กรุงเทพฯ--26 ม.ค.--กรุงเทพธุรกิจ มีเดีย
ตามที่ทีมข่าวจุดประกายได้รับรางวัลข่าวและสารคดีเชิงข่าวประเภทสื่อหนังสือพิมพ์ 3 รางวัล ได้แก่ รางวัลยอดเยี่ยม จากผลงานข่าวเรื่อง "โลกมืดหลังเลนส์ อะไรก็เป็นไปได้" โดย “นิภาพร ทับหุ่น” รางวัลชมเชย 2 รางวัล จากผลงานข่าวเรื่อง "สิทธิเยาวชน คน (สกุล) ไม่ดัง" โดย “ปานใจ ปิ่นจินดา” และผลงานเรื่อง "ไม้เรียว รีเทิร์น" โดย “ชุติมา ซุ้นเจริญ” ซึ่งรับโล่รางวัลจากนายอานันท์ ปันยารชุน เมื่อ 24 มกราคมที่ผ่านมา นั้น
“คุณนิ-นิภาพร ทับหุ่น” เปิดเผยถึงแรงบันดาลใจในการนำเสนอข่าว “โลกมืดหลังเลนส์ อะไรก็เป็นไปได้” จนได้รับรางวัลผลงานยอดเยี่ยมว่า สารคดีเรื่องนี้ต้องการสะท้อนให้สังคมได้ตระหนักถึงโอกาสที่มนุษย์ทุกคนพึงมีอย่างเท่าเทียมกัน แม้บางกลุ่มจะได้ชื่อว่าเป็นคนด้อยโอกาส แต่คำว่า “ด้อย” ก็ไม่ได้หมายความว่า “ขาด” เสมอไป และการที่อาสาสมัครกลุ่มหนึ่งได้พยายามหยิบยื่นโอกาสให้กับเด็กๆ ผู้พิการทางสายตา เพื่อให้พวกเขา “เข้าถึงโอกาส” ก็เป็นเรื่องที่น่ายกย่อง เพราะพวกเขาสามารถทำให้เด็กๆ ผู้พิการสายตาเหล่านั้นมองเห็นโลกกว้างได้โดยใช้หัวใจเป็นสื่อ
ด้าน “คุณปราง-ปานใจ ปิ่นจินดา” กับผลงานข่าวเรื่อง "สิทธิเยาวชน คน (สกุล) ไม่ดัง"กล่าวถึงความตั้งใจในการนำเสนอข่าวที่มาจากอุบัติเหตุรถตู้โดยสารพลิกคว่ำบนทางด่วนซึ่งคร่าชีวิตบริสุทธิ์นับ 10 ว่า จากสถานการณ์ที่ได้รับความสนใจจากสังคมดังกล่าวสะท้อนแง่มุมของสิทธิพิเศษของเยาวชนไทยได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะสถานะทางสังคมของผู้ผิดซึ่งเป็นเด็กสาวตระกูลดัง “สิทธิ” ที่เด็กคนนี้ได้รับเรียกว่ามากเกินกว่าที่ “เยาวชนคนหนึ่ง” ควรจะได้รับหรือไม่
“คุณเอ๋-ชุติมา ซุ้นเจริญ” เจ้าของผลงานเรื่อง "ไม้เรียว รีเทิร์น" กล่าวถึงเรื่องราวในเนื้อข่าวที่นำเสนอว่า บทความชิ้นนี้ได้รวบรวมความเห็นที่แตกต่างของบุคคลที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น ครู นักวิชาการ หรือนักจิตวิทยา เพื่อสะท้อนสภาพปัญหาที่แท้จริงว่า ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในสถานศึกษานั้น “ไม้เรียว” คือตัวการจริงหรือไม่ หรือมีบริบทอื่นใดที่ต้องให้ความสำคัญร่วมด้วย ซึ่งแม้ว่าผลลัพธ์ของการใช้ไม้เรียวจะขึ้นอยู่กับทัศนคติของผู้ใช้ และกติการในการใช้ แต่ “ไม้เรียว” ก็ยังถือเป็นสัญลักษณ์ของความรุนแรง และความสัมพันธ์เชิงอำนาจ ซึ่งจำเป็นต้องควบคุมเพื่อปกป้องเด็กจากการถูกลงโทษด้วยวิธีการที่รุนแรง
ทางด้านนายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นประธานในพิธีมอบรางวัล กล่าวว่า หลายข่าวช่วยจุดประเด็นการส่งเสริมสิทธิเด็กเพื่อแก้ปัญหาละเมิดสิทธิเด็ก การมอบรางวัลดังกล่าวถือเป็นการขยายความตระหนักรู้ เพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องกับปัญหาเยาวชนได้ตระหนักถึงปัญหาการละเมิดสิทธิเด็กที่ยังคงมีให้เห็นโดยทั่วไป และเพื่อรณรงค์ให้มีการนำเสนอข่าวในเชิงสร้างสรรค์มากยิ่งขึ้น โดยเชื่อว่าถ้าสังคมคำนึงถึงเรื่องนี้จะทำให้การเสนอข่าวของสื่อมวลชนมีความถูกต้องเที่ยงตรง และลดปัญหาการละเมิดสิทธิเยาวชนให้น้อยลง
อนึ่ง รางวัลนี้เกิดจากความตั้งใจของสถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทยร่วมกับสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย โดยมีองค์การยูนิเซฟประเทศไทยให้การสนับสนุนเป็นปีที่ 6 เพื่อยกย่องผลงานข่าวและสารคดีเชิงข่าวส่งเสริมสิทธิเด็ก ทั้งในประเภทหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ รวมทั้งหนังสือพิมพ์ฝึกปฏิบัติส่งเสริมสิทธิเด็กในโรงเรียน
ปีนี้ มีผลงานเข้าส่งประกวดทั้งหมดดังนี้ 1.ประเภทสื่อหนังสือพิมพ์ มีผู้ส่งผลงานเข้าประกวด 18 เรื่อง จากหนังสือพิมพ์ 4 ฉบับ 2.ประเภทสื่อวิทยุกระจายเสียง มีผู้ส่งผลงานเข้าประกวด 3 เรื่อง จากสถานีวิทยุ 4 ฉบับ 3.ประเภทโทรทัศน์ มีผู้ส่งผลงานเข้าประกวด 16 เรื่อง จากสถานีโทรทัศน์ 7 สถานี 4.ประเภทหนังสือพิมพ์ฝึกปฏิบัติในสถาบันอุดมศึกษา มีผู้ส่งผลงานเข้าประกวด 11 เรื่อง จากสถาบันการศึกษา 6 สถาบัน 5.ประเภทหนังสือพิมพ์ฝึกปฏิบัติในโรงเรียน มีผู้ส่งผลงานเข้าประกวดจาก 16 โรงเรียน 6.สารคดีเชิงข่าวส่งเสริมสิทธิเด็กในภาวะวิกฤติน้ำท่วม ปี 2554 ประเภทสื่อโทรทัศน์ 11 เรื่อง จาก 8 สถานี