กรุงเทพฯ--30 ม.ค.--
การประชุมนานาชาติรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2012
“ก้าวสู่หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า: เร่งพัฒนาระบบการเงินสุขภาพ”
(Moving towards Universal Health Coverage: Health Financing Matters)
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯเปิดการประชุมนานาชาติรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล เวทีแลกเปลี่ยนความคิดด้านสุขภาพ ร่วมกับผู้เข้าประชุมกว่า 69 ประเทศทั่วโลก ในหัวข้อ ก้าวสู่หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า: เร่งพัฒนาระบบการเงินสุขภาพ ณ ห้องบางกอกคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ เซ็นทาราแกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิร์ล เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2555
การประชุมนานาชาติรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2012 เป็นเวทีแลกเปลี่ยนความคิดด้านสุขภาพ จัดขึ้นโดยมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล กระทรวงสาธารณสุข มหาวิทยาลัยมหิดล และองค์กรสุขภาพในระดับโลก อาทิ องค์การอนามัยโลก (WHO) ธนาคารโลก (World Bank) และ องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น หรือ ไจก้า (JICA) เป็นเจ้าภาพร่วมกัน โดยมีองค์กรที่เป็นพันธมิตรและให้การสนับสนุนด้านการจัดการประชุมฯอย่างต่อเนื่อง คือ Rockefeller Foundation, the China Medical Board, USAID, GIZ , WHO South East Asia Regional Office, Results for Development Institute, National Institute for Health and Clinical Excellence, International Development Research Center (IDRC) and the People’s Health Movement
ในการนี้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระราชดำรัสเปิดการประชุม โดยมีใจความตอนหนึ่งว่า การประชุมนานาชาติรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล 2012 ครั้งนี้ จัดขึ้นเป็นปีที่ 6 ที่มีหัวข้อการประชุมมุ่งเน้นในเรื่อง ก้าวสู่หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เร่งพัฒนาระบบการเงินสุขภาพ ซึ่งเป็นประเด็นที่สำคัญและกำลังถูกผลักดันให้เป็นนโยบายที่สำคัญในระดับโลกอยู่ ณ ขณะนี้
การเข้าถึงเรื่องระบบสาธารณสุข โดยไม่มีอุปสรรค ถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่มนุษย์ทุกคนพึงมี ซึ่งนอกจากประเด็นดังกล่าวแล้ว การลดภาระค่าใช้จ่ายในเรื่องของระบบสุขภาพยังสามารถช่วยป้องกันให้ประชาชนไม่ตกอยู่ในภาวะยากไร้อีกด้วย สำหรับประเทศไทย ในตลอด 10 ปีที่ผ่านมา การมีหลักประกันสุขภาพ ได้พิสูจน์ให้เห็นว่า เราสามารถช่วยชีวิตประชาชนได้อย่างมาก และยังเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดภาวะยากจนในครอบครัวคนไทยอีกด้วย ข้าพเจ้าหวังเป็นอย่างยิ่งว่า การประชุมในครั้งนี้จะบรรลุผล และก่อให้เกิดการขับเคลื่อนและผลักดันต่อหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในทั่วโลก.
ด้านศาสตราจารย์ นพ. วิจารณ์ พานิช ประธานคณะกรรมการจัดการประชุม การประชุมนานาชาติรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล กล่าวว่า หัวข้อการประชุมในปีนี้คือ ก้าวสู่หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เร่งพัฒนาระบบการเงินสุขภาพ ซึ่งถือเป็นหนึ่งหัวข้อการประชุมที่จัดขึ้นภายใต้ ระบบ 6 องค์ประกอบพื้นฐานของระบบสุขภาพที่ตั้งโดยองค์การอนามัยโลก (The six building blocks of health systems by WHO) และเป็นข้อตกลงร่วมกันในการประชุมสุดยอด G8 ในปี 2008 ที่ประเทศญี่ปุ่น ที่มุ่งเน้นความสัมพันธ์ของ 3 องค์ประกอบ อันได้แก่ ระบบข้อมูลด้านสุขภาพ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ด้านสุขภาพ และการดูแลระบบการเงินสุขภาพ ทั้งนี้ในการประชุมนานาชาติรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลได้เคยจัดประชุมต่อเนื่องในหัวข้อที่เกี่ยวกับระบบ 6 องค์ประกอบพื้นฐานของระบบสุขภาพมาแล้ว 2 ครั้ง คือ การประชุมในหัวข้อระบบข้อมูลสารสนเทศ ในปี 2010 และ บุคลากรด้านการแพทย์ ในปี 2011 ตามลำดับ สำหรับปีนี้มีจำนวนผู้เข้าร่วมประชุม ทั้งสิ้น 816 คน จาก 69 ประเทศทั่วโลก ซึ่งได้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ประสบการณ์ และเป็นการสร้างเครือข่ายความสัมพันธ์ ระหว่างผู้เข้าร่วมประชุม
“การประชุมได้เปิดโอกาสให้ผู้นำด้านสุขภาพและสาธารณสุขพบปะ พูดคุย และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับด้านสุขภาพ และยังได้รับเกียรติเป็นอย่างมากจาก ศาสตราจารย์ Ruth F. Bishop ผู้ซึ่งได้รับรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลในปี 2011 ขึ้นกล่าวสุนทรพจน์ ทั้งนี้ได้รับเกียรติจาก คุณ Varshaben Thakor จากประเทศอินเดีย มาร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์เกี่ยวกับหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในระดับรากหญ้า”
อย่างไรก็ตามการประชุมครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ในการขับเคลื่อนนโยบายให้เกิดการคุ้มครองสุขภาพถ้วนหน้าในระดับโลกให้บรรลุผล โดยมุ่งเน้นเรื่องปัจจัยความสำเร็จในการพัฒนาระบบการเงินสุขภาพ สนับสนุนการเจรจาความร่วมมือในระดับโลก และแลกเปลี่ยนประสบการณ์การขับเคลื่อนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าระหว่างกลุ่มประเทศที่มีรายได้แตกต่างกัน เพื่อให้ประชาชนทุกคนมีสุขภาพดี สามารถเข้าถึงบริการด้านสุขภาพเมื่อคราวจำเป็น โดยไม่มีอุปสรรคด้านค่าใช้จ่าย
ศาสตราจารย์ นพ. วิจารณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า “การที่องค์กรพันธมิตรจากประเทศต่างๆ ให้การสนับสนุนการจัดประชุมครั้งนี้ เนื่องจากอยากผลักดันให้เป็น...วาระของโลก...เพื่อทำให้ เรื่องของสุขภาพถ้วนหน้าเป็นวาระทางด้านการพัฒนาของประเทศต่างๆ ในโลก ซึ่งการมีบริการสุขภาพถ้วนหน้าถือเป็นมิติสำคัญในการพัฒนาประเทศ พัฒนาโลกต่อไป”
ทั้งนี้ ในเวทีการแลกเปลี่ยนความคิดตลอด 3 วันของการประชุม (24-26 มกราคม) ยังได้ทำให้เกิดเครือข่ายความร่วมมือในหลายระดับ โดยเครือข่ายเอเชียแปซิฟิกเป็นเครือข่ายหนึ่งที่มีหน้าที่ติดตามศึกษาระบบสุขภาพในมิติต่างๆ และได้มีการยกตัวอย่างประเทศคอสตาริกา ที่ประสบความสำเร็จในระบบสุขภาพถ้วนหน้า เนื่องจากใช้งบประมาณไม่ถึง 10 เปอร์เซนต์ของประเทศสหรัฐอเมริกาซึ่งใช้เงิน 6 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐต่อคนต่อปี แต่กลับไม่ครอบคลุมเรื่องสุขภาพ
ศาสตราจารย์ นพ. วิจารณ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า การให้การดูแลสุขภาพครอบคลุมประชากรทั้งประเทศไม่จำเป็นต้องเป็นประเทศที่มั่งคั่งร่ำรวย แต่ต้องมีความรู้ ต้องมีสังคมเข้ามาช่วยสนับสนุน เหมือนเช่นประเทศไทยที่ทำได้ดีจนเป็นที่ยอมรับและหลายประเทศให้ความสนใจศึกษาระบบสุขภาพถ้วนหน้าของบ้านเรา ซึ่งการลงมติในการปรึกษาหารือร่วมกันครั้งนี้จะไม่มีผลในการบังคับให้แต่ละประเทศนำไปปฏิบัติอย่างชัดเจน อยู่ที่ว่าแต่ละประเทศจะเห็นชอบ หรือเลือกนำแต่ข้อเสนอที่ดีอันจะเกิดประโยชน์ต่อการพัฒาด้านการจัดการระบบสุขภาพของประเทศไปปฏิบัติ และปรับใช้ ทั้งนี้ก็เพื่อให้การประกันสุขภาพถ้วนหน้าเข้าถึงคนทุกกลุ่มทุกระดับอย่างเท่าเทียมกันต่อไป…
การประชุมนานาชาติรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล นับเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ และความคิดเห็นของผู้นำด้านสาธารณสุขจากนานาประเทศ ในประเด็นด้านสาธารณสุขที่สำคัญระดับโลก เพื่อประโยชน์ด้านสุขภาพของมนุษยชาติ และเพื่อเผยแพร่พระเกียรติคุณใน สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก องค์บิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบันและการสาธารณสุขของไทย
อีกทั้งยังเป็นการประชุมนานาชาติด้านสุขภาพที่ได้รับการยอมรับระดับโลก มีนักวิชาการ ผู้ทรงคุณวุฒิ และเจ้าหน้าที่ระดับสูงของหน่วยงานระดับนานาชาติเข้าร่วมประชุม และเสนอประเด็นนโยบายด้านสุขภาพที่สำคัญเป็นประจำทุกปี ที่สำคัญคือ นักวิชาการและผู้นำด้านสาธารณสุขของไทยจะมีโอกาสในการสร้างเครือข่ายกับองค์กร นักวิชาการ และผู้นำด้านสาธารณสุขในระดับโลก รวมถึงสร้างความประทับใจกับผู้เข้าร่วมประชุม เพื่อให้เกิดภาพลักษณ์ที่ดีกับประเทศไทย และส่งผลบวกต่อบทบาทของไทยในเวทีโลกในที่สุด