รองผู้ว่าฯแม่กลองเร่งแก้ปัญหาน้ำชุมชนแพรกหนามแดงผลักดันใช้ประตูระบายน้ำชาวบ้านแทนของกรมชลประทาน

ข่าวทั่วไป Tuesday March 16, 2004 08:03 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--16 มี.ค.--สกว.
รองผู้ว่าฯ สมุทรสงคราม พอใจแบบประตูระบายน้ำของชาวบ้านแพรกหนามแดง รับประสานให้กรมชลฯ เปลี่ยนประตูน้ำอีก 8 คลองที่เหลือ พร้อมทั้งผลักดันให้มีนำแบบไปใช้เพื่อแก้ปัญหาให้กับชาวบ้านทั้งจังหวัด
นายชิษณุวัฒน์ มณีศรีขำ ผู้ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆนี้นายประภาส บุญยินดี รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสงคราม ได้ลงพื้นที่ได้ลงพื้นที่หารือเรื่องการจัดการน้ำชุมชนแพรกหนามแดง ร่วมกับคณะทำงานระดับจังหวัดทั้งภาครัฐ เอกชน องค์กรท้องถิ่น และทีมวิจัยชุมชนแพรกหนามแดง ณ ศูนย์เรียนรู้งานวิจัยเพื่อท้องถิ่นและกลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์ผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ต.แพรกหนามแดง อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม
ทั้งนี้สืบเนื่องมาจากการประชุมคณะกรรมาธิการเพื่อพัฒนาเกษตรและสหกรณ์จังหวัดสมุทรสงคราม เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาสำนักงานชลประทานจังหวัด ได้เสนอแผนการดำเนินงานในส่วนของการจัดสร้างประตูระบายน้ำเพื่อป้องกันน้ำเค็มในคลองแพรกหนามแดง ตามแบบของกรมชลประทานแบบเดิม ในวงเงินงบประมาณ 9.8 ล้านบาท แต่ที่ประชุมจึงมีมติให้ทางสำนักงานชลประทานจังหวัดสร้างประตูระบายน้ำโดยใช้แบบประตูจากผลการวิจัยของชาวบ้านแพรกหนามแดง และเพื่อการดำเนินการในเรื่องนี้ให้เกิดความชัดเจน รองผู้ว่าราชการจังหวัด จึงได้ลงพื้นที่เพื่อรับฟังรายงานจากทีมวิจัยชาวบ้าน พร้อมทั้งร่วมหารือกับหน่วยงาน องค์กรที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม
จากการประชุมหารือครั้งนี้ นายปัญหา โตกทอง หัวหน้าโครงการวิจัย "รูปแบบการจัดการน้ำในคลองตำบลแพรกหนามแดง" และคณะได้นำเสนอข้อมูลข้อมูลจากการวิจัยว่า รูปแบบประตูระบายน้ำของกรมชลประทานแบบเดิม เป็นบานเหล็กทึบปิดตาย ทำให้น้ำทางฝั่งน้ำจืดท่วมขัง เกิดตะกอน แก๊สพิษ เน่าเสีย เมื่อมีการเปิดประตูระบายน้ำ ตะกอนพิษ และน้ำเน่าเสียจะทะลักออกมา ทำให้กุ้ง และปลาของคนฝั่งน้ำเค็มตาย ทำให้ชาวบ้านทั้งสองฝั่งทะเลาะขัดแย้งกันมาโดยตลอด แม้ว่าหน่วยงานภาครัฐจะพยายามเข้ามาแก้ไขปัญหา ด้วยการจัดตั้งคณะกรรมการ และกำหนดช่วงเวลาในการปิด-เปิด ประตู แต่ก็ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ เพราะเมื่อใดก็ตามที่น้ำเหนือมามากจะท่วมนาข้าว บ่อปลา หรือ ฟาร์มหมู ปล่อยของเสีย ชาวบ้านฝั่งน้ำจืดก็จะมาเปิดประตูเพื่อระบายน้ำออก
ในการทำวิจัยครั้งนี้จึงได้มีการเสนอรูปแบบประตูใหม่ตามภูมิปัญญาของคนเลี้ยงกุ้ง คือ ประตูด้านล่างเป็นบานทึบ ส่วนด้านบนให้เป็นบานสวิง เปิดได้เพียงด้านเดียว โดยบานประตูจะเปิดออกเมื่อปริมาณน้ำจืดสูงเกินระดับที่ชาวบ้านต้องการ แต่เมื่อน้ำทะเลขึ้นระดับสูงกว่าน้ำจืดบานประตูจะปิดลงโดยอัตโนมัติ ประตูระบายน้ำแบบใหม่นี้ จะทำให้น้ำได้ไหลเวียนไม่เน่าเสีย อีกทั้งน้ำจืดที่ระบายออกไปจากผิวบนไม่มีตะกอนปะปน ทำให้คนฝั่งน้ำเค็ม ได้น้ำจืดไปผสมกับน้ำเค็ม เป็นน้ำกร่อย ซึ่งจะทำให้กุ้งเติบโตดี โดยรูปแบบประตูของชาวบ้าน ได้รับความเห็นชอบจากทางจังหวัด และทางกรมชลประทานอนุญาติให้ทำการทดลองติดตั้ง 2 แห่ง ในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ขณะนี้กำลังอยู่ในช่วงประเมินผล
อย่างไรก็ตามจากการร่วมหารือในครั้งนี้ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสงคราม ได้กล่าวถึง แนวทางการจัดการน้ำของชุมชนแพรกหนามแดงว่า เป็นแนวทางในการสอดคล้องกับ จากการร่วมหารือดังกล่าว โดยรองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสงครามยอมรับว่าการดำเนินโครงการเกี่ยวกับการจัดการน้ำของชุมชนแพรกหนามแดง มีความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของจังหวัดสมุทรสงคราม ซึ่งมุ่งพัฒนาไปสู่ การเป็นเมืองแห่งอาหารทะเล และผลไม้ปลอดสารเคมี เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ทางลำคลองระดับชาติ และเป็นดินแดนของคนรักถิ่นเกิด พร้อมทั้งได้กำหนดแนวทางในการแก้ไขปัญหาการจัดการน้ำของชุมชนแพรกหนามแดงไว้ ดังนี้
การแก้ไขปัญหาในระยะสั้น ให้ชุมชนจัดลำดับความสำคัญในการแก้ไขประตูระบายน้ำของชุมชนที่เหลือที่เหลือทั้งหมด 8 คลอง โดยวัดความกว้างของคลอง และวัดระดับน้ำที่ชาวนาและชาวบ้านฝั่งน้ำจืดต้องการ และให้ทีมวิจัยชาวบ้านรวบรวมข้อมูลผลจากการทดลองประตูระบายน้ำ รวมทั้งกลไกการทำงานของประตูแบบใหม่ เพื่อนำข้อมูลดังกล่าวไปพัฒนารูปแบบให้สมบูรณ์ยิ่ง โดยรองผู้ว่าฯ รับจะดำเนินการประสานช่างโยธา มาช่วยออกแบบประตูตามแนวความคิดของชุมชน เมื่อได้แบบประตูที่สมบูรณ์แล้วจะนำแบบประตูเพื่อประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ดำเนินการอย่างเร่งด่วน สำหรับการจัดการของเสียจากฟาร์มหมูในเขต อ.ปากท่อ จ.ราชบุรี จะมีการประสานงานไปยังหน่วยงานที่เกียวข้องกับการจัดการของเสียในเขตจังหวัดราชบุรี เพื่อหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาร่วมกันต่อไป
ส่วนแนวทางการแก้ไขปัญหาในระยะยาวนั้น เห็นควรให้สำนักงานชลประทานจังหวัดดำเนินการแก้ไขประตูระบายน้ำให้สอดคล้องกับแนวความคิดของชุมชนอย่างต่อเนื่อง ไม่เฉพาะพื้นที่ตำบลแพรกหนามแดงเท่านั้น แต่ให้คลอบคลุมทั้งจังหวัดสมุทรสงคราม ซึ่งประสบปัญหาเดียวกัน โดยที่ประชุมยังได้เสนอให้มีเวทีพูดคุยระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการจัดการน้ำของงจังหวัดสมุทรสงคราม โดยแยกเป็นชาวบ้านฝั่งตะวันออก และตะวันตกของแม่น้ำแม่กลอง เพื่อพูดคุยระดมความคิดเห็นเกี่ยวกับการจัดการน้ำจากอดีต - ปัจจุบัน และนำมารวมเป็นภาพรวมของจังหวัดสมุทรสงครามเพื่อประสานอธิบดีกรมชลประทานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมารับฟังข้อเสนอของประชาชนในพื้นที่ โดยในการจัดเวทีดังกล่าว รองผู้ว่า ฯ ได้รับในการเป็นเจ้าภาพประสานงานชุมชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมดังกล่าวต่อไป.
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ประชาสัมพันธ์ สกว.--จบ--
-นท-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ