กรุงเทพฯ--30 ม.ค.--Frost & Sullivan
ฟรอสต์ฯ เผย จำนวนผู้ใช้บริการ โมบาย บรอดแบนด์ (Mobile broadband subs) มีแนวโน้มว่าจะเติบโตถึง 30 ล้านหน่วย ภายในปี 2557 หากปัญหาเกี่ยวกับกฎข้อบังคับต่างๆได้รับการแก้ไขอย่างถูกต้อง ซึ่งจะส่งผลให้ผู้ให้บริการสามารถให้บริการระบบสามจี และเพิ่มจำนวนผู้ใช้บริการให้มากยิ่งขึ้น
มร. นิธิน บัท หุ้นส่วนและหัวหน้าคณะที่ปรึกษา บริษัท ฟรอสต์ แอนด์ ซัลลิแวน องค์กรให้คำปรึกษาและวิจัยระดับโลก เปิดเผยว่า ประเทศไทยยังมีการใช้งานบรอดแบรนด์ไม่มากนัก (อัตราการใช้งาน โมบายบรอดแบนด์ น้อยกว่าร้อยละ 20 และอัตราการใช้งานบรอดแบนด์ทั้งหมดน้อยกว่าร้อยละ 10) ดังนั้น เพื่อให้สอดคล้องกับแผนปฎิบัติการด้านบรอดแบนด์ระดับชาติ อัตราการใช้งานบรอดแบนด์ทั้งหมดควรอยู่ที่ร้อยละ 80 ซึ่งแปลว่า โมบายบรอดแบนด์จะเป็นตัวขับเคลื่อนในการเพิ่มอัตราการใช้งานดังกล่าว ซึ่งคาดการณ์กันว่าจะโตขึ้นถึง 3 เท่าในปี 2558
“เนื่องจากประเทศไทยมีการแก้ปัญหาด้านข้อบังคับที่ไม่ชัดเจน ส่งผลให้ผู้ให้บริการต่างก็ต้องเตรียมแผนสำรองเกี่ยวกับพันธมิตรชั่วคราวไว้ อาทิ ทรูและกสท ทีโอทีและแผน MVNO ในขณะที่ทาง DTAC ดูเหมือนจะให้ความสนใจในการสร้างพันธมิตรน้อยที่สุด” มร. บัท กล่าว
นอกจากนี้ แนวโน้มของตลาดค่อนข้างซบเซา มีนวัตกรรมใหม่ๆค่อนข้างน้อย มีระบบโครงสร้างพื้นฐานเพิ่มขึ้นในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ในขณะที่สงครามราคาระหว่างผู้ให้บริการทั้งหลายยังคงมีให้เห็นอย่างต่อเนื่องเพื่อเป็นการรักษาส่วนแบ่งทางการตลาด
มร. บัท ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า ในปีนี้ ผู้ใช้บริการอินเตอร์เน็ตมือถือ (Mobile internet) ควรจะมีจำนวนมากกว่าผู้ใช้บริการอินเตอร์เน็ตพื้นฐาน สืบเนื่องจากข้อจำกัดทางด้านโครงสร้างพื้นฐานของผู้ให้บริการทั้ง 4 แห่ง คือ ทีโอที กสท ทรู และ ทีทีแอนด์ที ซึ่งได้มีการขยายเครือข่ายในเฉพาะบางภูมิภาค และส่วนใหญ่อยู่ในย่านธุรกิจเท่านั้น
ปัจจุบัน ผู้ใช้สมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตในประเทศไทยยังมีน้อยกว่าพีซีและเน็ตบุ้ค ในขณะที่อัตราการดาวโหลดข้อมูลจากโทรศัพท์มือถือยังมีน้อยกว่าประเทศสิงคโปร์ มาเลเซีย และ อินโดนีเซียอยู่มาก โดยมีสาเหตุหลักมาจากค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูงและการขาดความเร็วในการรับส่งข้อมูล
“คนไทยส่วนใหญ่ยังคงใช้บรอดแบนด์พื้นฐานในการค้นหาข้อมูล และท่องอินเตอร์เน็ต เนื่องจากมีความเร็วสูงและราคาที่ไม่สูงเกินไปนัก ดังนั้น บรอดแบนด์พื้นฐาน จะยังคงเป็นทางเลือกในการเชื่อมต่อข้อมูลที่ยังคงได้รับความนิยมมากที่สุด เมื่อเทียบกับโทรศัพท์มือถือ จนกว่าระบบสามจีจะเปิดให้บริการ” มร. บัท ให้ความเห็นเพิ่มเติม
นอกจากนี้ ทราฟฟิกบนมือถือส่วนใหญ่จะเป็นการใช้โซเชียล เน็ตเวิร์ค เนื่องจากเป็นแอพพลิเคชั่นที่มีความต้องการแบนด์วิธน้อย เมื่อเทียบกับแอพพลิเคชั่นอื่นๆ ในขณะที่ เกมส์ออนไลน์ เป็นแอพพลิเคชั่นที่เป็นกุญแจสำคัญที่มีผลต่อการใช้จ่ายของในโลกออนไลน์ ซึ่งมีมากกว่าร้อยละ 50
แนวโน้มต่างๆในอุตสาหกรรมไอซีที ปี 2012
การเปลี่ยนแปลงของโมเดลทางธุรกิจ: มือถือถึงจุดที่เข้าสู่มวลชนทุกระดับ และกลุ่มธุรกิจเปลี่ยนมาใช้ประโยชน์จากระบบสังคมเครือข่าย (โซเชี่ยลเน็ตเวิร์ค)
ตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 ของปี 2010 สมาร์ทโฟนและแท๊บเล็ตในตลาดโลกเริ่มมีปริมาณมากกว่าเครื่องคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะและโน๊ตบุ๊ก และแนวโน้มนี้เริ่มเข้าสู่ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิคในไตรมาศที่ 4 ของปี 2011 โดยจะพุ่งสูงขึ้นไปอีกจนถึงปี 2015 ซึ่งจะทำให้ผู้ใช้งานระบบอินเตอร์เน็ตกว่า 80% จะใช้งานผ่านระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่ ซึ่งปริมาณการรับส่งข้อมูลจะสูงขึ้น 2 เท่าในทุก ๆ 18 เดือนโดยเราจะได้เห็นการรับส่งข้อมูลทุกชนิดเปลี่ยนมาเป็นผ่านระบบเคลื่อนที่ โดยปริมาณการใช้งานส่วนใหญ่จะมาจากการใช้งานผ่านวิดีโอสตรีมมิ่ง โดยในท้ายที่สุด จะมีระบบปฎิบัติการสำหรับโทรศัพท์เคลื่อนที่และแท๊บเล็ตเหลือเพียง 2-3 แพลตฟอร์มเท่านั้นที่มีปริมาณผู้ใช้มากพอ ซึ่งได้แก่ Apple, Android และ Windows Mobile ก็อาจจะอยู่ในกลุ่มนี้ด้วย
นอกจากนี้ เราจะได้เห็นการเติบโตของการพัฒนาซอฟท์แวร์เพื่อใช้ในการติดต่อผ่านโซเชี่ยลเน็ตเวิร์คที่ออกแบบมาสำหรับภาคธุรกิจโดยเฉพาะเพิ่มมากขึ้น
การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี: 3G/LTE จะเติบโต 2 เท่าทุก ๆ 3 ปี โดยที่เครือข่ายอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงผ่านสาย (บรอดแบนด์) ก็จะเติบโตในอัตราคงที่3G/LTE จะเริ่มเจาะตลาดในขณะเดียวกันกับที่บรอดแบนด์ก็ยังคงขยายการครอบคลุมอย่างต่อเนื่อง ทำให้ "อินเตอร์เน็ตเข้าถึงทุกสิ่ง" ได้อย่างแท้จริง ซึ่งเป็นโอกาสให้ใครก็ตามที่สามารถใช้ประโยชน์การเปลี่ยนแปลงนี้สามารถสร้างธุรกิจใหม่ ๆ ได้ โดยเครือข่ายที่ดีขึ้นจะทำให้วิธีการบริโภคข้อมูลเปลี่ยนไปทั้งในด้านการได้รับ วิเคราะห์ และแสดงผลข้อมูล
โดยเมื่อข้อมูลเข้าถึงได้ง่ายขึ้นและมากขึ้น ก็จะทำให้มีการวิเคราะห์ข้อมูลในระดับลึกมากขึ้นไปอีก ทั้งในด้าน CRM การเงิน การทำนายผลจากข้อมูล การวิเคราะห์แนวโน้ม หรือการวางแผนการผลิต เป็นต้น
การเปลี่ยนแปลงของตลาด: ธุรกิจจะเปลี่ยนมาซื้อบริการมากกว่าซื้อทรัพย์สินการมาของคลาวด์คอมพิวติ้ง จะทำให้ธุรกิจหันมาซื้อบริการซอฟท์แวร์แบบระบบคลาวด์คอมพิวติ้ง แทนการซื้อลิขสิทธิและเซิฟเวอร์ไว้เอง แนวโน้มนี้จะขยายผลมาสู่การใช้บริการทั้งแพลตฟอร์ม ไปสู่การใช้บริการทั้งระบบ หรือในท้ายที่สุดอาจไปถึงขั้นที่ซื้อบริการทั้งหมดแทนที่การซื้อระบบเป็นทรัพย์สิน โดยกลุ่มธุรกิจสื่อสารเริ่มจะเห็นผลกระทบมากขึ้นแล้วในตอนนี้ โดยผลกระทบจะมาในรูปแบบการเติบโตของรายได้ที่ลดลงเนื่องจากรายได้เปลี่ยนมือไปสู่กลุ่มธุรกิจใหม่ ทำให้ธุรกิจดั้งเดิมต้องหันมาเปลี่ยนตัวเองในทุกด้าน
การใช้จ่ายที่เปลี่ยนไป: บริษัทขนาดเล็กจะมีข้อได้เปรียบมากขึ้น ต้นทุนการสื่อสารที่ลดลงทำให้ CAPEX (ต้นทุนตั้งต้นในการค้นคว้า/จัดซื้อ/พัฒนาสินค้า เทคโนโลยี หรือระบบ) ลดลง และ OPEX (ค่าใช้จ่ายสิ้นเปลือง หรือต้นทุนในการให้สินค้า เทคโนโลยี หรือระบบนั้น ๆ ดำเนินต่อไปได้) เพิ่มขึ้น เมื่อเปลี่ยนไปสู่ระบบคลาวด์คอมพิวติ้ง
ด้วยเทคโนโลยีที่ดีขึ้น ทำให้การจัดซื้อข้ามชาติหรือการแบ่งส่วนงานกระจายไปสู่ประเทศต่าง ๆ ที่มีต้นทุนในการผลิต/ดำเนินการต่ำลง ซึ่งแต่เดิมเป็นสิ่งที่บริษัทขนาดใหญ่เท่านั้นจึงจะทำได้ กลายเป็นสิ่งที่ธุรกิจต่าง ๆ ก็สามารถเข้าถึงได้ ทำให้ข้อได้เปรียบของบริษัทขนาดใหญ่เริ่มลดลง และด้วยกระแสโลกาภิวัฒน์นี้ ทำให้เราไม่สามารถมองคู่แข่งเพียงบริษัทในประเทศหรือกลุ่มประเทศเดียวกันได้อีกต่อไป แต่ธุรกิจจะต้องเผชิญกับการแข่งขันจากทั่วโลก จุดสำคัญจึงอยู่ที่ การร่วมมือในการผลิต การร่วมมือในการทำตลาด การร่วมมือในการส่งมอบ/ขนส่ง เพื่อไปสู่การคงอยู่ร่วมกันของกลุ่มบริษัท