ธุรกิจบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ปี 2555…ยอดใช้ดาต้าโตก้าวกระโดดกว่า 38% ผลักดันมูลค่าตลาดเกิน 170,000 ล้านบาท

ข่าวเทคโนโลยี Monday January 30, 2012 12:05 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--30 ม.ค.--ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ธุรกิจบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในปี 2555 มีแนวโน้มการเติบโตที่สดใส โดยจะเริ่มได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่จากการขยายโครงข่ายบริการ 3G เชิงพาณิชย์บนคลื่นความถี่เดิมที่ครอบคลุมทั่วประเทศมากขึ้น พร้อมทั้งการเพิ่มขึ้นของฐานผู้บริโภคที่ใช้บริการ 3G บนโครงข่ายดังกล่าว ตลอดจนแรงหนุนจากการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของตลาดอุปกรณ์เคลื่อนที่ทั้งสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ต จะมีส่วนสนับสนุนให้ธุรกิจบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในปี 2555 มีความพร้อมที่จะเปลี่ยนโฉมหน้าเข้าสู่ยุคการสื่อสารข้อมูลไร้สายความเร็วสูงอย่างแท้จริง ซึ่งจะเป็นยุคที่ผู้บริโภคโดยเฉพาะอย่างยิ่งคนรุ่นใหม่จะมีการใช้บริการด้านข้อมูล (Data) ผ่านอุปกรณ์เคลื่อนที่มากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการใช้งานอินเทอร์เน็ตเพื่อท่องเว็บ ดาวน์โหลดเพลงและเกม และการเข้าถึงเครือข่ายสังคมออนไลน์ (Social Network) เป็นต้น กล่าวได้ว่า ความนิยมในการใช้บริการเสริมด้านข้อมูลต่างๆจะเป็นตัวสนับสนุนหลักในการขยายตัวของธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ในปี 2555 อย่างไรก็ดี การแบ่งแถบคลื่นความถี่ (Bandwidth) บางส่วนภายใต้สัญญาสัมปทานเดิมที่ให้บริการ 2G มาเปิดให้บริการ 3G ของผู้ประกอบการโทรคมนาคม ทำให้เกิดข้อจำกัดทั้งด้านคุณภาพการสื่อสารในบริการด้านเสียง และปริมาณผู้ใช้บริการในระบบ 3G ของผู้ให้บริการแต่ละรายที่สามารถใช้บริการได้ราว 2 ถึง 4 ล้านเลขหมาย ส่งผลให้ผู้ประกอบการโทรคมนาคมมีความต้องการที่จะเข้าประมูลใบอนุญาตให้บริการ 3G บนคลื่นความถี่ 2.1GHz ซึ่งในขณะนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนการรอคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จัดทำแผนแม่บทกิจการโทรคมนาคม และแผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่และตารางกำหนดคลื่นความถี่แห่งชาติ และคาดว่าจะมีการประกาศใช้ในช่วงครึ่งแรกของปี 2555 จากนั้นการประมูลใบอนุญาตให้บริการ 3G น่าจะถูกจัดขึ้นได้ในช่วงครึ่งหลังของปี 2555 เป็นอย่างเร็ว ธุรกิจบริการมือถือปี 55...เติบโตแข็งแกร่ง เข้าสู่ยุคสื่อสารข้อมูลไร้สายความเร็วสูง ธุรกิจบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในปี 2555 คาดว่า จะมีการเติบโตอย่างแข็งแกร่ง นำโดยบริการเสริมด้านข้อมูล ซึ่งมีปัจจัยสนับสนุนทั้งทางด้านความครอบคลุมของโครงข่าย 3G ที่มากขึ้น ความนิยมของผู้บริโภคในอุปกรณ์เคลื่อนที่ที่มีสมรรถนะสูง พฤติกรรมผู้บริโภคที่ต้องการช่องทางสื่อสารที่เข้าถึงได้ทุกที่ทุกเวลา ตลอดจนผู้ให้บริการโทรคมนาคมและเจ้าของคอนเทนต์ต่างๆ มุ่งพัฒนาและนำคอนเทนต์ของตนมาสร้างบริการใหม่ๆบนเครือข่าย 3G โดยมีรายละเอียดดังนี้ การเร่งขยายโครงข่ายบริการ 3G บนคลื่นความถี่เดิม การเริ่มทยอยเปิดตัวให้บริการ 3G เชิงพาณิชย์บนคลื่นความถี่เดิมตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของปี 2554 ของผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่เอกชนรายหลัก นับได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่จะพลิกโฉมการสื่อสารโทรคมนาคมไร้สายของไทยให้เข้าสู่ยุคการสื่อสารข้อมูลความเร็วสูง อย่างไรก็ดี ในช่วงปลายปี 2554 การเปิดให้บริการ 3G ดังกล่าว ยังคงถูกจำกัดขอบเขตในบางพื้นที่ของกรุงเทพฯ ปริมณฑล และหัวเมืองใหญ่ โดยมีจำนวนผู้ใช้บริการ 3G อยู่ทั้งสิ้นราว 2 ล้านราย ทั้งนี้ ในปี 2555 ผู้ประกอบการเอกชนรายหลักต่างมีแผนที่จะเร่งขยายโครงข่าย 3G บนคลื่นความถี่เดิมให้ครอบคลุมทั่วประเทศ โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จในช่วงครึ่งหลังของปี 2555 จากความพร้อมของโครงข่ายดังกล่าว คาดว่า ผู้ประกอบการจะเร่งทำการตลาดโดยเน้นจุดเด่นของบริการเสริมด้านข้อมูลบนโครงข่ายสื่อสารความเร็วสูงที่สามารถตอบโจทย์พฤติกรรมของผู้บริโภคในยุคปัจจุบัน เพื่อดึงดูดลูกค้าเข้าสู่ระบบ 3G โดยคาดว่าจะมีผู้ใช้บริการไม่ต่ำกว่า 4 ล้านรายในช่วงกลางปี 2555 และมีไม่ต่ำกว่า 7 ล้านรายในช่วงปลายปี ความนิยมในอุปกรณ์เคลื่อนที่อย่างสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ต จากคุณสมบัติอันโดดเด่นของสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ต ในเรื่องของการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต และสามารถลงโปรแกรมประยุกต์ต่างๆได้ จึงทำให้เกิดความยืดหยุ่นสูงในการพัฒนาบริการใหม่ๆเพื่อตอบสนองรูปแบบการใช้ชีวิตของผู้บริโภคในยุคปัจจุบันได้ดี ไม่ว่าจะเป็นการใช้งานเครือข่ายสังคมออนไลน์ หรือแม้แต่การฟังเพลงหรือเล่นเกม เป็นต้น ซึ่งสมรรถนะที่โดดเด่นดังกล่าว มีส่วนผลักดันให้สมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตเป็นที่นิยมในหมู่ผู้บริโภค ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความพร้อมของผู้บริโภคด้านอุปกรณ์เคลื่อนที่ที่มีส่วนสำคัญยิ่งในการหนุนให้เกิดการใช้งานบริการเสริมทางด้านข้อมูลมากยิ่งขึ้น กระแสพฤติกรรมผู้บริโภคที่ต้องการช่องทางการสื่อสารรูปแบบใหม่ที่เข้าถึงได้ทุกที่ทุกเวลา ผู้บริโภคในยุคปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนรุ่นใหม่ มีความต้องการที่จะเข้าถึงบริการด้านความบันเทิง ที่ต้องส่งผ่านข้อมูลในปริมาณมาก ทั้งในรูปแบบข้อความ ภาพและเสียง โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริการที่อยู่ในลักษณะออนไลน์ ที่ผู้บริโภคสามารถเชื่อมต่อการใช้บริการได้ทันที โดยไม่จำเป็นต้องรอการดาวน์โหลดเนื้อหามาเก็บไว้ที่อุปกรณ์เคลื่อนที่ก่อนจึงจะสามารถบริโภคเนื้อหาดังกล่าวได้ ซึ่งพฤติกรรมดังกล่าวเกิดจากความคุ้นชินในการบริโภคเนื้อหาผ่านโครงข่ายสื่อสารแบบมีสาย ซึ่งมีความเร็วสูงกว่าโครงข่ายสื่อสารไร้สายแบบ 2G เดิม นอกจากนี้ ผู้บริโภคยังมีความต้องการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารต่างๆที่มีความทันสมัยต่อเหตุการณ์เพิ่มมากขึ้น ดังเห็นได้จากในช่วงภาวะน้ำท่วมใหญ่ที่ผ่านมา นอกเหนือจากปริมาณการติดต่อสื่อสารด้านเสียงที่เพิ่มมากขึ้นแล้ว ผู้บริโภคยังมีการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำท่วมผ่านบริการด้านข้อมูลเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก โดยผู้ประกอบการโทรคมนาคมมีการประเมินว่า ผู้บริโภคมีการใช้งานโทรศัพท์เคลื่อนที่เพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่าร้อยละ 40 ถึง 50 ในช่วงเวลาดังกล่าว การเร่งพัฒนาบริการเสริมด้านข้อมูลที่หลากหลายมากขึ้น จากกระแสพฤติกรรมผู้บริโภคที่นิยมใช้อุปกรณ์เคลื่อนที่ในการเชื่อมต่อสู่อินเทอร์เน็ตเพื่อบริโภคข้อมูลข่าวสารบนเว็บ หรือใช้งานเครือข่ายสังคมออนไลน์ เป็นต้น ซึ่งรายได้ของผู้ให้บริการโทรคมนาคมในส่วนนี้มักมาจากปริมาณรับส่งข้อมูลของผู้บริโภคในการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตเท่านั้น ส่งผลให้ผู้ให้บริการโทรคมนาคมร่วมมือกับเจ้าของคอนเทนต์ เพื่อพัฒนาบริการด้านคอนเทนต์ต่างๆที่สามารถบริโภคได้บนอุปกรณ์เคลื่อนที่ และเพิ่มรายได้ในส่วนของการให้บริการหรือจัดจำหน่ายคอนเทนต์มากขึ้น โดยในปี 2554 บริการเสริมด้านข้อมูลส่วนใหญ่ที่ถูกพัฒนาขึ้น มักเป็นไปในลักษณะที่ผู้บริโภคต้องดาวน์โหลดเนื้อหามาไว้ที่อุปกรณ์เคลื่อนที่ก่อนจึงจะสามารถบริโภคเนื้อหาได้ ซึ่งเกิดจากข้อจำกัดด้านความเร็วในการบริการรับส่งข้อมูลในระบบ 2G เดิม ในขณะที่โครงข่าย 3G บนคลื่นความถี่เดิมยังไม่ครอบคลุมนัก โดยตัวอย่างบริการด้านคอนเทนต์ที่นิยมเปิดให้บริการในปีที่ผ่านมา คือ บริการหนังสือพิมพ์ หรือนิตยสารดิจิทัลปกต่างๆ บริการฟังเพลงบนมือถือ ดูทีวีบนมือถือ เป็นต้น อย่างไรก็ดี ในปี 2555 จากการเร่งขยายโครงข่าย 3G รวมถึงฐานผู้ใช้งานบริการ 3G ที่เพิ่มมากขึ้น คาดว่า จะส่งผลให้เกิดการพัฒนาบริการเสริมด้านข้อมูลที่หลากหลาย และเน้นการบริโภคเนื้อหาในลักษณะออนไลน์มากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นบริการบันเทิงออนไลน์แบบต่างๆ หรือการประชุมออนไลน์ทางโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบเห็นหน้าผู้ประชุม บริการข้อมูลข่าวสารมัลติมีเดียแบบออนไลน์ เป็นต้น จากแนวโน้มและปัจจัยสำคัญต่างๆดังกล่าว ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ในปี 2555 ตลาดบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่โดยรวมจะเติบโตราวร้อยละ 8.1 ถึง 10.3 โดยมีมูลค่าตลาดรวม 178,300 ถึง 181,900 ล้านบาท เทียบกับ 164,900 ล้านบาทในปี 2554 ในจำนวนนี้คิดเป็นแรงกระตุ้นจากการใช้บริการด้านข้อมูลคิดเป็นมูลค่า 46,600 ถึง 48,200 ล้านบาท ขยายตัวราวร้อยละ 33.6 ถึง 38.1 ในขณะที่บริการด้านเสียงจะเติบโตราวร้อยละ 1.3 ถึง 2.8 ประเด็นที่ต้องติดตามและปัญหาที่รอข้อสรุป ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้รวบรวมประเด็นที่ควรจับตามอง และมีผลกระทบต่อธุรกิจโทรคมนาคมในปี 2555 ดังนี้ ? ความคืบหน้าเกี่ยวกับการจัดทำแผนแม่บทด้านการสื่อสารและโทรคมนาคม ซึ่งจะส่งผลต่อการกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคม การจัดสรรคลื่นความถี่ รวมไปถึงการเปิดประมูลใบอนุญาต 3G บนคลื่นความถี่ 2.1GHz โดยแผนแม่บทกิจการโทรคมนาคม และแผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่และตารางกำหนดคลื่นความถี่แห่งชาติ คาดว่าจะแล้วเสร็จและมีการประกาศใช้ในช่วงครึ่งแรกของปี 2555 เป็นอย่างเร็ว ? ความคืบหน้าในการเปิดประมูลใบอนุญาต 3G บนคลื่นความถี่ 2.1 GHz โดย กสทช. ซึ่งน่าจะถูกจัดขึ้นได้ในช่วงครึ่งหลังของปี 2555 เป็นอย่างเร็ว โดยคาดว่าผู้ประกอบการเอกชนรายหลักจะเข้าร่วมประมูลใบอนุญาตดังกล่าว เนื่องจาก สัญญาสัมปทานเดิมใกล้จะหมดลง ทำให้มีความเสี่ยงเชิงธุรกิจในการขยายโครงข่ายบริการ 3G บนคลื่นความถี่เดิมต่อไป ประกอบกับค่าธรรมเนียมใบอนุญาตรายปีที่น่าจะต่ำกว่าส่วนแบ่งรายได้ในสัญญาสัมปทานเดิมที่อยู่ที่อัตราร้อยละ 25 ถึง 30 รวมไปถึงการขจัดข้อจำกัดด้านคุณภาพการบริการ ซึ่งสืบเนื่องจากการแบ่งแถบคลื่นความถี่ซึ่งมีอยู่จำนวนจำกัดบนระบบ 2G มาเปิดให้บริการ 3G บนคลื่นความถี่เดิม ? ความคืบหน้าในการพิจารณาและกำหนดกรอบนิยามโดยคณะกรรมการ กสทช. ต่อกรณีมาตรา 46 ของพ.ร.บ.กสทช. ซึ่งมีการกำหนดให้ใบอนุญาตใช้คลื่นความถี่เพื่อกิจการโทรคมนาคมเป็นสิทธิเฉพาะตัวของผู้ได้รับใบอนุญาต จะโอนหรือมอบอำนาจการบริหารจัดการให้แก่บุคคลอื่นไม่ได้ ซึ่งมีการตั้งข้อสังเกตกันว่า อาจจะขัดต่อแนวคิดการขายต่อบริการให้แก่ผู้ให้บริการโทรคมนาคมแบบไม่มีโครงข่ายเป็นของตนเอง หรือ MVNO และจะส่งผลกระทบต่อแนวคิดที่จะส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมให้สามารถเข้ามาประกอบธุรกิจบริการโทรคมนาคมในรูปแบบ MVNO หลังการเปิดประมูลใบอนุญาต 3G บนคลื่นความถี่ 2.1 GHz ได้ บทสรุป ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ธุรกิจบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในปี 2555 จะมีการเติบโตที่แข็งแกร่ง โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลักจาก ความครอบคลุมของโครงข่ายบริการ 3G ที่มากขึ้น ความนิยมในอุปกรณ์เคลื่อนที่อย่างสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ต พฤติกรรมผู้บริโภคที่ต้องการบริโภคข้อมูลข่าวสารและความบันเทิงที่อยู่ในลักษณะมัลติมีเดีย ตลอดจนผู้ให้บริการโทรคมนาคมและเจ้าของคอนเทนต์ต่างๆ มุ่งพัฒนาและนำคอนเทนต์ของตนมาสร้างบริการใหม่ๆบนเครือข่าย 3G เช่น นิตยสารดิจิทัล ซึ่งเนื้อหาจะมีทั้งภาพและเสียง ทีวีออนไลน์ และเกมออนไลน์ เป็นต้น ส่งผลให้บริการเสริมด้านข้อมูลจะยังคงเป็นตัวนำในการเติบโตของตลาดบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในปี 2555 จากแนวโน้มดังกล่าวข้างต้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ในปี 2555 บริการด้านข้อมูลจะยังคงเป็นตัวนำในการเติบโตของธุรกิจบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ โดยคิดเป็นสัดส่วนถึงราวร้อยละ 26.2 ของมูลค่าตลาดรวม เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 21.1 ในปี 2554 และมีอัตราเติบโตประมาณร้อยละ 33.6 ถึง 38.1 โดยจะมีมูลค่า 46,600 ถึง 48,200 ล้านบาท ในขณะที่บริการด้านเสียงจะเติบโตราวร้อยละ 1.3 ถึง 2.8 และผลักดันให้ตลาดบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่โดยรวมในปี 2555 มีอัตราเติบโตอยู่ที่ร้อยละ 8.1 ถึง 10.3 ทั้งนี้ ในปี 2555 ยังมีหลายประเด็นที่ต้องติดตาม ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั้งแผนการลงทุน และสภาวะการแข่งขันของผู้ให้บริการ ได้แก่ ความคืบหน้าเกี่ยวกับการจัดทำแผนแม่บทเพื่อการกำกับดูแลและจัดสรรคลื่นความถี่สำหรับธุรกิจสื่อสารและโทรคมนาคม การประมูลใบอนุญาต 3G บนคลื่นความถี่ 2.1 GHz และประเด็นความชัดเจนของมาตรา 46 พ.ร.บ. กสทช.ต่อการอนุญาตให้เปิดบริการในลักษณะ MVNO
แท็ก 3G  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ