กรุงเทพฯ--15 มี.ค.--สกว.
สถานการณ์ในประเทศ
เหตุการณ์วิกฤติในเดือนมกราคม 2547 ได้แก่สถานการณ์ในภาคใต้ และกรณีไข้หวัดนก ยังคงต่อเนื่องมาจนเดือนกุมภาพันธ์ และยังมีกรณีใหม่เกิดขึ้น ได้แก่ การต่อต้านการแปรรูปการไฟฟ้าฝ่ายผลิตของพนักงาน ซึ่งขยายตัวเป็นแนวร่วมใหญ่ รวมทั้งยังมีเหตุการณ์ที่อาจปะทุขึ้นเป็นเรื่องใหญ่อีกหลายรายการ ทำให้บรรยากาศเกิดความอึมครึม ไม่ใสกระจ่างดุจเดิม ความเชื่อมั่นในอนาคตและดัชนีตลาดหลักทรัพย์ลดลง ถึงเวลาของการตั้งสติและการมีส่วนร่วมเพื่อการก้าวต่อไป
1. สถานการณ์ 3 จังหวัดภาคใต้ คุระอุต่อเนื่องยาวนานอย่างไม่คาดคิด ก่อผลสะเทือนทางจิตวิทยาสังคมทั้งในระดับท้องถิ่นและในระดับชาติ ขณะเดียวกันก็มีความสลับซับซ้อน ทำให้ยากแก่การแก้ไขปัญหา แม้สื่อมวลชนจะให้ความสนใจเสนอข่าวและทัศนะจากหลายแหล่งอย่างรอบด้าน แต่ก็ดูยังให้ภาพที่ไม่ครบถ้วน มีข้อเท็จจริงที่ซ่อนเร้นอยู่เบื้องหลัง อย่างไรก็ตาม จากการใช้ความพยายามอย่างต่อเนื่องหลายรูปแบบของภาครัฐบาล เหตุการณ์อยู่ในภาวะทรงตัว
เหตุการณ์ภาคใต้มีบทเรียนและข้อสังเกตบางประการดังต่อไปนี้
1) การประกาศใช้กฎอัยการศึก ควรจะถือเป็นมาตรการเฉพาะหน้า ไม่ใช่นโยบาย ควรใช้อย่างจำกัดและเมื่อจำเป็น สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้คล่องตัวตามสถานการณ์
2) การขจัดอิทธิพลท้องถิ่น ความไม่ลงรอยกันและความอ่อนแอในระบบราชการในบริเวณดังกล่าว ปมเงื่อนสำคัญอยู่ที่ขจัดปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันและการใช้อำนาจหน้าที่อันไม่เป็นธรรม ซึ่งการปฏิบัติเช่นว่า ก็คงต้องใช้เวลา การอุทิศตน และความกล้าหาญอยู่ไม่ใช่น้อย อนึ่ง มีข้อสังเกตว่าสภาพปมเงื่อนปัญหาดังกล่าว อาจดำรงอยู่ทั่วประเทศ เพียงแต่ว่าไม่ได้มีปัจจัยแวดล้อมอื่นให้เกิดขึ้นกรณีอย่างเช่น 3 จังหวัดภาคใต้
3) นโยบายสร้างความปลอดภัย ความกลมกลืนทางเชื้อชาติ ภาษาและศาสนา กล่าวโดยรวมก็คือการสร้างความมั่นคงมนุษย์ในภูมิภาคนี้ จำเป็นต้องปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง ปมเงื่อนอยู่ที่การเข้าใจและเคารพในปรัชญาอิสลาม
4) นโยบายการพัฒนาที่ใช้เงินนับหมื่นล้านบาทนั้น จำต้องปฏิบัติโดยให้ประชาชนและชุมชนมีส่วนร่วมและได้รับผลการพัฒนาให้มากที่สุด ไม่ปล่อยให้เงินพัฒนาก้อนใหญ่นี้ไหลออกไปสู่บริษัทใหญ่ เช่นทางการก่อสร้าง
5) ควรจะได้ศึกษาเกี่ยวกับการค้าชายแดน เนื่องจากการค้าชายแดนไทย-มาเลเซีย มีมูลค่ากว่าครึ่งหนึ่งของการค้าชายแดนของไทยทั้งหมด ชุมชนชาวบ้านที่อยู่บริเวณชายแดนดูจะได้รับผลประโยชน์จากการค้านี้ไม่มากนัก มีการขนถ่ายสินค้าและความมั่งคั่งผ่านไปมาโดยองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ เกิดผลประโยชน์ใต้ดินมหาศาล มีกลุ่มผู้มีอิทธิพลจากหลายวงการ ปัจจุบันมีการส่งเสริมการค้าชายแดนโดยรอบอย่างกว้างขวาง ซึ่งหากไม่ดูแลการกระจายผลประโยชน์จากการค้านี้อย่างเหมาะสม สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในภาคใต้อาจเกิดซ้ำรอยขึ้นอีกได้ในบริเวณชายแดนตอนเหนือ หรือชายแดนฝั่งตะวันตกและฝั่งตะวันออก
2. สถานการณ์ไข้หวัดนก ค่อยๆคลายความรุนแรงลงหลังจากฆ่าไก่ยกเล้าจำนวนหลายสิบล้านตัว การจัดมหกรรมกินไก่ทั่วประเทศ ไปจนถึงการสร้างความเชื่อถือ เร่งการส่งออกไปยังตลาดใหญ่ เช่น ญี่ปุ่น และการฟื้นฟูกลุ่มเกษตรกรผู้ที่ได้รับผลกระทบ การติดเชื้อและการระบาดซ้ำลดน้อยลงโดยลำดับ
สถานการณ์ไข้หวัดนกมีข้อสังเกตดังต่อไปนี้
1) การแก้ปัญหาหลังจากการสะดุดในตอนต้น กระทำไปอย่างค่อนข้างบังเกิดผล ได้รับการยอมรับในระดับที่แน่นอน บทเรียนก็คือการเปิดเผยข้อเท็จจริงแก่สาธารณะ น่าจะช่วยแก้หรือบรรเทาปัญหาได้ดีกว่าการปกปิดข้อเท็จจริง
2) ข้อเสนอการแก้ไข เช่น การฝังไมโครชิปในไก่ชน การจัดโซนนิงการเลี้ยง และการทำฟาร์มไก่แบบปิด เป็นสิ่งที่ปฏิบัติได้ยาก ดังนั้น คาดหมายว่าการทำฟาร์มไก่ในระยะใกล้นี้คงไม่ต่างจากเดิมมากนัก แต่น่าจะมีการเตรียมตัวรับมือกับการระบาดได้ดีขึ้นด้วยมาตรการต่างๆ ตั้งแต่การจัดสุขาภิบาลฟาร์มไปจนถึงการเตรียมทางด้านวัคซีน
3) การเลี้ยงสัตว์เชิงเดี่ยวเป็นปริมาณมาก เพื่อให้ได้ผลผลิตสูงสุดที่เรียกว่าเกษตรโรงงาน (Factory Farm) มีความเสี่ยงในตัวของมันเองอยู่ ดังจะพบว่าแม้ในฟาร์มของประเทศพัฒนาแล้ว อย่างเช่นสหรัฐและญี่ปุ่น ซึ่งถือกันว่ามีมาตรฐานความปลอดภัยทางอาหารสูง ก็ยังประสบปัญหาไข้หวัดนกระบาดในไก่ ดังนั้น การสนับสนุนให้เกษตรกรเลี้ยงไก่ในทำนองนี้ทั้งจากภาครัฐและภาคธุรกิจเอกชน ควรจะได้ชี้แจงเกี่ยวกับความเสี่ยงและการรับมือกับความเสี่ยงนี้ไว้ล่วงหน้าด้วย
4) การแก้ปัญหายังอยู่ในกรอบของการควบคุมและการจัดการ เพื่อที่จะเลี้ยงไก่ตามแนวทางเดิมต่อไป น่าจะได้ส่งเสริมการคิดแตกแนว ทำเกษตรแบบอื่น เช่น การเพาะปลูกเห็ดฟางที่เกษตรกรสามารถทำได้กว้างขวาง โดยไม่ต้องพึ่งพันธุ์สัตว์ อาหารพิเศษและยาจากบรรษัทขนาดใหญ่ สามารถนำมาบริโภคในครัวเรือนและชุมชนได้
5) จากกรณีไข้หวัดนกระบาด ควรจะได้ถือเป็นโอกาสในการระดมสมอง เพื่อช่วยกันสร้างนโยบายและยุทธศาสตร์อาหารแห่งชาติ ที่สนองทั้งด้านความมั่นคงทางอาหาร ความปลอดภัยทางอาหาร และการค้าผลิตภัณฑ์อาหาร
3. การประท้วงของพนักงานการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯคัดค้านการแปรรูปขององค์กร การประท้วงนี้ได้ก่อตัวอย่างหลวมๆและทวีความเหนียวแน่นขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป ต่างกับท่าทีของรัฐบาลที่เริ่มต้นอย่างแข็งขัน และโอนอ่อนเมื่อเวลาผ่านไป ปรากฏการณ์เช่นนี้สะท้อนว่า การแปรรูปรัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่ ซึ่งมีผลกระทบต่อประชาชนจำนวนมากอย่างเช่นการไฟฟ้าฝ่ายผลิต เป็นเรื่องใหญ่ที่พึงทำความกระจ่างชัดให้แก่สาธารณชน ไม่ใช่เป็นการทำความเข้าใจหรือทำความตกลงกันเพียงระหว่างภาครัฐบาลและพนักงาน
อนึ่ง การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ เป็นเรื่องใหญ่เรื่องหนึ่งสำหรับประเทศกำลังพัฒนาที่มักไม่มีบรรษัทขนาดใหญ่พอที่จะให้บริการสาธารณะ อย่างเช่นไฟฟ้า น้ำประปา และการขนส่งมวลชน เป็นต้น ดังนั้น จึงมีความจำเป็นในระดับหนึ่งที่จะต้องอาศัยรัฐบาลเป็นผู้ดำเนินการโดยถือว่าเป็นตัวแทนของสาธารณชน ทัศนะและท่าทีต่อการแปรรูปรัฐวิสาหกิจก็หลากหลายต่างกัน ซึ่งควรจะถือเป็นโอกาสในการนำทัศนะและท่าทีที่ต่างกันนี้มาอภิปรายถกแถลงในเชิงหลักการ รวมทั้งลงสู่รายละเอียดในแง่ของวิธีการและลักษณะเฉพาะของรัฐวิสาหกิจแต่ละแห่ง
นอกจากนี้ ในระยะ 20 กว่าปีมานี้ ในช่วงที่แนวคิดเสรีนิยมใหม่ขึ้นสู่กระแสสูง ได้มีการแปรรูปรัฐวิสาหกิจขนานใหญ่ทั่วโลกทั้งในประเทศพัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนา ที่ประสบความสำเร็จก็มี ที่ล้มเหลวก็ไม่น้อย ความล้มเหลวในบางประเทศกล่าวกันว่าถึงขั้นส่งผลให้เศรษฐกิจประเทศนั้นล้มละลาย เช่น กรณีประเทศอาร์เจนตินา ตัวอย่างและบทเรียนเหล่านี้ก็ควรนำมาอภิปรายกันว่าเป็นอย่างไรแน่ และเราควรจะปฏิบัติอย่างไรเวทีทางปัญญาเช่นนี้ ถ้าหากได้กระทำอย่างเปิดเผยและกว้างขวาง ก็น่าจะทำให้สาธารณชนเข้าใจถึงสถานการณ์ต่างๆ อย่างรอบด้าน ไม่เพียงแต่ทางธุรกิจ หากยังเป็นสถานการณ์ทั่วไป เช่น สถานการณ์และแนวโน้มของพลังงานและน้ำใช้ เปิดช่องทางให้ประชาชนมีส่วนรวมในกระบวนการสร้างนโยบายสาธารณะและการตัดสินใจ ซึ่งจะทำให้ทิศทางการพัฒนาและวิธีการแก้ปัญหาความขัดแย้งอย่างชาญฉลาดและอย่างสันติ
4. เหตุการณ์รุมเร้าอื่นๆ ซึ่งอาจกลายเป็นประเด็นทางการเมืองขึ้นได้ ทั้งโดยการขยายผลกระทบและโดยการสร้างสถานการณ์ เช่น กรณีภัยแล้งและความร้อนจัดที่น่าจะเกิดรุนแรงในหน้าร้อนนี้ ซึ่งอาจเป็นผลกระทบของภาวะโลกร้อนจนเกิดภาวะภูมิอากาศวิปริตทั่วโลก ภาวะที่ของแพง เนื่องจากสินค้าโภคภัณฑ์ในกลุ่มอาหาร โลหะ และน้ำมัน มีราคาสูงขึ้น หรือความไม่พอใจเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงเช่นการปฏิรูประบบราชการ เป็นต้นในสถานการณ์เช่นนี้ กล่าวได้ว่าปฏิบัติการเชิงรุกด้วยความฉับพลันรวดเร็วแบบซีอีโอหรือแบบบูรณาการของฝ่ายบริหารรัฐบาลน่าจะกระทำได้ลำบากขึ้น เนื่องจาก...
1) ส่วนที่รุกได้ง่ายได้เปิดฉากรุกไปแล้ว
2) ผลสำเร็จของปฏิบัติการเชิงรุกทำให้สามารถช่วงชิงพื้นที่ทั้งทางเศรษฐกิจ-การเมือง-สังคมได้มาก จำต้องเสริมความมั่นคงหรือรักษาพื้นที่ที่รุกไว้ ซึ่งประกอบด้วย การแก้ไขความขัดแย้งภายในกลุ่ม การจัดกระบวนและองค์กรใหม่ การสร้างผู้ปฏิบัติงานใหม่ที่พอเพียง การแก้ปัญหาจำนวนมากจากการเดินนโยบายที่ผ่านมา ซึ่งถึงแม้ว่าจะมีด้านที่ประสบความสำเร็จแต่ก็มีด้านที่มีปัญหาดำรงอยู่จำนวนหนึ่ง ซึ่งถ้าหากไม่เร่งแก้ไขก็จะทำให้ปัญหาขยายใหญ่ขึ้น
3) แรงต้านทานมีความเหนียวแน่นขึ้น หลังจากกลุ่มที่ไม่เหนียวแน่นได้สลายไป กล่าวโดยรวม การปฏิบัติเชิงรุกและการใช้วิธีการทางการตลาดที่เคยใช้ได้ผลดี น่าจะใช้ได้ผลจำกัดขึ้น นโยบายและการปฏิบัติที่ต้องการเพิ่มขึ้น ได้แก่ ความโปร่งใสและการมีส่วนร่วม ทั้งนี้เพื่อสร้างความมั่นใจและผนึกกำลังทั่วประเทศในการก้าวเดินไปในทิศทางและจังหวะก้าวที่เหมาะสมในอีกด้านหนึ่ง ความขัดแย้งที่ปรากฏเข้มข้นดูยังอยู่ภายในชนชั้นนำเป็นสำคัญ รัฐบาลที่มีฐานะการคลังมั่นคง ยังสามารถแสดงบทบาทในการกระตุ้นเศรษฐกิจต่อไป แม้ประสบปัญหาและอุปสรรค แต่ก็ยังมีการคาดว่าอัตราเติบโตทางเศรษฐกิจในปี 2547 นี้จะสูงกว่าปีที่ผ่านมา ในด้านการเมือง ยังไม่ปรากฏว่ามีพรรคการเมืองที่นำเสนอชุดนโยบายขึ้นมาเป็นคู่แข่งกับรัฐบาล การปฏิรูปทางการเมืองอยู่ในภาวะชะลอตัว ความเป็นไปได้ที่จะเกิดการตะลุมบอนทางการเมืองมีสูง ขณะที่ประเทศต้องการความปรองดองเพื่อที่จะก้าวเดินในโลกที่มากด้วยความไม่แน่นอน
สถานการณ์ต่างประเทศ
1. การก่อสงครามยึดครองอิรักของพันธมิตรสหรัฐ-อังกฤษเข้าสู่ภาวะระส่ำระสาย ซึ่งที่แสดงออก คือ
1) ความไม่สงบและการต่อต้านการยึดครองที่ขยายตัวไป ในเดือนกุมภาพันธ์นี้ได้เกิดการก่อวินาศกรรมรุนแรงหลายครั้งตลอดเดือน ทำให้มีผู้เสียชีวิตนับร้อยคน เกือบทั้งหมดเป็นชาวอิรัก ขบวนรถของผู้บัญชาการทหารสหรัฐในตะวันออกกลางเองถูกโจมตี ตัวผู้บัญชาการไม่ได้รับการบาดเจ็บ นอกจากนี้ ยังมีปฏิบัติการใหญ่ที่กลุ่มจรยุทธ์จำนวนราว 50 คนได้บุกโจมตีสถานที่ราชการที่เมืองฟอลลูจา ในสถานการณ์คุกรุ่นเช่นนี้ มีรายงานจากสำนักงานซีไอเอในกรุงแบกแดดว่า อิรักอาจจะ "ไหลไปบนทางของสงครามกลางเมือง" (Knight-Ridder 110204) อนึ่ง ในการก่อวินาศกรรม ซึ่งตามข่าวมักแจ้งว่าเป็นปฏิบัติการของกลุ่มก่อการร้าย แต่ชาวอิรักจำนวนหนึ่งที่อยู่ในที่เกิดเหตุเชื่อว่าเกิดจากการทิ้งระเบิดของสหรัฐ และอีกจำนวนมากกล่าวหาว่า สหรัฐไม่ได้รักษาความปลอดภัยให้แก่พวกเขา ทำให้ความไม่พอใจในการยึดครองแผ่กว้างออกไป (ดิ อินดีเพนเดน 110204, ซานฟรานซิสโก ครอนิเคิล 030304)
2) ข้ออ้างและความชอบธรรมในการก่อสงครามขาดความน่าเชื่อถือลงไปทุกที ในประเด็นอาวุธทำลายร้ายแรงและอิรักเป็นภัยคุกคามที่ใกล้จะมาถึง ทำให้ผู้นำบุช-แบลร์ตกอยู่ในภาวะตั้งรับ ประธานาธิบดีบุช ถูกบีบให้จำต้องตั้งคณะกรรมการไต่สวนเกี่ยวกับงานข่าวกรองเรื่องอาวุธทำลายร้ายแรงในอิรัก เช่นเดียวกับที่ในประเทศอังกฤษ ทางด้านผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองสหรัฐแถลงปัดว่า ไม่เคยได้รายงานว่าประธานาธิบดีซัดดัมฮุสเซนแห่งอิรักเป็น "ภัยคุกคามที่ใกล้จะเกิดขึ้น" (Imminent Threat) กระทรวงกลาโหมที่ออกหน้าในการนี้ กำลังหาทางบ่ายเบี่ยง และยกหน้าที่การยึดครองอิรักให้เป็นของกระทรวงต่างประเทศ ริชาร์ด เพิร์ล (Richard Perle) บุคคลสำคัญในคณะกรรมการนโยบายกระทรวงกลาโหม ผู้ที่ออกหน้าเร่งเร้าในสหรัฐบุกยึดครองอิรักอย่างแข็งขันที่สุดผู้หนึ่งได้ยื่นจดหมายลาออกจากตำแหน่งในช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ เพื่อไม่ให้ทัศนะของเขาส่งผลสะเทือนต่อการหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีในปลายปี นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่สตรีหน่วยสืบราชการลับอังกฤษได้เปิดเผยข่าวหนังสือพิมพ์ว่าสหรัฐได้วางแผนที่จะดักฟังโทรศัพท์ของผู้แทนประเทศในองค์การสหประชาชาติ อดีตรัฐมนตรีหญิงในรัฐบาลโทนีแบลร์ได้เปิดเผยในรายการวิทยุว่าจารชนอังกฤษได้ลอบดักฟังโทรศัพท์ขององค์การสหประชาชาติรวมทั้งนายโคฟีอันนัน เลขาธิการใหญ่ ซึ่งเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมาย
3) กำหนดถ่ายโอนอำนาจให้แก่ชาวอิรักในเดือนมิถุนายน มีท่าทีว่าจะไม่สำเร็จ มีรายงานคำสัมภาษณ์นายพลซานเชส ผู้บัญชาการทหารสหรัฐในอิรักเห็นว่าสหรัฐอาจต้องอยู่ในอิรักเป็นปี และการช่วยให้กองกำลังอิรักรักษาความสงบในแบกแดดต้องใช้เวลาอย่างน้อย 12 เดือน (รอยเตอร์ 180204) ขณะที่ นายพอล เบรเมอร์ ผู้แทนสหรัฐในการปกครองอิรักให้ทัศนะว่า มีอุปสรรคทางเทคนิคในการจัดการเลือกตั้งในอิรักอยู่มาก ซึ่งจะต้องใช้เวลา 1 ปีหรือ 15 เดือนในการแก้ไข ขณะที่ผู้นำทางศาสนาและจิตวิญญาณของอิรัก เรียกร้องให้ดำเนินการเลือกตั้งโดยเร็ว (สำนักข่าวฝรั่งเศส 210204)
อนึ่ง กำหนดการที่จะให้มีการเลือกตั้งในอัฟกานิสถานที่จะให้มีขึ้นในเดือนมิถุนายน 2547 ก็เป็นอันต้องเลื่อนไปเนื่องจากภาวะไม่สงบ
2. ภาวะการจ้างงานและโลกาภิวัตน์ยังคงเป็นประเด็นร้อน เมื่อได้เห็นเศรษฐกิจของสหรัฐฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องบนพื้นฐานที่เปราะบางและปัญหาจำนวนมากโดยเฉพาะเรื่องการว่างงาน การมีงานทำเป็นตัวชี้วัดสำคัญอย่างหนึ่งของความแข็งแกร่งในการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ นักเศรษฐศาสตร์คิดว่า สหรัฐจำต้องสร้างงานใหม่เดือนละ 150,000 ตำแหน่ง เพื่อที่จะรองรับแรงงานที่เพิ่มขึ้น และรักษาระดับอัตราการว่างงานให้คงที่ แต่นับแต่เดือนกันยายน 2546 มีการสร้างงานเพิ่มเพียง 366,000 ตำแหน่งหรือเดือนละกว่า 70,000 ตำแหน่งเท่านั้น สำหรับในเดือนมกราคม 2547 ซึ่งตามหลังการเติบโตทางเศรษฐกิจในอัตราสูงในไตรมาสที่สามและที่สี่ของปี 2546 มีการสร้างตำแหน่งงานใหม่เพียง 112,000 ตำแหน่ง และส่วนใหญ่เป็นงานในภาคการค้าปลีกที่มีค่าจ้างต่ำ อนึ่ง นับแต่ประธานาธิบดีบุชขึ้นดำรงตำแหน่ง มีการเลิกจ้างงานถึง 2.2 ล้านตำแหน่ง (รอยเตอร์ 060204) การฟื้นตัวหรือการเติบโตทางเศรษฐกิจโดยที่ผลประโยชน์ไม่ได้กระจายไปถึงผู้ใช้แรงงานซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่นี้กำลังกลายเป็นปัญหาสำคัญทางโครงสร้างของเศรษฐกิจโลก
รายงานขององค์กรแรงงานสากล องค์การสหประชาชาติที่ได้จัดทำขึ้นโดยการสำรวจและสัมภาษณ์ประชาชน นักการเมือง และผู้นำทางธุรกิจในประเทศต่างๆ ทั่วโลก ระบุว่าโลกาภิวัตน์ได้สร้างทั้งผู้ชนะและผู้แพ้ การว่างงานทั่วโลกพุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ ถึง 185 ล้านคน การคอร์รัปชันแพร่ระบาด การบริหารปกครองที่ดีอยู่ในภาวะวิกฤติ อนาคตของตลาดเสรีมีปัญหามากขึ้นเรื่อยๆ ในด้านดีก็คือ การสื่อสารอย่างรวดเร็ว การช่วยสร้างจิตสำนึกโลก ซึ่งก็จะต้องเร่งสร้างหนทางโลกาภิวัตน์ที่ยุติธรรมและเป็นธรรม หาไม่แล้วโลกจะหมุนวนไปสู่ความไม่มั่นคง ความปั่นป่วนทางการเมือง ความขัดแย้งและสงคราม (เดอะ การ์เดียน 250204)
3. การสนับสนุนเรื่องการค้าเสรีลดลงในสหรัฐ จากการสำรวจของแผนงานว่าด้วยทัศนคติทางนโยบายระหว่างประเทศ (Program on International Policy Attitudes - PIPA) มหาวิทยาลัยแมรีแลนด์ สหรัฐ พบว่าการสนับสนุนการค้าเสรีในทุกกลุ่มรายได้ ลดลงนับแต่ปี 1999-2004 และที่สำคัญลดลงอย่างรวดเร็วในกลุ่มผู้มีรายได้สูง ซึ่งในอดีตเป็นผู้สนับสนุนการค้าเสรีอย่างแข่งขันที่สุด โดยพบว่าคนอเมริกันที่รายได้มากกว่า 1 แสนดอลลาร์ต่อปี สนับสนุนการส่งเสริมการค้าเสรีลดลงจากร้อยละ 57 ในปี 1999 เหลือน้อยกว่าครึ่งหนึ่งคือร้อยละ 26 สำหรับชาวอเมริกันที่มีรายได้น้อยต่ำกว่า 7 หมื่นดอลลาร์ต่อปี การสนับสนุนการค้าเสรีที่น้อยอยู่แล้ว ก็พบว่าลดลงไปอีกร้อยละ 7 นอกจากนี้ คนอเมริกันที่มีรายได้สูงกว่า 1 แสนดอลลาร์ต้องการให้ชะลอหรือยุติการค้าเสรีเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว จากร้อยละ 17 เป็นร้อยละ 33 (ยูเอสเอ ทูเดย์ 240204) จากรายงานของ PIPA เอง ซึ่งเผยแพร่เมื่อปลายเดือนมกราคม 2547 คนอเมริกันส่วนใหญ่ยังไม่พอใจในนโยบายการค้าของรัฐบาล และต้องการให้รัฐบาลลดทอนผลกระทบของการค้าที่มีต่อคนงานทั้งในประเทศและต่างประเทศ ตลอดจนต่อสิ่งแวดล้อม การสำรวจนี้ดูเหมือนจะตอกย้ำว่า การค้าเสรีซึ่งเปรียบเหมือนเป็นสินค้าที่ขายไม่ค่อยออกในประเทศพัฒนาแล้วนั้น กำลังถูกนำมาเสนอขายอย่างเต็มที่ในประเทศกำลังพัฒนารวมทั้งประเทศไทย
4. การสร้างรั้วของอิสราเอลที่เขตเวสต์แบงก์โดยข้ออ้างเพื่อป้องกันตัวเอง ถูกนำขึ้นสู่ศาลโลกโดยฝ่ายปาเลสไตน์ และคงเป็นที่ถกเถียงทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยในมิติต่างๆ อีกยาวนาน การสร้างรั้วนี้ดูจะไม่ได้ทำให้สันติภาพกลับคืนมา แต่ดูเหมือนความขัดแย้งอิสราเอล-ปาเลสไตน์กลับขยายตัวไปอีก มีรายงานข่าวในช่วงกลางเดือนกุมภาพันธุ์ว่ากลุ่มก่อการร้ายสากลจะปฏิบัติการโจมตีอิสราเอลและผลประโยชน์ชาวยิวทั่วโลก และพบว่าประเทศมหาอำนาจก็เตรียมสร้างรั้วเพื่อป้องกันตนเอง เช่น สหรัฐ มีแผนที่จะสร้างรั้วสามชั้นยาว 10 ไมล์เพิ่มขึ้นอีก ทั้งนี้เพื่อป้องกันผู้อพยพผิดกฎหมายจากเม็กซิโก (ซานดิเอโก ยูเนียน-ทรีบูน 190204)
หรือว่าการสร้างรั้วกำลังกลายเป็นสัญลักษณ์ใหม่ของโลกเสรี ?
5. กรณีนายอับดุล กาเดียร์ คาน บิดาแห่งอาวุธนิวเคลียร์ของปากีสถาน ได้ยอมรับว่าตนเองและเพื่อนนักวิทยาศาสตร์ได้เปิดเผยความลับทางอาวุธนิวเคลียร์ของปากีสถาน ซึ่งมีเครือข่ายไปเกี่ยวข้องกับประเทศทั่วโลก แสดงว่าสนธิสัญญาป้องกันการกระจายอาวุธนิวเคลียร์ ที่ได้มีการลงนามกันตั้งแต่ปี 1968 ไม่ได้ผลตามที่คาดหมาย นายโมฮัมเหม็ด เอลบาราเด ผู้อำนวยการพลังงานอะตอมสากล องค์การสหประชาชาติ (International Atomic Energy Agency - IAEA) ได้เขียนบทความชี้ว่าเทคโนโลยีนิวเคลียร์ที่เคยเป็นความลับ ปัจจุบันได้สามารถเข้าถึงได้อย่างกว้างขวาง รวมทั้งวัสดุในการสร้าง ซึ่งในที่สุดกลุ่มก่อการร้ายก็จะเข้าถึงวัสดุและเทคโนโลยีนี้ นายเอลบาราเดยังได้เรียกร้องให้ประเทศใหญ่ที่ได้ลงนามในสนธิสัญญานี้ ได้แก่ สหรัฐ จีน รัสเซีย อังกฤษ และฝรั่งเศสเร่งทำลายอาวุธเหล่านี้ และชี้ว่าโลกจะต้องละทิ้งความคิดว่าอาวุธนิวเคลียร์เป็นสิ่งถูกต้องเมื่ออยู่ในมือบางประเทศ และเป็นสิ่งเลวร้ายเมื่ออยู่ในประเทศอื่น โลกอาจจะมุ่งไปสู่การทำลายล้างโดยอาวุธนิวเคลียร์ได้ (รอยเตอร์ 120204) อนึ่ง คาดกันว่าจากการที่ภาวะพลังงานราคาแพง ทำให้มีการหันไปใช้พลังงานนิวเคลียร์มากขึ้น ซึ่งจะยิ่งทำให้ยากแก่การป้องกันการแพร่กระจายของอาวุธนี้
6. การรายงานเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนของกระทรวงต่างประเทศสหรัฐ ซึ่งกล่าวตำหนิการปฏิบัติที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศรวมทั้งประเทศไทย ซึ่งมีข่าวว่าหลายประเทศรวมทั้งประเทศไทยได้ตอบโต้อย่างไม่ลดละ ในสหรัฐเองเครือข่ายสิทธิมนุษยชนสหรัฐ (US Human Rights Network - USHRN) ซึ่งประกอบด้วยสมาชิกกว่า 100 องค์กร ได้ออกแถลงการณ์ตอบโต้ว่า "รายงานการละเมิดสิทธิมนุษยชนของรัฐใดในโลก โดยเฉพาะในบริบทการทำ 'สงครามต่อต้านการก่อการร้าย' จะต้องรวมเอาการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นในสหรัฐไว้ด้วยจึงจะเป็นที่น่าเชื่อถือ" และได้ย้ำว่า "รัฐบาลสหรัฐได้สูญเสียอำนาจทางศีลธรรมที่จะประกาศการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศอื่น ตราบเท่าที่ประเทศนี้ยังคงกดขี่ทั้งสามัญชนอเมริกันและชนชาติของประเทศต่างๆ ในนามของ 'ความมั่นคงแห่งชาติ' ในประเทศของตน"
ทัศนะข้างต้นอาจมีผู้เห็นไปต่างๆ แต่สิ่งที่สำคัญอยู่เบื้องลึกกว่านั้นก็คือ ในโลกที่พึ่งพากันและมีการติดต่อกันสูง การจะสร้างความสงบและความมั่นคงนั้น จำต้องอาศัยประเทศมหาอำนาจหนึ่งหรือหลายประเทศเป็นแบบอย่างทางศีลธรรม มีองค์กรที่คอยดูแลแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในโลก อย่างเช่นองค์การสหประชาชาติ ถ้าหากขาดเงื่อนไขบางประการเหล่านี้ก็จะทำให้โลกเข้าสู่ภาวะอนาธิปไตยและความจลาจลไม่สงบได้โดยง่าย
จัดทำโดย โครงการข่าวสารทิศทางประเทศไทย (TTMP)
โดยการสนับสนุนของ นักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)
(ดูรายงานทุกฉบับได้ที่ http://ttmp.trf.or.th )--จบ--
-นท-