สกว. แนะเทคนิคการสื่อสารเสริมบทบาทผู้นำหญิงสร้างสมดุล พัฒนาการปกครองท้องถิ่น

ข่าวทั่วไป Monday March 15, 2004 09:14 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--15 มี.ค.--สกว.
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)
เวทีการเลือกตั้งท้องถิ่นกำลังมีการแข่งขันกันอย่างเข้มข้น และหลังจากนั้นน่าจะมีผู้หญิงได้เข้ามาทำงานเพิ่มขึ้น แต่ยังนับเป็นก้าวแรก ๆ ในการเข้ามามีส่วนร่วมของผู้หญิงในการพัฒนา ดังนั้นเพื่อให้การทำงานของผู้หญิงมีศักยภาพมากขึ้นโดยเฉพาะในการกระบวนการตัดสินใจที่เป็นเรื่องของส่วนรวม บทบาทการสื่อสารจึงมีประโยชน์อย่างมากในการเสริมบทบาทสร้างพลังความมั่นใจให้กับผู้หญิงในการปกครองท้องถิ่นได้
ปัจจุบันผู้หญิงได้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาสังคมมากขึ้น โดยเฉพาะทางด้านการเมืองทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่น แม้เป็นสัดส่วนเพียงเล็กน้อยแต่ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ดี อุปสรรคสำคัญของผู้หญิงในการปกครองท้องถิ่นคือขาดการเตรียมตัวและสั่งสมประสบการณ์ที่มากพอ สำหรับการก้าวเข้ามาทำงานในพื้นที่ที่เคยเป็นของผู้ชายมายาวนาน ดังนั้น การสื่อสารจึงมีบทบาทสำคัญที่จะช่วยให้ผู้หญิงสามารถมีข้อมูลข่าวสารที่หลากหลายและดีที่สุด ประกอบการตัดสินใจในการทำงานการเมืองที่มีลักษณะฉับไวและรวดเร็วได้อย่างมีประสิทธิภาพ
งานวิจัยเรื่อง"บทบาทการสื่อสารในการเสริมพลังความเข้มแข็งของผู้หญิงในการปกครองของถิ่น" ของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ซึ่งมี ผศ.อ้อมทิพย์ เมฆรักษาวนิช แคมป์ จากมหาวิทยาลัยแม่โจ้ เป็นหัวหน้าโครงการ ระบุว่า ในการปกครองท้องถิ่น ผู้หญิงได้เข้าไปมีส่วนร่วมใน 2 ลักษณะ คือการมีส่วนร่วมโดยตรงจากการได้รับเลือกตั้งเข้าไปทำหน้าที่ผู้นำ เช่น สมาชิกอบต. กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หรือประธานกลุ่มผลประโยชน์ต่าง ๆ กับกลุ่มพลัง ผู้สนับสนุน หรือกลุ่มผลประโยชน์ที่จะคอยติดตามการดำเนินงานของกลุ่มผู้นำตามความต้องการที่เสนอไป ผศ.อ้อมทิพย์ กล่าวว่า การที่ผู้หญิงจะก้าวเข้าไปแสดงบทบาทในที่ที่เคยเป็นพื้นที่ของผู้ชายมายาวนานนั้นจำเป็นต้องเตรียมตัวและสั่งสมประสบการณ์ที่มากพอ จึงจะสามารถใช้ศักยภาพของตนเองเพื่อพัฒนาชุมชนให้เจริญก้าวหน้าและเอื้อประโยชน์ต่อสมาชิกของสังคมได้อย่างเต็มที่ ซึ่งการเตรียมตัวและการสั่งสมประสบการณ์นี้ส่วนหนึ่งต้องอาศัยการสื่อสารในการแสวงหาความรู้และทักษะต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง งานวิจัยนี้จึงศึกษาว่าเมื่อเข้ามาทำงานเขามีช่องทางในการรับสาร คือ ข่าวสารข้อมูลต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการพัฒนาท้องถิ่น และมีช่องทางอย่างไรในการส่งข่าวสารข้อมูลเหล่านั้นไปสู่กลุ่มเป้าหมาย
จากงานวิจัยเชิงคุณภาพที่เข้าไปศึกษาและแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับผู้หญิงในการปกครองท้องถิ่นในพื้นที่ตำบลหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่ พบว่า การเข้ามามีส่วนร่วมในการปกครองท้องถิ่นของผู้หญิงบทบาทหนึ่งมักต้องเกี่ยวข้องกับการตัดสินใจที่ต้องตั้งอยู่บนความตระหนักและการรับรู้ปัญหาเฉพาะของกลุ่มผู้หญิงและกลุ่มผู้ด้อยโอกาสอื่น ๆ ซึ่งปัญหาของผู้หญิงคือการเข้ามาทำงานในพื้นที่ที่เคยเป็นของผู้ชายมายาวนานทำให้ขาดความพร้อมในการเตรียมตัวและสั่งสมประสบการณ์ แม้จะมีโอกาสการรับรู้ข้อมูลข่าวสารเรื่องราวต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับคนในชุมชนโดยเฉพาะในกลุ่มผู้หญิง เด็ก และผู้สุงอายุ จากการทำงานหลายบทบาทที่เกี่ยวข้องกับปัญหาด้านสุขภาพและสาธารณสุขอื่น ๆ รวมทั้งด้านสังคมสงเคราะห์ แต่ในบทบาทด้านการบริหารการการเมืองการปกครองท้องถิ่นนั้นผู้หญิงยังขาดความมั่นใจ อีกทั้งจากฐานคิดค่านิยมเดิมที่แม้จะยอมรับกันว่าการที่ผู้หญิงเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาสังคมเป็นสิ่งสำคัญ แต่สังคมก็ยังละเลย ไม่เปิดโอกาสให้ผู้หญิงได้แสดงศักยภาพเท่าที่ควร
ดังนั้นการเข้ามาทำงานการปกครองท้องถิ่นของผู้หญิงจึงต้องอาศัยข้อมูลข่าวสารที่หลากหลายและดีที่สุด ซึ่งการเข้าไปหนุนเสริมให้ผู้หญิงเข้าใจและใช้ประโยชน์จากบทบาทของการสื่อสาร ทั้งการรับสารคือการแสวงหาความรู้ข้อมูลต่าง ๆ และการส่งสาร คือสามารถนำข้อมูลข่าวสารและความรู้ต่าง ๆ ที่ได้รับนั้นไปส่งต่อเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับคนในสังคมชุมชนได้อย่างถูกต้อง และยังสามารถใช้บทบาทการสื่อสารนี้เพื่อการพัฒนาตนเองได้อย่างต่อเนื่อง เช่น ที่ผ่านมาบางชุมชนที่มีปัญหาว่าเวลาเรียกประชุม สมาชิกมักไม่ค่อยสนใจมาเข้าร่วมหรือมีส่วนรับรู้ในการทำงานที่เป็นเรื่องของส่วนรวม จากระบวนการวิจัยที่ได้คิดทบทวนร่วมกันพบว่า อาจเป็นเพราะว่าที่ผ่านมาสมาชิกเห็นว่าเมื่อเขาได้เลือกผู้นำไปแล้วก็ควรเป็นหน้าที่ของผู้นำไปดำเนินการเอง และตัวผู้นำเองก็อาจไม่มีการสื่อสารกับสมาชิกเท่าที่ควร หรือเป็นเพราะเรื่องที่เรียกประชุมนั้นไม่น่าสนใจ วันเวลาจัดประชุมไม่เหมาะสม และที่สำคัญเป็นเพราะการไม่เห็นว่าเรื่องของส่วนรวมนั้นเป็นเรื่องใกล้ตัวที่มีความสำคัญ
ผศ.อ้อมทิพย์ กล่าวว่า จากกระบวนการวิจัย ทำให้เห็นว่าบทบาทการสื่อสารสามารถเข้าไปเสริมผู้หญิงได้มากโดยเฉพาะการเข้าไปเสริมพลังอำนาจในกระบวนการตัดสินใจของผู้หญิงในกลุ่มผู้นำ ซึ่งจะต้องพัฒนาบทบาทการสื่อสารเชิงรุกเพื่อทำความเข้าใจกับผู้อื่น และการสื่อสารเชิงรับคือการใช้การสื่อสารเพื่อได้มาซึ่งข้อมูลประกอบการตัดสินใจ
ปัจจัยเงื่อนไขที่มีผลต่อบทบาทการสื่อสาร คือ ปัจจัยภายในหมู่บ้าน ซึ่งได้แก่ ความเป็นชุมชน ความสัมพันธ์ของผู้นำ และรูปแบบการสื่อสารในหมู่บ้าน โครงสร้างทางกายภาพของหมู่บ้านของหมู่บ้านและการมีพื้นที่สาธารณะ และปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับตัวผู้นำหญิง เช่น การมีบทบาทที่หลากหลาย การให้ความหมายในเรื่องผู้นำ ความเป็นหญิง ศักยภาพการสื่อสาร การทำงานร่วมกับผู้นำชาย และความพร้อมของครอบครัว และจากการถอดบทเรียนผู้นำหญิงบางคนช่วยให้เข้าใจในเรื่องการเป็นผู้นำหญิงชัดขึ้น โดยพบว่า องค์ประกอบสำคัญที่ทำให้เป็นผู้นำที่เข้มแข็ง ได้แก่ 1) การมีประสบการณ์การทำงานในบทบาทต่าง ๆ ในหมู่บ้านมาก่อน ทำให้มีการเรียนรู้และสั่งสมประสบการณ์ตลอดจนเป็นกระบวนการในการสร้างการยอมรับจากทั้งผู้นำและคนในชุมชน 2) มีวิธีคิดเพื่อส่วนรวม ให้ความสำคัญกับการทำงานร่วมกัน การให้เกียรติผู้อื่น มีความมุ่งมั่น และมีวิธีคิดที่เน้นการพึ่งตนเอง 3) การใช้การสื่อสารเพื่อการพัฒนาตนเองและการทำงานอยู่เสมอ
ผศ.อ้อมทิพย์ กล่าวอีกว่า แนวทางในการส่งเสริมผู้หญิงในการปกครองท้องถิ่นที่สำคัญคือ ควรจะมีการจัดแหล่งข้อมูล ที่เขาสามารถเข้าไปรับรู้และนำมาใช้ประโยชน์ได้สะดวก ไม่ต้องติดขัดกับระบบเอกสารที่มักตกค้างอยู่กับบุคคลในตำแหน่งต่าง ๆ การรวมกลุ่มกันเป็นเครือข่ายและประโยชน์จากการทำงานหลายบทบาททำให้ผู้นำหญิงได้แลกเปลี่ยนข้อมูลกันทั้งในเรื่องที่เกี่ยวกับการพัฒนาท้องถิ่นและเรื่องอื่นที่เกี่ยวกับผู้หญิง เด็กและผู้สูงอายุ ซึ่งมักเป็นปัญหาด้านสุขภาพ และสังคม เป็น
"บทบาทของการสื่อสาร"เป็นเครื่องมือหนึ่งที่สำคัญที่จะทำให้ก้าวย่างในการทำงานของผู้หญิงในการปกครองท้องถิ่นมีความมั่นใจในการทำงานมากขึ้น อันจะช่วยเติมเต็มความหวังที่จะให้ผู้หญิงในการเมืองท้องถิ่นเป็นคำตอบของการสร้างความสมดุลของการพัฒนานั้นเกิดขึ้นได้อย่างแท้จริง " ผศ.อ้อมทิพย์กล่าวในที่สุด.--จบ--
-นท-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ