กรุงเทพฯ--27 ม.ค.--คต.
กรมการค้าต่างประเทศ (คต.) เดินสายจัดสัมมนาเพื่อเตรียมความพร้อมให้ผู้ประกอบการและผู้สนใจทั้งใน จ.ตรังและจังหวัดใกล้เคียง ซึ่งอยู่ในพื้นที่กรอบสามเหลี่ยมเศรษฐกิจ อินโดนีเซีย มาเลเซียและไทย (IMT-GT) ได้รับทราบข้อมูลการค้าและการลงทุนในประเทศอินเดีย พร้อมแนะให้เห็นโอกาสจากความตกลงไทย-อินเดีย เพื่อเปิดทางเข้าสู่ตลาดอินเดีย เนื่องจากจังหวัดภาคใต้มีผลผลิตจากยางพาราซึ่งเป็นสินค้าในความต้องการ ของอินเดีย
นางสาวผ่องพรรณ เจียรวิริยะพันธ์ รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า ปัจจุบันอินเดียเป็นตลาดที่มีศักยภาพสูง เนื่องจากเป็นประเทศที่มีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ก่อให้เกิดการไหลเข้าของทุนต่างประเทศกว่า ๓๔.๖ พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือมากเป็นอันดับ ๙ ของโลกในช่วง ๓ ปีที่ผ่านมา สำหรับการค้าระหว่างไทย-อินเดีย ในช่วงปีที่ผ่านมานั้น มีการขยายตัวเพิ่มมากขึ้นร้อยละ ๒๕.๖๙ คิดเป็นมูลค่ารวม ๖,๘๖๑ พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ การส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ ๑๙.๙๕ โดยมีสินค้าส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ เคมีภัณฑ์ อุปกรณ์และส่วนประกอบรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบเครื่องคอมพิวเตอร์ ยางพารา อัญมณีและผลิตภัณฑ์เหล็กกล้า เป็นต้น และในปัจจุบันอินเดียยังมีการขยายตัวอย่างมากของภาคการผลิต โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์และอุตสาหกรรมไฮเทคในประเทศ จึงทำให้อินเดียมีความต้องการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น จึงเป็นโอกาสดีของสินค้าไทยที่จะเข้าไปแสวงหาโอกาสทางการค้าในอินเดีย ประกอบกับอินเดียมีการคมนาคมขนส่งทางทะเล เชื่อมต่อกับทางภาคใต้ของไทย ซึ่งจะทำให้การขนส่งมีความสะดวกมากขึ้น
กรมการค้าต่างประเทศ ได้กำหนดจัดการสัมมนาในหัวข้อ “เจาะตลาดใหม่ ก้าวไกลแดนภารตะ” ในวันพฤหัสบดีที่ ๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๕ ณ โรงแรมเรือรัษฎา อำเภอเมือง จังหวัดตรัง การสัมมนาครั้งนี้ได้เชิญวิทยากรที่เป็นตัวแทนจากภาครัฐและเอกชนซึ่งมีความเชี่ยวชาญตลาดอินเดียมาให้ข้อมูลแนวทางการส่งเสริมผู้ประกอบการไทยไปเปิดตลาดอินเดีย การเจาะลึกโอกาสของธุรกิจไทยในตลาดอินเดีย โอกาสของนักธุรกิจไทยในประเทศอินเดีย รวมทั้งสิทธิประโยชน์จากข้อตกลงภายใต้ FTA ไทย-อินเดีย และ อาเซียน — อินเดีย เพื่อให้ผู้เข้าร่วมสัมมนาได้ใช้ประกอบการการตัดสินใจในการขยายตลาดไปยังประเทศอินเดียในอนาคต
ทั้งนี้ ผู้ประสงค์จะเข้าร่วมการสัมมนาสามารถ Download กำหนดการสัมมนาพร้อมแบบตอบรับเข้าร่วมสัมมนา ได้ที่ http://www.dft.go.th และจัดส่งมาทางโทรสารหมายเลข ๐๒ ๕๔๗๔๗๒๘ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ติดต่อและสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สำนักความร่วมมือการค้าและการลงทุน โทรศัพท์หมายเลข ๐๒ ๕๔๗๔๗๓๒ หรือ ๐๒ ๕๔๗ ๔๗๗๑-๘๖ ต่อ ๔๖๕๔