ซีบี ริชาร์ด เอลลิส ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับธุรกิจค้าปลีกในกรุงเทพฯขยายตัวมากขึ้นและปรับตัวดีขึ้น

ข่าวทั่วไป Wednesday March 17, 2004 12:40 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--17 มี.ค.--ซีบี ริชาร์ด เอลลิส (ประเทศไทย)
บริษัท ซีบี ริชาร์ด เอลลิส (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาด้านธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำ ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับธุรกิจค้าปลีกในเขตกรุงเทพมหานครว่า มีความแข็งแกร่งและเติบโตมากขึ้น
จากภาวะวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540 ได้ทำให้มีการอธิบายถึงภาวะที่เกิดขึ้นในธุรกิจค้าปลีกว่า ศูนย์การค้าหรือผู้ประกอบการที่มีศักยภาคไม่เพียงพอ จะไม่สามารถแข่งขันในตลาดได้ เป็นผลให้ศูนย์การค้าบางแห่งเกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งในด้านรูปแบบ และการดำเนินงาน โดยผู้ประกอบการรายใหม่ที่ความแข็งแกร่งกว่า
ท่ามกลางการแข่งขันของธุรกิจค้าปลีก กลุ่มเซ็นทรัลพัฒนาและเดอะมอลล์ ยังคงเป็นเป็นเจ้าตลาดในการพัฒนาศูนย์การค้า ปัจจัยที่ทำให้ทั้งสองกลุ่มนี้ยืนหยัดอยู่ตลอดเวลาคือ การวางแผนการตลาดที่ดีอย่างต่อเนื่อง ผนวกกับประสบการณ์อันยาวนานในฐานะผู้พัฒนาศูนย์การค้า
นางสาวเอมี่ โรดิล ผู้อำนวยการและหัวหน้าฝ่ายวิจัยและพัฒนาของบริษัท ซีบี ริชาร์ด เอลลิส (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ปัจจุบัน ศูนย์การค้าระดับเกรดเอมีอัตราการเข้าใช้พื้นที่เต็ม หรือเกือบเต็ม โดยอัตราเฉลี่ยอยู่ที่ 98% ในช่วงต้นปี 2547 ด้วยจำนวนพื้นที่ที่มีอยู่จำกัด ประกอบกับความต้องการใช้พื้นที่ที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้ราคาค่าเช่าพื้นที่ในศูนย์การค้าปรับตัวสูงขึ้นประมาณ 5 % เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปีที่แล้ว
ศูนย์การค้าระดับเกรดเอ หมายถึง ศูนย์การค้าที่มีลูกค้าจำนวนมาก (High Customer Traffic) มีผู้เช่าเต็มตามเป้าหมาย รูปแบบศูนย์การค้าที่ครอบคลุมความต้องการของตลาด มีการจัดใช้พื้นที่ที่เหมาะสม และ มีการบริหารจัดการที่ดี
เจ้าของกิจการล้วนต้องการที่จะตั้งร้านค้าในศูนย์การค้าที่ดีที่สุด ซึ่งเป็นแหล่งที่สามารถดึงดูดใจลูกค้าจำนวนมากให้เดินทางมาจับจ่ายใช้สอย "เนื่องจากปริมาณพื้นที่ว่างในศูนย์การค้าระดับเกรดเอมีจำกัด จึงทำให้ศูนย์การค้าหลายแห่งดำเนินการปรับปรุงเพื่อรองรับความต้องการของตลาด และ ยกระดับให้เป็นศูนย์การค้าเกรดเอ พื้นที่ที่อยู่ในระหว่างการปรับปรุงพื้นที่ประมาณ 110,000 ตารางเมตร (Net Lettable Area) โดยไม่รวมพื้นที่อีกประมาณ 300,000 ตารางเมตร (Net Lettable Area) จากศูนย์การค้าใหม่ที่กำลังเกิดขึ้นในย่านใจกลางเมืองของกรุงเทพมหานครภายในระยะเวลา 2 ปี" นางสาวเอมี่กล่าว
ขณะนี้ ศูนย์การค้าเอราวัณ แบงคอก (Erawan Bangkok) แต่เดิมคือ เอราวัณ โซโก้ ในย่านราชประสงค์ อยู่ในระหว่างการปรับปรุงพื้นที่ เพื่อที่จะเปิดศูนย์ในเดือนกันยายน 2547 รูปแบบของ เอราวัณ แบงคอกเป็นศูนย์รวมแฟชั่น โครงการนี้ได้รับความสนใจจากเจ้าของกิจการทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทำให้การจองเช่าพื้นที่เป็นไปตามที่ตั้งไว้ ซิลลิค เฮ้าส์ (Zuellig House) ซึ่งเป็นอาคารสำนักงานที่จัดพื้นที่บริเวณชั้นล่างให้เป็นพื้นที่สำหรับร้านค้า กำลังดำเนินการปรับปรุงใหม่ทั้งหมด และเปิดให้จองพื้นที่บริเวณดังกล่าวแล้ว ก่อนที่จะมีการเปิดตัวอีกครั้งในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ อาคารซิลลิค เฮ้าส์ตั้งอยู่เลขที่ 1 บนถนนสีลม ซึ่งอยู่ระหว่างสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสกับสถานีรถไฟใต้ดิน
ในขณะเดียวกันเซ็นทรัลพัฒนา กำลังดำเนินการปรับปรุงโครงการศูนย์การค้าขนาดใหญ่คือ เซ็นทรัลเวิร์ล พลาซ่า การปรับปรุงในครั้งนี้จะทำให้มีพื้นที่ร้านค้าเพิ่มขึ้นจากเดิม ศูนย์การค้าแห่งนี้ได้รับความสนใจเป็นอย่างมากจากเจ้าของกิจการต่าง ๆ ในการจับจองพื้นที่
ศูนย์การค้าแห่งใหม่ขนาดใหญ่ที่อยู่ในระหว่างการก่อสร้าง เป็นการร่วมมือกันในทางธุรกิจระหว่างกลุ่มเดอะมอลล์ร่วม และ บริษัท สยามภิวัฒน์ จำกัดซึ่งเป็นเจ้าของศูนย์การค้าสยามดิสคัฟเวอร์รี่และสยามเซ็นเตอร์ ทั้งสองกลุ่มนี้ทำการพัฒนาโครงการศูนย์การค้า สยามพารากอน บนถนนพระราม 1 ปัจจุบัน 90%ของพื้นที่ที่ปล่อยเช่าในสยามพารากอนซึ่งมีรวม 200,000 ตารางเมตรได้ถูกจับจองไว้เรียบร้อยแล้ว ส่วนอีก 10% ที่เหลือได้สำรองไว้สำหรับสินค้ายี่ห้อใหม่ ๆ และ ผู้ประกอบการรายใหม่จากต่างประเทศที่กำลังจะเข้ามาในประเทศไทย
ผู้พัฒนาโครงการศูนย์การค้าที่มีความเข้าใจในธุรกิจค้าปลีก และ มีการวางแผนการตลาดที่ดี จะทำใหัศูนย์การค้านั้นประสบความสำเร็จ จะทำให้พื้นที่ในศูนย์การค้านั้นเป็นที่ต้องการ อัตราค่าเช่าจะอยู่ในระดับสูง และ โอกาสในการนำพื้นที่ออกให้เช่ามีมากขึ้น พร้อมโอกาสในการเลือกผู้เช่าที่ดีด้วยเช่นกัน
นางอัจฉราวรรณ วจนานนท์ ผู้อำนวยการและหัวหน้าธุรกิจค้าปลีกของบริษัท ซีบี ริชาร์ด เอลลิส (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า "ศูนย์การค้าที่กำลังจะเกิดขึ้นใหม่และศูนย์การค้าที่กำลังดำเนินการปรับปรุงอยู่ในขณะนี้ จะทำให้บริเวณถนนพระราม 1 จนถึงถนนสุขุมวิท กลายเป็นแหล่งช้อปปิ้งของกรุงเทพมหานคร ส่วนศูนย์การค้าอื่น ๆ ที่ตั้งอยู่ตามแนวรถไฟฟ้าบีทีเอส ซึ่งรวมถึงมาบุญครองเซ็นเตอร์ เกษรพลาซ่า อัมรินทร์พลาซ่า เซ็นทรัลชิดลม เพลินจิตทาวเวอร์ และดิ เอ็มโพเรียม จะมีส่วนช่วยให้บริเวณนี้เป็นศูนย์กลางของช้อปปิ้งที่สำคัญของกรุงเทพ ฯ เพื่อรองรับทั้งคนไทยและนักท่องเที่ยว"
ในส่วนของกำลังซื้อของผู้บริโภคก็ได้ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น ทั้งนี้เกิดจากภาวะเศรษฐกิจที่ดีขึ้นและรายได้ที่เพิ่มมากขึ้น ส่วนตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ หรือ จีดีพี โดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้นอีก 6.3% ในปี 2546 และภาพรวมสำหรับปี 2547 จะยังคงดีอยู่อย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจจะอยู่ที่ประมาณ 7% - 8% ภาวะการเติบโตทางเศรษฐกิจดังกล่าว อาจกล่าวได้ว่าเป็นผลมาจากอัตราดอกเบี้ยภายในประเทศที่อยู่ในระดับต่ำ การบริโภคจากภาคเอกชนที่เพิ่มมากขึ้น และการส่งออกที่เพิ่มสูงขึ้น
เช่นเดียวกัน ตัวเลขการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวโดยรวมได้เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งเกิดจากจำนวนนักลงทุนต่างชาติที่เพิ่มมากขึ้นและความพยายามจากภาครัฐในการส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของแฟชั่นและการออกแบบของภูมิภาคเอเชีย จากตัวเลขในปีที่แล้ว มีชาวต่างชาติเดินทางเข้ามาในประเทศไทยมากถึง 9.7 ล้านคน ซึ่งประมาณ 90% ของจำนวนดังกล่าวเป็นการเดินทางมายังกรุงเทพมหานคร นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติส่วนใหญ่ หรือ 57% มาจากประเทศในแถบเอเชียตะวันออก ซึ่งได้แก่ ญี่ปุ่น จีน ไต้หวัน และเกาหลีใต้ นักท่องเที่ยวเหล่านี้เดินทางมาประเทศไทยเพื่อการช้อปปิ้งเป็นหลัก
นางอัจฉราวรรณ กล่าวเพิ่มเติมว่า "แม้ปริมาณพื้นที่ศูนย์การค้าจะมีเพิ่มขึ้นในตลาด แต่ความต้องการที่มีอยู่มากก็จะทำให้เกิดการจับจองพื้นที่เหล่านี้จนเต็ม เพราะตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา พื้นที่ว่างในศูนย์การค้าที่ดีที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่ในศูนย์การค้าที่ตั้งอยู่ในย่านใจกลางเมือง (ซีบีดี) มีอยู่น้อยมาก เจ้าของกิจการรายใหม่ยังเข้ามาดำเนินกิจการในกรุงเทพ ฯ อย่างต่อเนื่อง อาทิ บริษัท โอเชียนีส (Oceanis) จากประเทศออสเตรเลีย จะเปิด สยาม โอเชี่ยน เวิร์ล ที่สยามพารากอน ซึ่งเป็นอควาเรี่ยมใจกลางเมือง คอร์ทิน่า (Cortina) ผู้จำหน่ายนาฬิกายี่ห้อหรูจากประเทศสิงคโปร์ จะเปิดร้านที่เอราวัณ แบงคอก และบริษัทบี กริม แอนด์ โก (B. Grimm & Co.) ผู้นำเข้าเสื้อผ้ายี่ห้อเบอร์เบอร์รี่ (Burberry) เสื้อผ้าแฟชั่นยี่ห้อดังจากประเทศอังกฤษ ซึ่งเปิดตัวครั้งแรกที่เซ็นทรัลชิดลม และจะขยายเพิ่มเติมโดยการเปิดร้านเต็มรูปแบบที่เอราวัณ แบงคอก"
คลื่นลูกใหม่ของการเกิดศูนย์การค้ามิได้กระจุกตัวอยู่แต่ย่านในเมืองเท่านั้น เนื่องจากผู้บริโภคเอง รวมทั้งเจ้าของโครงการและเจ้าของกิจการต่าง ๆ มีความซับซ้อนมากขึ้น จึงทำให้ศูนย์การค้ารูปแบบอื่น ๆ เติบโตตามไปด้วย
คอมมิวนิตี้ เซ็นเตอร์ได้เติบโตขึ้นอย่างมากในย่านที่อยู่อาศัยที่หนาแน่นของกรุงเทพมหานคร โดยปกติ คอมมิวนิตี้ เซ็นเตอร์เหล่านี้จะมีผู้เช่าหลักเป็น ซุปเปอร์มาร์เก็ต ร้านอาหาร ร้านที่ให้บริการด้านต่าง ๆ และร้านค้าปลีกอื่น ๆ
เจ้าของโครงการลักษณะคอมมิวนิตี้ เซ็นเตอร์ ที่ใหญ่ที่สุดในตลาด คือ สยาม ฟิวเจอร์ ดีเวลลอปเมนท์ (เอสเอฟ) ซึ่งเปิดให้บริการ 6 สาขาในเขตกรุงเทพมหานคร เจ้าของโครงการวางแผนที่จะขยายเพิ่มเติม เปิดอีก 3 สาขาใหม่ ซึ่งเป็นผลมาจากการประสบความสำเร็จในโครงการเอสเอฟ ทองหล่อ ซึ่งอยู่ในย่านที่พักอาศัยที่สำคัญแห่งหนึ่งของย่านใจกลางเมือง จากการที่เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์เข้าถือหุ้น 25% ของบริษัทสยาม ฟิวเจอร์ ดีเวลลอปเมนท์ ทำให้บริษัทดังกล่าวมีความแข็งแกร่งมากขึ้นในตลาดคอมมิวนิตี้ เซ็นเตอร์
ในแต่ละประเทศ ธุรกิจค้าปลีกจะมีลักษณะเฉพาะตัว โดยเกิดจากสภาวะแวดล้อมที่พัฒนาไปอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีรสนิยมและการเปลี่ยนแปลงด้านรูปแบบการใช้ชีวิตของผู้บริโภคเป็นตัวขับเคลื่อนที่สำคัญ สำหรับกรุงเทพมหานครเอง ธุรกิจค้าปลีก และ ผู้พัฒนาโครงการศูนย์การค้ายังคงมีการปรับตัวอยู่อย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับความต้องการของผู้บริโภค และ ความต้องเช่าพื้นที่ของร้านค้าต่าง ๆที่เพิ่มมากขึ้น ด้วยปัจจัยของความต้องการดังกล่าวนี้ เป็นโอกาสดีให้กับผู้บริโภคที่จะได้สัมผัสกับศูนย์การค้าที่มีคุณภาพ และ ยังเป็นการเปิดโอกาสให้กับผู้พัฒนาโครงการศูนย์การค้ารายใหม่อีกด้วยเช่นกัน
ติดต่อข้อมูลเพิ่มเติ่ม:
คุณ อัจฉราวรรณ วจนานนท์ผู้อำนวยการ
- หัวหน้าฝ่ายธุรกิจค้าปลีก02 654 1111 ต่อ 401 มิส เอมี่ โรดิลผู้อำนวยการ
- หัวหน้าฝ่ายวิจัยและพัฒนา02 654 1111 ต่อ 602 คุณ งามใจ เจียรจรัส ผู้ช่วยฝ่ายประชาสัมพันธ์02 654 1111 ต่อ 223ธุรกิจค้าปลีกในกรุงเทพฯขยายตัวมากขึ้นและปรับตัวดีขึ้น--จบ--
-นท-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ