กรุงเทพฯ--3 ก.พ.--ดีซี คอนซัลแทนส์ แอนด์ มาร์เก็ตติ้ง คอมมูนิเคชั่นส์
สสวท. ร่วมกับ สพฐ. ดันเด็กไทยเทียบชั้นต่างชาติ ผนึกสถาบันคีนันแห่งเอเซีย และ Teachers College แห่ง ม.โคลัมเบีย ลุยปรับปรุงมาตรฐานหลักสูตรวิทยาศาสตร์และ คณิตศาสตร์
สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สถาบันคีนันแห่งเอเซีย และ Teachers College แห่งมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย สหรัฐอเมริกา เดินหน้าจัดทำกรอบ มาตรฐานหลักสูตรวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ที่เหมาะสม ชัดเจน สอดคล้องกับการจัดการ เรียนรู้และการวัดประเมินผล เพื่อยกระดับคุณภาพการจัดการศึกษาวิทยาศาสตร์และ คณิตศาสตร์ หวังเพิ่มประสิทธิภาพการเรียนการสอน และส่งเสริมให้เด็กไทยมีขีดความสามารถในการแข่งขันสูงขึ้นทัดเทียมนานาชาติ
ดร. พรพรรณ ไวทยางกูร ผู้อำนวยการ สสวท. เปิดเผยว่า ทิศทางการพัฒนาประเทศให้ แข่งขันได้ในระบบเศรษฐกิจไร้พรมแดน ส่งผลให้เกิดความต้องการหลักสูตรวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ที่เน้นเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับเยาวชน ไม่ว่าจะศึกษาต่อหรือประกอบ อาชีพ สสวท. จึงได้ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สถาบันคีนันแห่งเอเซีย และ Teachers College แห่งมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ทำการสรรหาผู้ทรงคุณวุฒิจากทั้งในและต่างประเทศ เพื่อจัดทำต้นร่างมาตรฐาน ตัวชี้วัด และสาระการเรียนรู้ กลุ่มสาระวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ที่ทันสมัย มีมาตรฐานทัดเทียมนานาชาติ เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของกระทรวงศึกษาธิการ ในการปรับปรุงหลักสูตรในรอบต่อไปได้อย่างมีคุณภาพและทันท่วงที
ดร. เบญจลัษณ์ น้ำฟ้า รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า สพฐ. สนับสนุนแนวคิดของ สสวท. ในการจัดทำมาตรฐานหลักสูตรทั้งในฉบับภาษาไทยและ ภาษาอังกฤษ เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้เชี่ยวชาญและองค์กรจากนานาประเทศได้เข้ามาแลกเปลี่ยน ความคิด และนำไปสู่การพัฒนาสื่อและเอกสารการสอนต่างๆ ให้ได้มาตรฐานสากล สอดรับกับประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 1 การปรับตัวเข้าสู่ประชาคมอาเซียน / ประชาคมโลก ในแผนยุทธศาสตร์การจัดการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ปีงบประมาณ 2555 ของกระทรวงศึกษาธิการ
ด้าน ดร. ปิยะบุตร ชลวิจารณ์ รองประธานกรรมการ สถาบันคีนันแห่งเอเซีย กล่าวว่า ความร่วมมือดังกล่าวเป็นจุดเริ่มต้นในการประสานความเชี่ยวชาญจาก 4 องค์กรเพื่อวิจัยและพัฒนาหลักสูตรวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ที่ถูกต้อง ครบถ้วน ชัดเจน ปฏิบัติได้จริง เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมและความต้องการในการพัฒนาของไทย ทั้งนี้ สหรัฐและไทยต่างกำหนดมาตรฐานการเรียนรู้เพื่อเป็นแนวทางสำหรับการพัฒนาหลักสูตรของตน
“ทั้งนี้ จากการจัดลำดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศทั่วโลก ประเทศไทยรั้งท้าย ในด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทั้งด้านกายภาพและความสามารถของทรัพยากรมนุษย์ของประเทศ โดยอยู่ที่ลำดับที่ 47 จาก 59 ประเทศ โดยเฉพาะการศึกษา เทคโนโลยี วิทยาศาสตร์ สาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม ซึ่งวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ถือเป็นหัวใจสำคัญของการวางรากฐานความเจริญของประเทศด้วยการพัฒนาคนให้มีความมั่นคงทางเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม” ดร. ปิยะบุตร กล่าว
นายทอมัส คอคอแรน รองประธานฝ่ายกิจการต่างประเทศ Teachers College แห่ง มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย กล่าวว่า รู้สึกเป็นเกียรติและยินดีอย่างยิ่งที่ได้เข้าร่วมโครงการนี้ เพราะเป็นโครงการที่จะสร้างประโยชน์มหาศาลต่อวงการการศึกษาทั้งของไทยและสหรัฐอเมริกา เนื่องจากมีการเชิญผู้ทรงคุณวุฒิจากหลากหลายสถาบันมาร่วมกันทำงาน เพื่อนำไปสู่การปรับปรุงหลักสูตรการเรียนการสอนวิชาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ให้ทันสมัย เป็นสากล สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ตอบสนองต่อความต้องการของทิศทางการพัฒนาประเทศให้แข่งขันได้ในระบบเศรษฐกิจไร้พรมแดนในปัจจุบันได้
“โครงการนี้จึงประยุกต์เกณฑ์การประเมินมาตรฐานการเรียนรู้ของสหรัฐมาปรับใช้ใน การทบทวนมาตรฐานการเรียนรู้ของไทย ซึ่งประมวลได้ดังนี้ คือ 1) เน้นเนื้อหาหลักสำคัญ 2) ความสอดคล้อง 3) ความชัดเจนและความเฉพาะเจาะจง 4) การใช้ประโยชน์ 5) การวัดผล 6) สมรรถนะการเรียนรู้ที่คาดหวัง 7) ลำดับขั้นของพัฒนาการเรียนรู้ 8) ความเข้ม 9) การจัดสรรเวลา10) การบูรณาการระหว่างวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์” นายทอมัส กล่าว