กรุงเทพฯ--25 ม.ค.--คต.
นายสุรศักดิ์ เรียงเครือ รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ (คต.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยสถานการณ์ด้านการปกป้องและตอบโต้ทางการค้าของไทยทั้งในเชิงรุกและรับ ณ เดือนธันวาคม 2554 ว่าปัจจุบันประเทศไทยมีการใช้มาตรการ AD กับสินค้า 8 รายการที่นำเข้าจาก 17 ประเทศ และใช้มาตรการ SG กับการนำเข้าสินค้าบล็อกแก้วชนิดใส สำหรับมาตรการ CVD ยังไม่ได้มีการใช้กับสินค้าจากประเทศใด
โดยที่ผ่านมาประเทศไทยมีการใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (Anti-dumping measure: AD) กับสินค้า 6 รายการที่นำเข้าจาก 16 ประเทศ ในปี 2554 ประเทศไทยได้มีการใช้มาตรการ AD เพิ่มขึ้นรวม 2 สินค้าจาก 2 ประเทศ คือ สินค้าเหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดเป็นม้วนและไม่เป็นม้วนที่มีแหล่งกำเนิดจากสาธารณรัฐประชาชนจีนและมาเลเซีย และสินค้ากระเบื้องปูพื้นหรือติดผนังที่มีแหล่งกำเนิดจากสาธารณรัฐประชาชนจีน ทำให้ปัจจุบันประเทศไทยมีการใช้มาตรการ AD กับสินค้าที่นำเข้ารวม 8 สินค้าจาก 17 ประเทศ โดยเป็นการใช้มาตรการ AD กับประเทศจีนมากที่สุด นอกจากนี้ยังอยู่ในระหว่างดำเนินการทบทวนความจำเป็นในการใช้มาตรการ AD ต่อไปกับสินค้า 2 รายการคือ สินค้าเหล็กโครงสร้างหน้าตัดรูปตัว H (เหล็ก H-Beam) และสินค้ากรดซิทริก (กรดมะนาว) จากจีน และอยู่ในระหว่างการไต่สวนเพื่อกำหนดมาตราการ AD กับสินค้าที่นำเข้าอีก 5 รายการจาก 5 ประเทศ
สำหรับมาตรการปกป้องจากการนำเข้าสินค้าที่เพิ่มขึ้น (Safeguard measure: SG) ประเทศไทยได้มีการใช้มาตรการเป็นครั้งแรกในปี 2554 กับสินค้าบล็อกแก้วซึ่งมีลักษณะเป็นก้อนสี่เหลี่ยมจากทุกประเทศ ยกเว้นประเทศกำลังพัฒนา
ในส่วนของประเทศคู่ค้าที่มีการใช้มาตรการ AD มาตรการ CVD และมาตรการ SG กับสินค้าของไทย ณ เดือนธันวาคม 2554 สินค้าไทยถูกใช้มาตรการ AD รวม 54 รายการจาก 16 ประเทศ โดยประเทศที่ใช้มาตรการ AD กับสินค้าไทยมากที่สุดคืออินเดีย รองลงมาคือสหภาพยุโรปและตุรกี โดยสินค้าที่ถูกใช้มาตรการมากที่สุดคือสินค้าประเภทด้าย เส้นใยสังเคราะห์และเรซิ่น สำหรับมาตรการ CVD มี 1 รายการ คือเหล็กแผ่นรีดร้อนจากสหรัฐอเมริกา และถูกใช้มาตรการ SG สินค้า 5 รายการจาก 2 ประเทศ
รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวเพิ่มเติมว่าในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจโลก ประเทศต่าง ๆ จะมีแนวโน้มในการใช้มาตรการ AD/CVD/SG ต่อกันมากขึ้นเพื่อปกป้องเศรษฐกิจและการจ้างงานในประเทศตนเอง ผู้ประกอบการที่เป็นผู้ผลิตและ/หรือผู้นำเข้าจึงควรศึกษาและทำความเข้าใจหลักเกณฑ์และขั้นตอนในกระบวนการไต่สวนเพื่อสามารถใช้สิทธิ์ในการปกป้อง สำหรับผู้ประกอบการที่เป็นผู้ส่งออกควรมีการศึกษาและทำความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมาย AD/CVD/SG ของประเทศคู่ค้าเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อม โดยไม่ควรกำหนดราคาขายส่งออกต่ำเกินไปจนสร้างความเสียหายแก่ประเทศผู้นำเข้า หรือหากมีการส่งออกไปในปริมาณที่เพิ่มขึ้นก็ขอให้เพิ่มความระมัดระวัง เพราะอาจถูกประเทศคู่ค้าเปิดการไต่สวนได้ นอกจากนี้ผู้ผลิตและ/หรือผู้ส่งออกไทยควรให้ความร่วมมือในกระบวนการไต่สวน เช่น การตอบแบบสอบถาม การให้ข้อมูล เป็นต้น ซึ่งถือเป็นการใช้สิทธิ์เพื่อปกป้องตนเอง
ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจสามารถตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับมาตรการ AD/CVD/SG ได้ที่เว็ปไซด์กรมการค้าต่างประเทศ www.dft.go.th