นิสิตวิศวฯ จุฬาฯ คว้าแชมป์โลกการแข่งขันเขียนโปรแกรมระดับนานาชาติ IEEEXtreme ครั้งที่ 5

ข่าวทั่วไป Wednesday January 25, 2012 10:18 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--25 ม.ค.--โฟว์ดี คอมมิวนิเคชั่น IEEEXtreme เป็นการแข่งเขียนโปรแกรม 24 ชั่วโมงของ นิสิต นักศึกษาทั่วโลก จัดมาทั้งสิ้น 4 ครั้ง โดยสมาคมIEEE โดยสี่ครั้งที่ผ่านมาได้รับความสนใจและเพิ่มคนแข่งขันจนเป็นการแข่งขันเขียนโปรแกรม ที่ใหญ่ที่สุดในโลก สำหรับครั้งที่ 5 หรือ IEEEXtreme 5.0 จัดไปเมื่อวันที่ 22 ต.ค.2554 เวลาเมืองไทย 7 โมงเช้า และสิ้นสุดเมื่อเวลา 7 โมงเช้าวันอาทิตย์ที่ 23 ตุลาคม 2554) โดยมีนิสิตนักศึกษาระดับอุดมศึกษาเข้าร่วมแข่งขันถึง 1,500 ทีม หรือ มากกว่า 4,100 คน จาก 63 ประเทศทั่วโลก ซึ่งมีตัวแทนนิสิตนักศึกษาจากประเทศไทยเข้าร่วมแข่งขัน 18 ทีม จาก 4 มหาวิทยาลัย คือ เกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย การแข่งขันจะเป็นการทดสอบทักษะในการแก้ปัญหาโจทย์ ซึ่งเป็นปัญหาจริงที่พบในชีวิตประจำวัน โดยใช้ทักษะ ทางวิศวกรรมออกแบบโปรแกรม และส่งเข้าระบบตรวจแบบออนไลน์ผ่านทางอินเทอร์เน็ต โจทย์มีทั้งระดับง่าย ปานกลาง และยาก ซึ่งท้าทายความคิดสร้างสรรค์และความฉลาดของผู้เข้าแข่งขันโดยตรง แบ่งเป็นโจทย์ปัญหา 10 ข้อ ซึ่งมีผู้ส่งโปรแกรมเข้าตรวจสอบทั่วโลกมากกว่า 32,000 ครั้งตลอดการแข่งขัน และผู้ที่สามารถเขียน โปรแกรมที่ให้คำตอบถูกต้องโดยใช้เวลาน้อยที่สุด จะเป็นผู้ชนะ ผลการแข่งขันปรากฏว่า นายภัทร สุขประเสิรฐ (Pattara Sukprasert) นายฐนกร จินดานนท์ (Thanakorn Chindanonda) นายศิระ ทรงพลโรจนกุล (Sira Songpolrojjanakul) สามนิสิตชั้นปีที่ 3 และผู้ควบคุมทีม ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. พิษณุ คนองชัยยศ ตัวแทนภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สมาชิกทีม ซียูแซต (cuSAT) จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้คะแนนอันดับ 1 ของโลก นายภัทร สุขประเสิรฐ ได้แนะนำเคล็ดลับในการเพิ่มทักษะการเขียนโปรแกรมว่า “สนุกกับสิ่งที่ทำไม่ใช่เฉพาะกับการเรียนใน รายวิชาคอมพิวเตอร์หรือการเขียนโปรแกรมเท่านั้นแต่กับทุกอย่างเลย ถ้าเราสนุกกับสิ่งที่ทำเราก็จะสามารถ ทำมันได้เรื่อยๆ แล้วก็จะทำได้ดีในที่สุด เพราะสิ่งสำคัญที่จะทำให้เกิดทักษะ ที่ดีคือการฝึกฝนต่อเนื่องถ้าเรามัว แต่เอาเวลาไปทำอย่างอื่น แล้วพอถึงเวลางานก็หาตัวช่วยยังไงมันก็ไม่เกิด ทักษะที่ดี” “หลายๆคนคงได้ยินมาว่าการเขียนโปรแกรมเป็นสิ่งที่ยาก และซับซ้อนผมอยากให้เปิดใจแล้วลองให้เวลาอยู่กับ การเขียนโปรแกรมครับแล้วจะรู้ว่า มันก็คล้ายกับภาษาต่างๆที่เราใช้สื่อสารกันแต่ต่างกันตรงที่เป็นภาษา เพื่อสื่อสารให้คอมพิวเตอร์นั่นคือก็มีทั้งส่วนที่ต้องจำและเข้าใจถึงจะนำไปใช้ได้ซึ่งสิ่งๆ นี้ ต้องอาศัยเวลาในการ ฝึกฝนครับและเมื่อถึงจุดๆ นึง ก็จะเริ่มสนุกครับเพราะสามารถสั่งให้คอมพิวเตอร์ทำงานตามที่ต้องการได้ เปิดใจ ให้เวลา หมั่นฝึกฝน แล้วจะมีความสุขและสนุกกับการเขียนโปรแกรมครับ” นายฐนกร จินดานนท์ แนะนำวิธีเพิ่มพูนทักษะการเขียนโปรแกรมเพิ่มเติม และนายศิระ ทรงพลโรจนกุล กล่าวเสริมถึงการเตรียมตัวสำหรับการแข่งขันว่า “การฝึกซ้อม การทำงานเป็นทีม และการช่วยเหลือกันเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ไม่เพียงแต่ภายในทีม เราจะมีการแลกเปลี่ยนความรู้ หนังสือ ตำรา เคล็ดลับต่าง ๆ กับเพื่อน ๆ และอาจารย์อยู่เสมอ มิตรภาพสำคัญที่สุดสำหรับความสำเร็จครั้งนี้” “สำหรับความสำเร็จครั้งนี้ ถือเป็นผลสะท้อนจากความพยายาม และความสามัคคีของทั้งคณาจารย์ และนิสิตทุกคน เพราะตลอดเวลาไม่เพียงทั้งสามคนแต่นิสิตทั้งหมดกว่า 30 คนได้รับการสนับสนุน จากทุกระดับ ทั้ง สมาคม IEEE Thailand ท่านคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ คณาจารย์ และ เจ้าหน้าที่สนับสนุนทุกท่านและรวมถึงนิสิตรุ่นพี่รุ่นน้องที่ทั้งร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้แนะนำและให้กำลังใจในทุกรูปแบบเรียกได้ว่าเป็นความภูมิใจของนิสิตไทยที่เราสามารถพัฒนาศักยภาพของเราให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากลด้วยครับ” ผศ. ดร.พิษณุ กล่าวอย่างภาคภูมิ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ