“รับมือภัยพิบัติ จัดการภัยสุขภาวะ” สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๔ ออกตัวโดยพร้อมเพรียง

ข่าวทั่วไป Friday February 3, 2012 14:08 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--3 ก.พ.--คจ.สช. คณะกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (คจ.สช.) สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) พร้อมเครือข่ายสมัชชาสุขภาพกว่า ๒๐๐ กลุ่มทั่วประเทศ ร่วมเปิดการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๔ พ.ศ.๒๕๕๔ ระหว่างวันที่ ๒-๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๕ เพื่อพิจารณา ๖ ร่างมติ และติดตามดอกผลจาก ๘ มติขาเคลื่อน พร้อมเสริมช่องทางการสื่อสารจากภาคประชาชนผ่าน “สมัชชาทางอากาศ” ของเครือข่ายวิทยุชุมชนทุกภูมิภาค กว่า ๑๖๐ สถานี คณะกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (คจ.สช.) โดย รองศาสตราจารย์ ดร.ชื่นฤทัย กาญจนะจิตรา ประธานกรรมการ คจ.สช. นำแถลงข่าวเปิดการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๔ พ.ศ.๒๕๕๔ ณ ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ กรุงเทพฯ ระบุสมัชชาสุขภาพแห่งชาติไม่ใช่เกิดขึ้นเพียงสามวันนี้ แต่เป็นกระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนเกือบทุกขั้นตอนของการพัฒนานโยบายสาธารณะ ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่เดือนมกราคม ๒๕๕๔ ที่มีการเสนอประเด็นเข้ามายัง คจ.สช. เพื่อพิจารณา โดยครั้งนี้มีร่างระเบียบวาระที่ผ่านการพิจารณารวมทั้งสิ้น ๖ เรื่อง ได้แก่ ๑.การจัดการปัญหาโฆษณายาและผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมายทางวิทยุท้องถิ่น เคเบิ้ลทีวี โทรทัศน์ ดาวเทียม และอินเตอร์เน็ต ๒.ความปลอดภัยทางอาหาร : การจัดการน้ำมันทอดซ้ำเสื่อมสภาพ ๓.การเข้าถึงบริการอาชีวอนามัยเพื่อสุขภาพและความปลอดภัยของคนทำงานในภาคอุตสาหกรรมและบริการ ๔.การจัดการภัยพิบัติธรรมชาติโดยชุมชนท้องถิ่นเป็นศูนย์กลาง ๕.การบริหารจัดการทรัพยากรลุ่มน้ำขนาดเล็กอย่างยั่งยืน โดยกระบวนการมีส่วนร่วมของเครือข่ายและภาคีทุกภาคส่วน และ ๖.การจัดการปัญหาฆ่าตัวตาย (สุขใจ...ไม่คิดสั้น) “ภาคีเครือข่ายที่เข้ามาร่วมกระบวนการสมัชชาสุขภาพครั้งนี้ มีทั้งสิ้น ๒๐๖ ภาคีเครือข่าย โดยเสนอเข้ามา ๘๑ ประเด็น ซึ่ง คจ.สช. ได้พิจารณาคัดเลือกเหลือ ๖ ประเด็น โดยกรรมการมีเกณฑ์ ๔ ข้อในการพิจารณาคือ ต้องเป็นประเด็นที่มีความสำคัญ อยู่ในความสนใจของสาธารณะ และน่าจะมีผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน รวมทั้งเป็นไปได้ที่จะนำไปปฏิบัติ” รองศาสตราจารย์ ดร.ชื่นฤทัย กล่าว นายแพทย์สุรพจน์ สุวรรณพานิช รองประธาน คจ.สช. และประธานอนุกรรมการวิชาการ กล่าวเสริมว่า “ประเด็นทั้งหกเรื่องดังกล่าว ถือว่าเป็นประเด็นที่มาจากรากหญ้า จากภาคประชาชน และอยู่ในความสนใจอย่างมากของสาธารณะด้วย พอ คจ.สช.พิจารณาคัดเลือกมาแล้วก็จะเชิญภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนั้นมาให้ความเห็นประกอบกับความเห็นจากเวทีรับฟังทั่วประเทศ เพราะเราอยากให้การตัดสินใจใด ๆ อยู่บนพื้นฐานของความรู้ความเข้าใจและมีหลักฐานประกอบ นอกจากนี้ยังมีคณะทำงานวิชาการเฉพาะประเด็นช่วยพี่น้องของเราตรวจดูความถูกต้องเหมาะสม มีข้อมูลสนับสนุน จัดทำเป็นเอกสารหลัก ส่วนความต้องการต่าง ๆ จะเป็นเอกสารร่างมติ ซึ่งจะนำมาให้สมาชิกพิจารณาอีกครั้งในการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติตลอดสามวันนี้” ด้านนางกรรณิการ์ บรรเทิงจิตร รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวถึงกิจกรรมภายหลังจากที่ร่างระเบียบวาระทั้งหกเรื่องผ่านความเห็นชอบอย่างเป็นฉันทามติจากที่ประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติแล้ว “ทุกมติจะได้รับการรวบรวมเพื่อนำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการ เพื่อรับทราบ ส่วนประเด็นไหนที่สำคัญมาก ๆ คณะกรรมการจะมาพิจารณาว่าควรนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีหรือไม่ “อย่างไรก็ตาม มติเหล่านี้ ไม่จำเป็นต้องรอให้ผ่านความเห็นชอบจาก ครม. สมาชิกสมัชชาสุขภาพสามารถนำไปปฏิบัติได้เลยในพื้นที่ของตน ชุมชนของตน หรือร่วมมือกับองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในการปฏิบัติตามมติ ถือเป็นพลังทางสังคมที่ผลักดันให้มติเกิดผลเป็นรูปธรรม ซึ่งเป็นคุณค่าของสมัชชาสุขภาพ” นอกจากหกร่างระเบียบวาระดังกล่าว สมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งนี้ ยังมีการรายงานผลการดำเนินงานตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติของปีที่ผ่านมา ซึ่งปีนี้มี ๘ เรื่อง ได้แก่ ๑.ยุติการส่งเสริมการขายยาที่ขาดจริยธรรม : เพื่อลดความสูญเสียทางเศรษฐกิจและสุขภาพของผู้ป่วย ๒.ยุทธศาสตร์นโยบายแอลกอฮอล์ระดับชาติ ๓.โรคติดต่ออุบัติใหม่ ๔.การพัฒนาการแพทย์แผนไทย การแพทย์พื้นบ้าน และการแพทย์ทางเลือก ให้เป็นระบบบริการสุขภาพหลักของประเทศ คู่ขนานกับการแพทย์แผนปัจจุบัน ๕.การจัดการปัญหาภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วน ๖.การพัฒนาระบบการดูแลระยะยาวสำหรับผู้สูงอายุที่อยู่ในภาวะพึ่งพิง ๗.มาตรการทำให้สังคมไทยไร้แร่ใยหิน ๘.การป้องกันผลกระทบต่อสุขภาวะและสังคมจากการค้าเสรีระหว่างประเทศ การประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งนี้ ยังได้รับความร่วมมือจากเครือข่ายวิทยุชุมชนทั่วประเทศไทยกว่า ๑๖๐ สถานี เข้ามาร่วมสื่อสารประชาสัมพันธ์ที่เรียกว่า “สมัชชาทางอากาศ” โดยนายชัยวุฒิ เกิดชื่น คณะทำงานพัฒนาเครือข่ายสื่อชุมชนเพื่อการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วม ได้ชี้เป้าหมายของความร่วมมือครั้งนี้เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนต่อประเด็นต่าง ๆ และการเรียนรู้กระบวนการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพ “วันนี้ถือเป็นวันประวัติศาสตร์ที่สถานี HealthStation และเครือข่ายวิทยุชุมชนได้มาร่วมกันออกแบบกระบวนการทำงานสื่อสารที่เชื่อมโยงระหว่างโทรทัศน์ วิทยุ และสื่อออนไลน์ เข้าด้วยกัน และหลังจากนี้อีกสามเดือน เครือข่ายสมัชชาทางอากาศจะต้องมีกิจกรรมร่วมกันผ่านการออกอากาศ เช่น การใช้สื่อวิทยุรายงานผลการติดตามมติไปยังส่วนกลางซึ่งจะเก็บข้อมูลจากเครือข่ายสื่อวิทยุชุมชนทั่วประเทศ รวมทั้งยังรายงานผลดังกล่าวในช่วงข่าวต้นชั่วโมงด้วย” ถึงเวลาแล้วที่ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกัน สานพลังปัญญา ความรู้ และพลังเครือข่าย โดยใช้กระบวนการสมัชชาสุขภาพเพื่อรับมือกับภัยทุกชนิดและจัดการกับปัญหาร่วมของทุกฝ่ายด้วยบรรยากาศของการให้ความเป็นกัลยาณมิตรต่อกัน ติดตามความเคลื่อนไหวสมัชชาสุขภาพแห่งชาติได้ทาง www.samatcha.org ติดตามชมการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติได้ทาง www.healthstation.in.th ประสานงาน สำนักการสื่อสารทางสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ นายเอกชัย เอื้อธารพิสิฐ (เอก) ๐๘๑ ๕๕๖ ๕๒๖๙ นางสาวสุรีย์พร สื่อสกุล (ตุ้ย) ๐๘๑ ๙๐๒ ๕๙๔๘
แท็ก ภัยพิบัติ  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ