กรุงเทพฯ--3 ก.พ.--เมืองไทยประกันภัย
“เมืองไทย...เมืองยิ้ม” ด้วยปณิธานความมุ่งมั่นทุ่มเทของภาครัฐ ภาคเอกชน และเหล่าอาสาสมัครแพทย์ พยาบาลไทย และนานาชาติ จึงก่อให้เกิดพลังความร่วมมือที่ยิ่งใหญ่ที่จะคืนรอยยิ้มให้กับพี่น้องคนไทย ด้วยโครงการอาสาสมัครแพทย์ พยาบาลไทย และนานาชาติ เฉลิมพระเกียรติแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เปิดศูนย์รักษา และผ่าตัดประชาชนผู้ยากไร้และด้อยโอกาส ทุพพลภาพ และพิการ “ปาก — จมูกแหว่ง” โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เพราะพวกเราต้องการที่จะเห็นคนไทยยิ้มได้เต็มที่ ตลอด 365 วัน
นายแพทย์สมชาย กุลวัฒนาพร กรรมการบริหารสมาคมแพทย์ไทยในสหรัฐอเมริกา ประธานโครงการร่วมฯ ฝ่ายสหรัฐอเมริกา กล่าวว่า เนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงเจริญพระชนมายุครบ 84 พรรษา ในปีพุทธศักราช 2554 และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ จะทรงเจริญพระชนมายุครบ 80 พรรษา ในปีพุทธศักราช 2555 คณะแพทย์พยาบาลไทยจากสหรัฐอเมริกา จึงได้ร่วมมือกับอาสาสมัครแพทย์พยาบาลนานาชาติ ในสหรัฐอเมริกาจำนวนกว่า 60 ท่าน ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการผ่าตัดศัลยกรรมจากมหาวิทยาลัยแพทย์ต่างๆ อาทิ มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย มหาวิทยาลัยอัลเบิร์ต ไอสไตน์ มหาวิทยาลัยนิวยอร์ก และมหาวิทยาลัยคอร์แนล จัดโครงการนี้ขึ้นสืบเนื่องติดต่อกันเป็นปีที่ 3 เพื่อหวังที่จะได้มีโอกาสช่วยเหลือพี่น้องคนไทย ผู้ยากไร้และด้อยโอกาสที่ทุพพลภาพ และพิการ “ปาก — จมูกแหว่ง” โดยเฉพาะในท้องถิ่นทุรกันดาร โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายรักษาพยาบาลแต่อย่างใด เพื่อหวังที่จะตามรอยเบื้องพระยุคลบาทของทั้งสองพระองค์ และได้มีโอกาสทำประโยชน์แก่พี่น้องคนไทย และแผ่นดินเกิด ด้วยความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้
นพ.สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ประธานโครงการร่วมฯ ฝ่ายไทย (ภาครัฐ) กล่าวว่า การจัดดำเนินโครงการฯ ครั้งนี้ จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 6 — 12 กุมภาพันธ์ 2555 นี้ โดยจัดขึ้นพร้อมกัน ณ ศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ จ.นครนายก และโรงพยาบาลชลประทาน (ปากเกร็ด จ.นนทบุรี) คาดว่าจะมีผู้ป่วยที่เป็นผู้ยากไร้และด้อยโอกาสที่ทุพพลภาพ และพิการ “ปาก — จมูกแหว่ง” เข้ารับการรักษาจำนวนกว่า 200 คน ซึ่งตลอดการดำเนินงานครั้งนี้นอกจากจะได้รับการสนับสนุนด้านสถานที่ อุปกรณ์และบุคลากรจากโรงพยาบาลต่างๆ ที่ร่วมโครงการแล้ว ยังได้รับการสนับสนุนด้านอื่นๆ อาทิ ด้านการประชาสัมพันธ์ ด้านการเดินทาง ด้านที่พัก และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ตลอดโครงการ จากรัฐบาลและภาคเอกชน เช่น กระทรวงสาธารณสุข กรุงเทพมหานคร สำนักงานประกันสังคมแห่งชาติ สภากาชาดไทย มูลนิธิตะวันฉาย คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และบริษัท เมืองไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน)
นางนวลพรรณ ล่ำซำ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เมืองไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน) ประธานโครงการร่วมฯ ฝ่ายไทย (ภาคเอกชน) กล่าวว่า ด้วยกระแสการตอบรับและความสำเร็จจากการจัดโครงการ “อาสาสมัครแพทย์พยาบาลไทยและนานาชาติ” เฉลิมพระเกียรติฯ เมื่อปี 2550 และ 2552 ซึ่งครั้งนี้ถือเป็นครั้งที่ 3 ที่บริษัทฯ ได้เข้ามามีส่วนร่วมในฐานะภาคเอกชนรายแรก และรายเดียว ในการทำประโยชน์เพื่อพี่น้องคนไทยที่ยากไร้ และลำบากจากความเจ็บป่วย และพิการจากอาการปากแหว่งเพดานโหว่ โดยบริษัทฯ ได้รับหน้าที่ในการดูแลด้านที่พักสำหรับคณะแพทย์ทั้งหมด ตลอดจนสำหรับผู้ป่วยและญาติที่ผ่านการคัดเลือกมาจากทั่วประเทศ พร้อมอาหาร 3 มื้อสำหรับทุกคน และด้วยความตระหนักดีถึงความยากลำบากในการเดินทางของผู้ที่จะเข้าร่วมโครงการ เราจึงจัดเจ้าหน้าที่และรถรับ — ส่ง ถึงภูมิลำเนาตลอดโครงการฯ ซึ่งดิฉันหวังอย่างยิ่งว่า โครงการนี้ จะทำให้พี่น้องคนไทยในถิ่นทุรกันดารได้รับโอกาสที่จะได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เพื่อที่จะได้สามารถดูแลช่วยเหลือตนเอง ครอบครัว ตลอดจนทำประโยชน์เพื่อประเทศชาติต่อไปในอนาคต ต้องขอขอบคุณทุกๆ ฝ่ายที่มีส่วนร่วมในการแบ่งปันรอยยิ้มครั้งนี้ด้วยกัน
ศ.นพ.วุฒิชัย ธนาพงศธร คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ กล่าวว่า ผมรู้สึกยินดี และเป็นเกียรติที่โรงพยาบาลศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นโรงพยาบาลหลักในการให้ผ่าตัดรักษาคนไข้ของโครงการนี้ ซึ่งเราได้เตรียมสถานที่ห้องผ่าตัด และสถานที่รองรับผู้ป่วย ไว้อย่างพร้อมเพรียง พร้อมกับมีแพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่กว่า 30 ท่าน ที่จะคอยทำหน้าที่สนับสนุนการทำงานของคณะแพทย์จากสหรัฐอเมริกา ซึ่งนอกจากจะก่อให้เกิดประโยชน์แก่คนไข้ชาวไทยที่ต้องการผ่าตัดโรคปากแหว่ง เพดานโหว่ แล้วยังเป็นโอกาสที่ดีสำหรับให้คณะแพทย์ พยาบาล ทั้งจากสหรัฐอเมริกา และประเทศไทย ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนประสบการณ์และความรู้ทางวิชาการ และเทคนิคใหม่ๆ ให้ซึ่งกันและกันอีกด้วย
นพ.สมดี รัตนาวิบูลย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลชลประทาน กล่าวว่า การเปิดศูนย์รักษาผู้ป่วย ในโครงการฯ ครั้งนี้ ถือเป็นเกียรติของโรงพยาบาลชลประทาน เพราะนอกจากจะได้ช่วยเหลือผู้ป่วยยากไร้ ให้ได้รับการรักษาพยาบาลอย่างดีแล้ว ยังได้มีโอกาสครั้งสำคัญในการร่วมเทิดพระเกียรติแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ โดยในการทำงานครั้งนี้ทางโรงพยาบาลชลประทานได้เตรียมห้องผ่าตัด และอุปกรณ์ พร้อมเจ้าหน้าที่ แพทย์ พยาบาล รวมกว่า 20 ท่าน เพื่อให้สนับสนุนการทำงานร่วมกับคณะแพทย์ที่มาจากสหรัฐอเมริกา ตลอดโครงการฯ ซึ่งเชื่อว่าการทำงานครั้งนี้จะบรรลุเป้าหมายตามที่คณะผู้ร่วมจัดดำเนินโครงการตั้งใจไว้ทุกประการ