ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เสนอกระแสทรรศน์ ไทย - ลาว

ข่าวทั่วไป Friday March 19, 2004 14:52 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--19 มี.ค.--ธนาคารกสิกรไทย
การประชุมคณะรัฐมนตรีร่วมไทย-ลาวอย่างไม่เป็นทางการ ซึ่งจัดขึ้น ณ เมืองปากเซ แขวงจำปาสัก ประเทศลาว และจังหวัดอุบลราชธานีของไทย ระหว่างวันที่ 20-21 มีนาคม 2547 แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของพื้นที่ชายแดนไทยทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย ทั้งนี้ อุบลราชธานีนับเป็นเมืองชายแดนเพียงแห่งเดียวของไทยที่มีผืนแผ่นดินติดต่อกับประเทศลาว ประชาชนของทั้งสองประเทศสามารถเดินทางไปมาหาสู่กันอย่างสะดวกโดยใช้เส้นทางคมนาคมทางบก ผ่านทางจุดผ่านแดนช่องเม็กของไทย ซึ่งมีอาณาเขตติดต่อกับเมืองปากเซของลาว
สำหรับจุดผ่านแดนไทย-ลาวแห่งอื่นๆ มีแม่น้ำโขงเป็นแนวพรมแดนทางธรรมชาติขวางกั้น ทำให้การเดินทางไปมาหาสู่ระหว่างกันต้องอาศัยเส้นทางคมนาคมทางเรือเป็นหลัก รวมทั้งการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงบริเวณจุดผ่านแดนสำคัญต่างๆ เพื่อเชื่อมโยงการสัญจรทางบกระหว่างประเทศ ได้แก่ สะพานมิตรภาพไทย-ลาว ซึ่งทอดข้ามแม่น้ำโขงบริเวณจังหวัดหนองคายของไทยกับกรุงเวียงจันทน์ของลาว และสะพานแม่น้ำโขงไทย-ลาวแห่งที่ 2 ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง บริเวณจังหวัดมุกดาหารของไทยที่เชื่อมต่อกับแขวงสะหวันนะเขตของลาว
พื้นที่ชายแดนไทย-ลาว ในเขตจังหวัดอุบลราชธานีของไทยกับเมืองปากเซของลาว นับเป็นทำเลที่มีศักยภาพในการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศทั้งสอง รวมทั้งสามารถขยายขอบข่ายการพัฒนาเศรษฐกิจเชื่อมโยงกับประเทศกัมพูชาได้อีกด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวระหว่าง 3 ประเทศ การพัฒนาเส้นทางคมนาคมระหว่างประเทศ และการพัฒนาด้านการพลังงาน
ความสัมพันธ์ไทย - ลาว
ประเทศไทยและประเทศลาว เป็นเพื่อนบ้านใกล้ชิดที่มีความละม้ายคล้ายคลึงกันมากที่สุด ทั้งทางด้านเชื้อชาติ ศาสนา ภาษา วัฒนธรรมและขนบเนียมประเพณี ปัจจัยเหล่านี้น่าจะเป็นพื้นฐานสำคัญที่ช่วยประสานความร่วมมือระหว่างกันอย่างราบรื่นต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางการไทยมีนโยบายสำคัญประการหนึ่งที่มุ่งเน้นความร่วมมือทางเศรษฐกิจและสังคมกับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อพัฒนาประเทศให้เกิดความเจริญก้าวหน้าไปพร้อมๆ กัน
บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เห็นว่าการประชุมร่วมคณะรัฐมนตรีไทย-ลาว ระหว่างวันที่ 20-21 มีนาคม 2547 เป็นแนวทางหนึ่งที่จะช่วยผลักดันให้โครงการความร่วมมือระหว่างประเทศทั้งสองเกิดผลเป็นรูปธรรมอย่างจริงจัง และสร้างประโยชน์แก่คนไทยอีสานและประชาชนลาวอย่างเท่าเทียมกัน โครงการความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างไทยและลาวที่ควรเร่งรัดดำเนินการ สรุปได้ดังนี้
โครงการส่งเสริมการท่องเที่ยว "สามเหลี่ยมมรกต" พื้นที่ที่เรียกว่า "สามเหลี่ยมมรกต" เป็นดินแดนเชื่อมต่อระหว่าง 3 ประเทศ ได้แก่ ไทย ลาว และกัมพูชา ครอบคลุมอาณาเขตจังหวัดอุบลราชธานีและศรีสะเกษของไทย แขวงสะหวันนะเขตและอัตตะปือของลาว รวมทั้งจังหวัดพระวิหารและสตึงเตร็งของกัมพูชา ประเทศทั้งสามได้ตกลงกรอบความร่วมมือ "สามเหลี่ยมมรกต" เรียบร้อยแล้ว พื้นที่บริเวณนี้มีศักยภาพในการพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติเชิงอนุรักษ์ เพราะมีความงดงามของทิวทัศน์ภูเขา ป่าไม้ และธารน้ำตก รวมทั้งโบราณสถานเก่าแก่ต่างๆ การเปิดตัวแหล่งท่องเที่ยวแห่งนี้น่าจะเป็นจุดขายใหม่ที่สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติผู้ชื่นชอบธรรมชาติให้เดินทางมาเที่ยวชมทัศนียภาพของดินแดนรอยต่อสามประเทศ
ความร่วมมือในการส่งเสริมการท่องเที่ยว "สามเหลี่ยมมรกต" เป็นโครงการที่ประเทศไทย ลาว และกัมพูชา สามารถเร่งรัดให้เป็นรูปเป็นร่างได้อย่างรวดเร็ว โดยหารือกันเกี่ยวกับการจัดระเบียบการเดินทางผ่านเข้าออกระหว่างประเทศในเขต "สามเหลี่ยมมรกต" เพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยวต่างชาติ รวมทั้งปรับปรุงเส้นทางคมนาคมที่นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางไปยังสถานที่ท่องเที่ยวแห่งนี้อย่างไม่ยากลำบากนัก พร้อมทั้งเขื่อมโยงเครือข่ายการคมนาคมในเขต "สามเหลี่ยมมรกต" ระหว่างประเทศทั้งสามด้วย ทั้งนี้ จะต้องคำนึงถึงการรักษาสภาพแวดล้อมตามธรรมชาติอย่างเคร่งครัด
โครงการส่งเสริมการค้าชายแดนไทย-ลาว ลาวเป็นประเทศคู่ค้าชายแดนของไทย ที่ไทยส่งสินค้าออกไปขายมากเป็นอันดับ 2 รองจากมาเลเซีย การค้าชายแดนระหว่างไทยกับลาวมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องตามการพัฒนาทางเศรษฐกิจของลาว รวมทั้งการอาศัยลาวเป็นเส้นทางผ่านในการส่งออกสินค้าไทยผ่านแดนไปยังประเทศอื่นๆ เช่น มณฑลยูนนานทางตอนใต้ของจีน และเวียดนาม
การค้าชายแดนระหว่างไทยกับลาวมีมูลค่าการค้ารวม (ส่งออก+นำเข้า) เฉลี่ยราวปีละ 21,000 ล้านบาทในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา โดยไทยส่งสินค้าออกทางชายแดนไปยังลาวประมาณ 17,000 ล้านบาทต่อปีในช่วงระหว่างปี 2544-2546 ส่วนการนำเข้าสินค้าชายแดนจากลาวมีมูลค่าไม่มากนัก เฉลี่ยราว 4,300 ล้านบาทต่อปี ไทยเป็นฝ่ายเกินดุลการค้าชายแดนกับลาวประมาณ 12,700 ล้านบาทต่อปีในช่วงระยะเวลาเดียวกัน
จังหวัดชายแดนไทยที่ค้าขายทางชายแดนกับลาวรวมทั้งสิ้น 10 จังหวัด เรียงลำดับตามมูลค่าส่งออกชายแดนไปยังลาว อันดับ 1 ได้แก่ หนองคาย รองลงไป ได้แก่ มุกดาหาร อุบลราชธานี นครพนม เชียงราย เลย น่าน พะเยา และอุตรดิตถ์
สินค้าส่งออกชายแดนของไทยไปลาว ที่สำคัญ อาทิ เชื้อเพลิง สินค้าอุปโภค-บริโภค ยานพาหนะ-อุปกรณ์และชิ้นส่วน เครื่องใช้ไฟฟ้า สิ่งทอ วัสดุก่อสร้าง สินค้าอุตสาหกรรมเกษตร เหล็ก-เหล็กกล้า เครื่องจักรที่ไม่ใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบ เครื่องดื่ม เป็นต้น สำหรับสินค้าที่ไทยนำเข้าผ่านทางชายแดนจากลาว ได้แก่ ไม้แปรรูปและผลิตภัณฑ์ สินค้ากสิกรรม สินแร่ สิ่งทอ สินค้าประมงและปศุสัตว์ หนังและผลิตภัณฑ์เครื่องหนัง เป็นต้น
นอกเหนือจากการค้าขายสินค้าชายแดนตามปกติแล้ว ประเทศไทยและลาวมีข้อตกลงซื้อขายกระแสไฟฟ้าระหว่างกันด้วย เนื่องจากลาวมีโครงการก่อสร้างเขื่อนหลายโครงการเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานน้ำ เช่น เขื่อนน้ำเทิน 1 เขื่อนน้ำเทิน 2 เขื่อนน้ำงึม เป็นต้น กระแสไฟฟ้าที่ลาวผลิตได้ส่วนใหญ่ส่งมาขายให้แก่ไทย โดยไทยรับซื้อกระแสไฟฟ้าจากลาวเฉลี่ยราว 4,300 ล้านบาทต่อปีในช่วงระหว่างปี 2543-2546 นับว่าลาวเป็นแหล่งผลิตพลังงานกระแสไฟฟ้าสำรองให้แก่ไทยได้ส่วนหนึ่ง
โครงการส่งเสริมเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน ยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดชายแดนระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้านที่ควรริเริ่มผลักดันอย่างจริงจัง ก็คือ การจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน เพื่อกระจายความเจริญไปยังท้องถิ่นต่างๆ ของไทย ขณะเดียวกันจะช่วยกระตุ้นความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจให้แก่ประเทศเพื่อนบ้านของไทยด้วย โดยจูงใจให้นักลงทุนเข้าไปลงทุนผลิตสินค้าและบริการในเขตเศรษฐกิจชายแดน พื้นที่ชายแดนไทยที่มีศักยภาพในการดำเนินโครงการนำร่องดังกล่าว ได้แก่ อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงรายของไทย ซึ่งอยู่ติดกับเชียงของของลาว และสามารถขยายขอบข่ายความร่วมมือทางเศรษฐกิจไปยังประเทศพม่าและจีนตอนใต้
นอกจากนี้ ทางการไทยน่าจะเล็งเห็นลู่ทางในการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนในจังหวัดอื่นๆ เพิ่มเติม อาทิ จังหวัดมุกดาหารของไทย ซึ่งสามารถเดินทางเชื่อมต่อกับแขวงสะหวันนะเขตของลาว โดยผ่านทางสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 2 ที่กำลังลงมือก่อสร้าง คาดว่าสะพานแห่งใหม่นี้จะแล้วเสร็จภายในปี 2549 นับเป็นทำเลที่มีศักยภาพอีกแห่งหนึ่ง เนื่องจากพื้นที่ชายแดนไทย-ลาวดังกล่าว สามารถพัฒนาเป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่ง เพื่อเชื่อมโยงเครือข่ายการคมนาคมภายใต้โครงการพัฒนาเศรษฐกิจที่เรียกว่า East-West Corridor ระหว่างประเทศพม่า ประเทศไทย ลาว และเวียดนาม รวมทั้งสานต่อกับโครงการพัฒนาเศรษฐกิจ North-South Corridor ระหว่างจีนตอนใต้ ลาว ประเทศไทย และกัมพูชาต่อไป
เศรษฐกิจลาว 2547 : ส่งออกราบรื่น ท่องเที่ยวรุ่งเรือง
เศรษฐกิจของประเทศลาวฉายแววสดใสตลอด 4-5 ปีที่ผ่านมา หลังจากได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจ-การเงินเอเชียเมื่อปี 2540-2541 เศรษฐกิจลาวพื้นตัวขึ้นโดยมีอัตราขยายตัวเฉลี่ยประมาณ 6% ต่อปีในช่วงระหว่างปี 2542-2546 คาดการณ์ว่าในปี 2547 เศรษฐกิจลาวจะเติบโตในอัตรา 6.5% นับเป็นอัตราขยายตัวทางเศรษฐกิจที่สูงกว่าประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่มอินโดจีนด้วยกัน โดยเฉพาะกัมพูชาและพม่า ซึ่งคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวในอัตรา 5.5% และ 6.0% ตามลำดับ
ทางด้านอัตราเงินเฟ้อ ทางการลาวสามารถควบคุมอัตราเงินเฟ้อของประเทศให้ชะลอลงอยู่ในระดับเฉลี่ยต่ำกว่า 10% ต่อปีในช่วงระหว่างปี 2544-2546 คาดว่าในปี 2547 เงินเฟ้อของลาวจะอ่อนตัวลงแตะระดับ 7% นับเป็นอัตราเงินเฟ้อต่ำสุดในรอบ 10 ปี และเทียบกับระดับอัตราเงินเฟ้อที่เคยทำสถิติสูงกว่า 100% เมื่อปี 2541-2542
เศรษฐกิจลาวมีแนวโน้มแจ่มใสในปีนี้ เนื่องจากมีปัจจัยที่สนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจลาวหลายประการ ที่สำคัญ ได้แก่
การส่งออกกระเตื้อง สถานการณ์การส่งออกของลาวมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง คาดว่าในปีนี้การส่งออกของลาวจะเพิ่มขึ้นประมาณ 5.6% เทียบกับอัตราเติบโต 5.2% ในปี 2546 สินค้าส่งออกหลักของลาว ได้แก่ เสื้อผ้าสำเร็จรูป ผลิตภัณฑ์จากไม้ กาแฟ สินแร่ประเภทดีบุกและยิปซัม รวมทั้งกระแสไฟฟ้าที่ส่งมาขายให้แก่ประเทศไทย
ประเทศที่ลาวส่งสินค้าออกไปจำหน่าย ส่วนใหญ่ ได้แก่ ประเทศเพื่อนบ้านแถบเอเชีย โดยเฉพาะกลุ่มอาเซียน เช่น ประเทศไทย เวียดนาม รวมทั้งประเทศจีน ซึ่งสถานการณ์เศรษฐกิจทั่วไปของประเทศเหล่านี้ฟื้นตัวดีขึ้นในรอบปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ความต้องการซื้อสินค้าและบริการขยับสูงขึ้นตามไปด้วย เป็นผลดีต่อการส่งสินค้าออกของลาวไปขายยังตลาดเพื่อนบ้าน ยิ่งไปกว่านั้น การส่งออกของลาวไปยังสหภาพยุโรป (EU) ขยายตัวรวดเร็วในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากลาวได้รับโควตาส่งออกสินค้าจำพวกสิ่งทอและเสื้อผ้าสำเร็จรูปไปยังประเทศในกลุ่มนี้ กลุ่ม EU จึงนับเป็นตลาดส่งออกสำคัญของลาวอีกแห่งหนึ่งในขณะนี้ และส่งผลเกื้อหนุนการส่งออกโดยรวมของลาว
การท่องเที่ยวสดใส ประเทศลาวมีความได้เปรียบในด้านสถานที่ท่องเที่ยวที่มีความงดงามทางธรรมชาติ และโบราณสถานเก่าแก่ที่ได้รับการอนุรักษ์ให้เป็นมรดกโลก ตลอดจนวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนลาวที่ยังคงยึดถือขนบธรรมเนียมประเพณีพื้นบ้านดั้งเดิม ทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติ ทั้งชาวตะวันตกและชาวเอเชีย สนใจเดินทางไปเที่ยวชม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมืองหลวงพระบาง -- เมืองมรดกโลก ทุ่งไหหิน ปราสาทวัดภู ในแขวงจำปาสัก รวมทั้งน้ำตกคอนพะเพ็ง และน้ำตกหลี่ผี ซึ่งเป็นน้ำตกที่มีความสวยงามและมีชื่อเสียงเลื่องลือในหมู่นักท่องเที่ยวต่างชาติที่สนใจเยี่ยมชมความงดงามของธรรมชาติ
สถานการณ์การท่องเที่ยวของลาวที่กระเตื้องดีขึ้น ส่งผลดีต่อธุรกิจบริการของประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าภาคบริการของลาวจะขยายตัวในอัตราประมาณ 6.8% ในปี 2547 เทียบกับปี 2546 ซึ่งประมาณการว่าธุรกิจบริการของลาวมีอัตราเพิ่มราว 5.5% ธุรกิจบริการของลาวมีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจลาว คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 1 ใน 4 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP)
ธุรกิจท่องเที่ยวของลาวที่แจ่มใส ประกอบกับการส่งออกของลาวที่ฟื้นตัวขึ้น ช่วยเพิ่มพูนรายได้ในรูปเงินตราต่างประเทศ ส่งผลให้ฐานะทุนสำรองเงินตราต่างประเทศของลาวแข็งแกร่งขึ้น โดยประมาณว่าจะมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ณ สิ้นปี 2546 หรือเทียบเท่ากับมูลค่านำเข้าสินค้าราว 3.5 เดือน
ผลผลิตทางการเกษตรกระเตื้อง การเพาะปลูกพืชผลทางการเกษตรของลาวได้รับผลดีจากภูมิอากาศที่เอื้ออำนวย ทำให้สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้เพิ่มขึ้นในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา สินค้าเกษตรที่สำคัญของลาว อาทิ กาแฟ ข้าวโพด มันฝรั่ง ใบยาสูบ ใบชา อ้อย ข้าว ฝ้าย ฯลฯ รวมทั้งการเพาะเลี้ยงปศุสัตว์ เช่น สุกร โค กระบือ เป็ด ไก่ เป็นต้น คาดการณ์ว่าภาคเกษตรกรรมของลาวจะขยายตัวต่อเนื่องในอัตราประมาณ 4.3% ในปี 2547 ใกล้เคียงกับตัวเลขประมาณการอัตราเพิ่ม 4.2% ในปี 2546 ภาคการเกษตรของลาวมีบทบาทสำคัญที่สุดต่อเศรษฐกิจลาว คิดเป็นสัดส่วนประมาณครึ่งหนึ่งของ GDP
การผลิตสินค้าอุตสาหกรรมเติบโตต่อเนื่อง ภาคอุตสาหกรรมมีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจลาว คิดเป็นสัดส่วนราว 1 ใน 4 ของ GDP ของประเทศ ใกล้เคียงกับสัดส่วนดังกล่าวของภาคบริการ การผลิตสินค้าอุตสาหกรรมของลาวได้รับอานิสงส์จากการที่ประเทศยุโรปจัดสรรโควตาสิ่งทอและเสื้อผ้าสำเร็จรูปให้แก่ลาว ทำให้ลาวมีช่องทางส่งออกสินค้าไปยังตลาดแห่งนี้ได้เพิ่มขึ้น คาดการณ์ว่าภาคอุตสาหกรรมของลาวจะสามารถรักษาอัตราเติบโตในระดับราว 10.5% ในปี 2547 เทียบกับตัวเลขประมาณการอัตราขยายตัว 10.2% ในปี 2546
ในช่วงที่ผ่านมา การผลิตสินค้าอุตสาหกรรมของลาวค่อนข้างอยู่ในวงจำกัด เนื่องจากกำลังแรงงานและวัตถุดิบของลาวมีจำนวนไม่มากนัก การผลิตสินค้าอุตสาหกรรมของลาวกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มสิ่งทอและเสื้อผ้าสำเร็จรูป เพราะเป็นสินค้าที่ได้รับโควตาส่งออกไปยังประเทศแถบยุโรป สำหรับสินค้าอุตสาหกรรมประเภทอื่นๆ ที่ลาวมีศักยภาพในการผลิต อาทิ ผลิตภัณฑ์ไม้แปรรูป เพราะลาวยังคงมีทรัพยากรป่าไม้ที่ค่อนข้างสมบูรณ์ ซึ่งสามารถแบ่งสรรมาใช้ประโยชน์ในการพาณิชย์ได้ส่วนหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม พื้นฐานทางเศรษฐกิจโดยรวมของลาวยังไม่มั่นคงแข็งแรงนัก เนื่องจากลาวเป็นประเทศขนาดเล็ก ประกอบด้วยประชากรประมาณ 5.5 ล้านคน ประเทศลาวจึงจำเป็นต้องพึ่งพาประเทศอื่นๆ ทั้งทางด้านการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว และเม็ดเงินช่วยเหลือจากต่างประเทศ ทำให้เศรษฐกิจลาวมักผันผวนตามกระแสการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจภายในภูมิภาคเอเชียและภาวะเศรษฐกิจโลก การประกอบธุรกิจแขนงต่างๆ ของลาวจะต้องได้รับการพัฒนา โดยนำวิทยาการสมัยใหม่มาประยุกต์ใช้อย่างเหมาะสมและก่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ขณะเดียวกันลาวจำเป็นต้องปฏิรูปธุรกิจการเงินการธนาคารอย่างเร่งด่วน เพื่อเสริมสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจของประเทศให้แข็งแกร่งขึ้น และสร้างความน่าเชื่อถือในแวดวงการเงินระหว่างประเทศ
ในช่วงที่ผ่านมา ภาคธุรกิจการเงินการธนาคารของลาวค่อนข้างเปราะบาง ธนาคารพาณิชย์ของรัฐ 4 แห่ง กุมอำนาจในการประกอบธุรกิจธนาคารของประเทศ โดยธนาคารพาณิชย์ของรัฐดังกล่าวครอบครองสินทรัพย์ประมาณ 70% ของสินทรัพย์ธนาคารทั้งระบบ ธนาคารของรัฐเหล่านี้ปล่อยสินเชื่อแก่วิสาหกิจต่างๆ ของลาวค่อนข้างหละหลวม วิสาหกิจของลาวส่วนใหญ่ไม่มีประสิทธิภาพในการดำเนินงานเท่าที่ควร ส่งผลให้หนี้สินจำนวนมากกลายเป็นหนี้ด้อยคุณภาพ (NPL) ก้อนโต และเป็นปัญหาเรื้อรังของระบบธนาคารลาวในขณะนี้ ภารกิจขนานใหญ่ของทางการลาว ก็คือ การผ่าตัดโครงสร้างการประกอบกิจการของบรรดารัฐวิสาหกิจ และยกเครื่องการทำงานของธนาคารพาณิชย์ของรัฐ โดยยึดหลักการประกอบธุรกิจเชิงพาณิชย์และมุ่งหวังผลกำไรในการดำเนินงาน เพื่อให้การปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ของรัฐรัดกุมยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันวิสาหกิจต่างๆ ของลาว ต้องเรียนรู้การประกอบกิจการตามกลไกตลาด ลดการพึ่งพาสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์ของรัฐ และจะต้องสามารถยืนอยู่บนลำแข้งของตนเองได้
ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลลาวจึงเห็นความจำเป็นที่จะต้องกระชับความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อช่วยเหลือเกื้อกูลกัน รวมถึงการถ่ายทอดวิทยาการความรู้และเทคโนโลยีด้านต่างๆ ซึ่งจะเสริมความเข้มแข็งแก่ประเทศลาวอย่างถาวรต่อไป
การที่เศรษฐกิจลาวเข้มแข็งเป็นลำดับ นับเป็นสัญญาณที่ดีสำหรับประชาชนลาว 5.5 ล้านคน และประเทศลุ่มแม่น้ำโขงโดยรวม เนื่องจากประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้านอินโดจีน รวมทั้งจีนตอนใต้ มีจุดประสงค์ร่วมกันในการพัฒนาประเทศให้มีความเจริญก้าวหน้ามั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคม รัฐบาลไทยดำเนินนโยบายประสานความสัมพันธ์อันดีกับประเทศเพื่อนบ้านมาโดยตลอด และมีการเยี่ยมเยือนระหว่างผู้นำรัฐบาลซึ่งกันและกัน รวมถึงมีการจัดประชุมคณะรัฐมนตรีร่วมระหว่างประเทศเพื่อนบ้านอินโดจีนเป็นระยะ เพื่อให้เกิดความสนิทสนมและความไว้วางใจกัน เป็นพื้นฐานที่จะนำไปสู่ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอย่างเป็นรูปธรรม และสร้างเสถียรภาพในดินแดนแห่งนี้--จบ--
-นท-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ