กรุงเทพฯ--25 ม.ค.--ไทยสมุทรประกันชีวิต
ไทยสมุทรประกันชีวิต วางแผนปรับเปลี่ยนเครือข่ายวางเป้าใช้งานระบบ ADSL เสถียรภาพสูงในราคาที่เหมาะสม พร้อมเลือกใช้อุปกรณ์ UTM จาก Cyberoam ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานและความปลอดภัย
บริษัท ไทยสมุทรประกันชีวิต จำกัด เป็นสถาบันการเงินที่ทำหน้าที่ให้ความคุ้มครองแก่ชีวิตและสร้างความมั่นคงทางการเงินให้กับผู้ถือกรมธรรม์ และผู้รับผลประโยชน์ของผู้ถือกรมธรรม์ โดยมุ่งเน้นการดำเนินธุรกิจโดยยึดมั่นในจริยธรรม และหลักบรรษัทภิบาลอย่างเคร่งครัด มีการบริหารจัดการด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต และเป็นธรรม ภายใต้กฎเกณฑ์ของหน่วยงานราชการ ซึ่งมีการกำหนดขอบเขตความรับผิดชอบ และการควบคุมภายในของแต่ละฝ่ายงานอย่างเหมาะสม โดยมีการดำเนินธุรกิจในการให้บริการต่อลูกค้าแบบครบวงจร ทั้งในด้านกรมธรรม์ประเภทสามัญ อุตสาหกรรม, อุบัติเหตุส่วนบุคคล รวมถึงการประกันชีวิตประเภทกลุ่ม, การประกันชีวิตสำหรับข้าราชการ และสัญญาเพิ่มเติมกรมธรรม์ รวมถึงธุรกิจสินเชื่อและธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น โดยปัจจุบันบริษัทฯ มีสาขาพร้อมให้บริการแก่ลูกค้ากระจายอยู่ทั่วประเทศ 251 สาขา และมีสำนักงานเขต 12 แห่ง มีพนักงานทั้งหมด 2,000 คนอยู่ทั่วประเทศ
วางโครงสร้างระบบเครือข่าย
เชื่อมโยงการทำงาน
ด้วยจำนวนสาขาที่มีจำนวนมากมาย ทำให้บริษัทฯ วางเครือข่ายเชื่อมโยงการทำงานเข้ามาหากันที่สำนักงานใหญ่ ผ่านโครงข่ายเทคโนโลยี MPLS โดยมีการบริหารจัดการแบบศูนย์กลางผ่านระบบดาต้าเซ็นเตอร์ขนาดใหญ่ ทำให้การดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ สามารถทำงานได้อย่างราบรื่นและไม่ติดขัด ซึ่งปัจจุบันมี คุณเมืองเพชร สวัสดิ์ลาภ รองผู้อำนวยการ ฝ่ายโครงสร้างเทคโนโลยีสารสนเทศ และระบบงานกลาง พร้อมทั้งมีทีมงานเจ้าหน้าที่ไอทีช่วยกันดูแลและให้บริการระบบทั้งหมด
แม้การใช้งานเครือข่ายในลักษณะแบบ MPLS จะให้ประสิทธิภาพการทำงานที่อยู่ในเกณฑ์ที่ดีมาก แต่ทว่าเนื่องจากค่าใช้จ่ายของระบบดังกล่าว ส่งผลให้ไม่สามารถที่จะขยายแบนด์วิธได้เพิ่มขึ้น (เพราะราคาแบนด์วิธของ MPLS นั้นสูงมาก) กอปรกับเทคโนโลยีเครือข่ายแบบ ADSL ในปัจจุบันมีพัฒนาที่ดีขึ้น ทั้งเรื่องของคุณภาพของเซอร์วิส, เรื่องของความเร็วในการทำงาน, ตลอดจนราคาที่เหมาะสม ทำให้ทางผู้บริหารของไทยสมุทรประกันชีวิต วางแผนในการที่จะเปลี่ยนระบบจาก MPLS ไปสู่ ADSL เพื่อรองรับการทำงานในอนาคต
วางแผนการปรับเปลี่ยน
พร้อมเสริมอุปกรณ์ UTM ช่วยทำงาน
คุณเมืองเพชร กล่าวว่า ในช่วงที่ใช้บริการเครือข่าย MPLS อยู่นั้น ด้านผู้ให้บริการจะเป็นผู้ที่จัดเตรียมอุปกรณ์และการบริการให้กับทางบริษัทฯ ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น อุปกรณ์เราเตอร์, การคอนฟิกูเรชัน, อุปกรณ์ในการมอนิเตอร์, ระบบรักษาความปลอดภัย และอื่นๆ แต่การที่บริษัทฯ ตัดสินใจจะเปลี่ยนไปใช้เครือข่าย ADSL จึงจำเป็นที่จะต้องวางกำลังคนเพื่อมาดูแลระบบเอง และหาอุปกรณ์ที่สามารถจะตอบโจทย์ความต้องการของบริษัทฯ ได้ ซึ่งหลังจากที่มีการวิเคราะห์และสืบค้นข้อมูลอย่างละเอียด โดยใช้เวลาในการตัดสินใจทำ POC ที่ยาวนานถึง 6 เดือน และมีการเตรียมตัวทั้งในฝั่งของฝ่ายบริหารและฝ่ายไอทีร่วมกัน ซึ่งในที่สุด ไทยสมุทรประกันชีวิต จึงได้ตัดสินใจที่จะเลือกใช้อุปกรณ์ UTM (Unified threat management) มาเสริมการทำงาน
เน้นการตอบสนองความต้องการ
ขององค์กรเป็นหลัก
รองผู้อำนวยการฝ่ายฯ เล่าให้ฟังว่าการตัดสินใจเลือกผลิตภัณฑ์ของค่ายใดค่ายหนึ่งมาใช้งานได้นั้น เขาต้องมีการทำ POC อุปกรณ์ต่างๆ มากมายหลายรุ่น โดยต้องใช้เวลาขั้นต่ำอย่างน้อยหนึ่งเดือนต่อรุ่น โดยในการเฟ้นหาอุปกรณ์ที่จะมาทำงานนั้น จะต้องสามารถดำเนินงานตามความต้องการของบริษัทฯ ได้ ไม่ว่าจะเป็น การให้บริการอินเทอร์เน็ตที่ต่อเนื่อง, การทำระบบ VPN เชื่อมโยงมายังสำนักงานใหญ่, การบริหารจัดการและเก็บข้อมูลการจราจรทางคอมพิวเตอร์ (Log files) ที่รองรับกับ พรบ.คอมพิวเตอร์ปี 2550, พร้อมมีความสามารถในด้านระบบรักษาความปลอดภัย, รวมทั้งสามารถใช้งานได้อย่างง่ายดาย เป็นต้น ซึ่งก็ได้มองเห็นประสิทธิภาพของอุปกรณ์ UTM ที่เหมาะสมกับโจทย์ทั้งหมด
“ที่เราเลือกใช้อุปกรณ์ UTM ก็เพราะว่า เป็นอุปกรณ์เดียวที่สามารถตอบสนองความต้องการของเราได้พร้อมๆ กัน ถ้าเป็นอุปกรณ์รุ่นอื่นๆ เราอาจจะต้องซื้ออุปกรณ์หลายประเภท เพื่อให้ครอบคลุมกับความต้องการที่เราวางไว้ และนั่นหมายถึงค่าใช้จ่ายที่เพิ่มสูงขึ้น” คุณเมืองเพชร กล่าว
ปัจจุบันอุปกรณ์ UTM ที่ไทยสมุทรประกันชีวิตเลือกใช้ก็คือ Cyberoam ซึ่งเขาย้ำว่า แม้มันจะไม่ใช่ UTM ที่ดีที่สุดที่มีอยู่ในตลาด แต่เมื่อได้ทำการทดสอบในลักษณะ POC อย่างยาวนานก็พบว่า มันสามารถตอบโจทย์ความต้องการได้ อีกทั้งเมื่อวิเคราะห์จากจำนวนสาขาที่มีอยู่มากมาย ซึ่งแต่ละสาขาต่างๆ ก็ไม่มีเจ้าหน้าไอทีคอยดูแล จำเป็นต้องหาอุปกรณ์ที่ใช้งานง่ายและเป็นอัตโนมัติทั้งหมดในการทำงาน เพื่อลดภาระของเจ้าหน้าที่ไอทีส่วนกลางลงไป นั่นจึงเป็นเหตุผลที่เลือกใช้ผลิตภัณฑ์จาก Cyberoam ด้วย
สำหรับในเฟสแรกนั้นได้ใช้งาน ผลิตภัณฑ์รุ่น CR25i จำนวน 139 ตัวลงในแต่ละสำนักงานสาขา และยังมีอุปกรณ์ในการบริการจัดการแบบศูนย์กลาง (Centralized Management) รุ่น CCC 200 & CR1000ia ที่จะเป็นตัวควบคุมและคอยปรับเปลี่ยนค่าคอนฟิกูเรชัน, อัพเดตเฟิร์มแวร์ และกำหนดนโยบายต่างๆ ที่องค์กรต้องการไปยังอุปกรณ์ CR25i ปลายทางทั้ง 139 ตัวได้อย่างรวดเร็ว ส่วนในเฟสต่อไปหากมีการยกเลิก MPLS เสร็จสิ้น ก็จะเพิ่มอุปกรณ์เข้าไปให้ครบจำนวนสาขาที่เหลือ
เพิ่มประโยชน์สูงสุดคืนสู่องค์กร
การปรับเปลี่ยนโครงข่ายและอุปกรณ์ในครั้งนี้ของ ไทยสมุทรประกันชีวิต ก่อให้เกิดคุณประโยชน์คืนกลับมามากมาย ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของราคาค่าใช้จ่ายด้านแบนด์วิธ (จาก MPLS ไปเป็น ADSL) ที่ลดลงถึง 50 เปอร์เซ็นต์จากเดิม พร้อมกับอุปกรณ์ UTM ที่มีคุณสมบัติที่หลากหลายที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของบริษัทฯ ได้อย่างยอดเยี่ยม