เครือธนาคารกสิกรไทยตอบสนองความต้องการลูกค้าขยายสู่ตลาดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday February 1, 2012 12:11 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--1 ก.พ.--ธนาคารกสิกรไทย เครือธนาคารกสิกรไทยตอบสนองความต้องการลูกค้าขยายสู่ตลาดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนด้วยการผนึกกำลังเครือข่ายพันธมิตรกับธนาคารทั่วภูมิภาค (ASEAN Alliance by KGroup) เครือธนาคารกสิกรไทยอาศัยความสำเร็จและความแข็งแกร่งในประเทศ สร้างเครือข่ายพันธมิตรกับธนาคารทั่วภูมิภาคเอเชียเพื่อเป็นฐานในการสร้างโอกาสและตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าในการเข้าสู่ตลาดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน แนวโน้มการเติบโตของการค้าการลงทุนระหว่างไทยกับ ASEAN จากขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่ของ ASEAN และการเปิดเสรีการค้า การบริการและการลงทุนที่กำลังจะเกิดขึ้นอย่างเต็มรูปแบบใน AEC 2015 จะทำให้เกิดการรวมเป็นตลาดเดียวของประเทศต่าง ๆ ในอาเซียน ทำให้มีขนาดตลาดที่ใหญ่เป็นที่น่าสนใจทั้งในเชิงการค้า การบริการที่เกิดขึ้นภายในกันเองของประเทศในอาเซียนและการลงทุนจากต่างประเทศ เพื่อขายสินค้าและบริการในตลาดอาเซียนและส่งออกสู่ตลาดโลก ทั้งนี้ ด้วยตำแหน่งทางภูมิศาสตร์และความพร้อมของประเทศ หากประเทศไทยสามารถใช้โอกาสนี้ทำให้ประเทศไทยเป็นฐานการลงทุนจากต่างประเทศเพื่อเป็นศูนย์กลางการผลิตสินค้าป้อนสู่ตลาดอาเซียน ตลาดจีนและตลาดโลก และถ้าสามารถทำให้บริษัทไทย สามารถขยายตลาด ขยายการลงทุนไปยังประเทศต่าง ๆ ในอาเซียนเพื่อผลิตสินค้าและบริการสู่ตลาดอาเซียนและตลาดโลกได้ โอกาสนี้ถือว่าเป็นโอกาสที่สำคัญของไทยที่จะสร้างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ สร้างการจ้างงาน สร้างผลผลิต สร้างรายได้ และนำพาเศรษฐกิจของประเทศให้เจริญก้าวหน้าขึ้น เครือธนาคารกสิกรไทยได้กำหนดรูปแบบการทำธุรกิจ โดยอาศัยการมีเครือข่ายพันธมิตรกับธนาคารในประเทศต่าง ๆ เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของนักลงทุนต่างประเทศที่เข้ามาลงทุนในไทย และต่อความต้องการของบริษัทไทยที่ต้องการไปลงทุนในประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคนี้ ไว้ 3 กลุ่มคือ 1. กลุ่มประเทศที่เข้ามาลงทุนเพื่อใช้ไทยเป็นฐานในการผลิตเพื่อขายในประเทศและส่งออกไปยังตลาดอาเซียนและตลาดโลก คือ ประเทศญี่ปุ่น และประเทศเกาหลีใต้ ในประเทศญี่ปุ่น กสิกรไทยมีธนาคารพันธมิตรท้องถิ่น (Japanese Regional Banks) จำนวนทั้งสิ้น 19 ธนาคาร โดยใช้หลักการ Co Service Customer เพื่อดูแลลูกค้าญี่ปุ่นของธนาคารนั้น ๆ ในประเทศไทย ผ่านช่องทางการให้บริการของเครือธนาคารฯ ส่วนประเทศเกาหลีใต้นั้นมีธนาคารพันธมิตรจำนวนสองราย นอกจากนี้ เครือธนาคารกสิกรไทยมีพนักงานที่มีความเชี่ยวชาญ สามารถสื่อสารภาษาญี่ปุ่นได้ถึง 30 คน และมีชาวต่างชาติที่เป็นพนักงานของธนาคารทั้งประเทศญี่ปุ่นและเกาหลีใต้เพื่อให้บริการแก่ลูกค้า ทั้งนี้ ธนาคารมีส่วนแบ่งทางการตลาดบริษัทญี่ปุ่นในประเทศไทยเพิ่มขึ้นจาก 12% ในปี 2010 มาเป็น 13% ในปี 2011 และปัจจุบัน ธนาคารมีลูกค้าอยู่ประมาณ 4,300 บริษัทฯจากขนาดของตลาดโดยรวมประมาณ 7,000 บริษัท 2. กลุ่มประเทศที่บริษัทไทยต้องการจะเข้าไปขยายธุรกิจการค้าและการลงทุนเพื่อผลิตสินค้าสำหรับขายภายในประเทศนั้นๆ หรือเพื่อส่งออกสู่ตลาดอาเซียนและตลาดโลกจากประเทศนั้นๆ เช่น เวียดนาม อินโดนิเซีย พม่า ธนาคารจะจัดตั้งหน่วยงานเพื่อสนับสนุนลูกค้าโดยเฉพาะลูกค้าที่ไม่ได้มีขนาดธุรกิจที่ใหญ่นักเช่น ลุกค้ากลุ่มลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่ (Corporate) และ กลุ่มลูกค้าผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ในด้านข้อมูลพื้นฐานในการทำธุรกิจ กฎหมายธุรกิจ กฎหมายแรงงาน การหาแรงงาน การจัดตั้งบริษัท การวิเคราะห์ความเป็นไปได้ของการลงทุน การหาธนาคารท้องถิ่นที่สามารถให้บริการและให้คำแนะนำทางการเงินและเชื่อมต่อกับธนาคารกสิกรไทยได้ อีกทั้ง ปัจจุบันธนาคาร ได้สร้างเครือข่ายพันธมิตรกับธนาคารในประเทศในกลุ่มนี้ ซึ่งมีพันธมิตรทั้งหมด 7 แห่ง 4 ประเทศ คือ เวียดนาม อินโดนีเซีย สิงคโปร์ และลาว โดยมีจำนวนสาขาที่ให้บริการในประเทศเวียดนาม 1,900 สาขา ประเทศอินโดนีเซีย 3,400 สาขา ซึ่งทางธนาคารกำลังพิจารณาหาพันธมิตรเพิ่มเติมกับธนาคารในประเทศอาเซียน ซึ่งต่อไปหากจำเป็นธนาคารอาจมีสำนักงานตัวแทนในประเทศนั้น ๆ เพื่อสนับสนุนการค้าและการลงทุนของลูกค้า โดยดูตามความต้องการทางธุรกิจต่อไป สาเหตุที่ทางธนาคารได้เน้นการสร้างเครือข่ายพันธมิตร เนื่องจากการตั้งสาขาต้องใช้ทั้งทรัพยากรและคนเป็นจำนวนมาก รวมทั้งติดข้อจำกัดด้านภูมิประเทศ ทำให้การเป็นพันธมิตรมีข้อดี ดังนี้ มีเครือข่ายที่ครอบคลุม สามารถสร้างโอกาสทางธุรกิจให้กับลูกค้าของธนาคารและลูกค้าของธนาคารพันธมิตรผ่านทางโครงการจับคู่ธุรกิจ (Global Business Matching) มีความยืดหยุ่นในการเลือกธนาคารพันธมิตร รวมทั้งเลือก scope การให้บริการ สำหรับประเทศจีน ธุรกรรมทางการค้าของจีนมีโอกาสเติบโตที่สูงอีกมาก จีนมีแนวโน้มทำการค้าและลงทุนในไทย ไม่เพียงแต่สำหรับค้าขายกับไทยเท่านั้น แต่มองไทยเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญในการเข้าสู่ตลาดอาเซียน ญี่ปุ่นลงทุนในไทยเพื่อส่งออกไปจีนผ่าน China-Asean FTA นอกจากนี้ ตลาดในประเทศจีนเองก็มีขนาดใหญ่ และยังสามารถเป็นฐานในการส่งออกไปยังตลาดโลกได้ด้วย ธนาคารกสิกรไทยจึงมีรูปแบบธุรกิจสำหรับจีน 3 ลักษณะด้วยกัน คือ - การเข้าไปลงทุนตั้งสาขาและทำธุรกิจในประเทศจีนโดยเน้นไปที่ลูกค้า SME จีน ปัจจุบัน สิ่งที่ได้ดำเนินการไปนับว่าประสบความสำเร็จมากเพราะทางการจีนให้การยอมรับว่ารูปแบบทางธุรกิจของธนาคารกสิกรไทยในตลาด SME นั้นเป็นรูปแบบที่ดี และธนาคารก็มีแผนที่จะเปิดสาขาเพิ่มในปีนี้อีก 2 แห่ง โดยในปี 2011 ธนาคารได้ทำการปล่อยสินเชื่อในจีนจำนวน 800 ล้านหยวน และมีแผนที่จะปล่อยเพิ่มในปี 2012 จำนวน 2000 ล้านหยวน ทั้งนี้ โอกาสที่จะมีธนาคารอื่น ๆ ที่ยังไม่ได้เข้าไปจะเข้าไปทำธุรกิจในจีนนั้นต้องถือว่าแทบจะไม่มีแล้ว - การจัดตั้งทีมงาน และการมี Business Model ที่เหมาะสมในการตอบสนองต่อความต้องการของบริษัทจีนที่ต้องการมาลงทุนในไทย ตั้งแต่ก่อนการตัดสินใจมาลงทุน จนถึงการให้บริการทางการเงินเมื่อมาลงทุนในประเทศไทยแล้ว - การให้บริการทางการเงินสำหรับการขยายตัวทางการค้าระหว่างสองประเทศที่อยู่ในอัตราที่สูง ซึ่งธนาคารมีเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนการตลาดการค้าไทยจีนให้เป็น 30% ภายในปี 2015 (จากปี 2011 ที่ 12%) จากที่กล่าวข้างต้น ธนาคารกสิกรไทยเชื่อมั่นว่า ประเทศไทยและบริษัทไทย สามารถเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ขยายตลาดการค้าและการลงทุน อันจะนำมาซึ่งการเติบโตของเศรษฐกิจและรายได้ประชาชาติที่สูงขึ้น ด้วยรูปแบบและแนวทางที่ครอบคลุมในการตอบสนองความต้องการลูกค้าในแต่ละลักษณะ ที่เกิดจากการรวมกันของภูมิภาคนี้ (Regional integration)

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ