพัฒนาระบบให้ ขณะเดียวกันสำหรับคนที่ทำงานอยู่ในสายนี้ และอยากสร้างศักยภาพเชิงวิชาการให้กับตนเอง ทาง JGSEE ก็กำลังเปิดรับสมัครนักศึกษารุ่น 2546 ผู้กำลังหาที่เรียนต่อด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อมในระดับปริญญาโทและเอก รวมถึงหน่วยงานรัฐและเอกชนที่สนใจระบบกำจัดขยะแบบไร้อากาศประสิทธิภาพสูง ามารถติดต่อข้อข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ฝ่ายการศึกษา JGSEE โทร. 02-872-9014-5 ต่อ 4126 , 4127 หรือเข้าไปดูรายละเอียดได้ที่ http://jgsee.kmutt.ac.th
ท่านสื่อมวลชนที่ต้องการภาพประกอบหรือข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อฝ่ายประชาสัมพันธ์โครงการ JGSEE--จบ--
-นท-

แท็ก สกว.  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ