สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๔ เริ่มแล้ว พร้อมเพรียงกัน “รับมือภัยพิบัติ จัดการภัยสุขภาวะ”

ข่าวทั่วไป Friday February 3, 2012 14:29 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--3 ก.พ.--สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ คณะกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (คจ.สช.) สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) พร้อมเครือข่ายสมัชชาสุขภาพกว่า ๒๐๐ กลุ่มทั่วประเทศ ร่วมเปิดการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๔ พ.ศ.๒๕๕๔ ระหว่างวันที่ ๒-๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๕ ณ ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ กรุงเทพฯ ทั้งนี้ เพื่อพิจารณา ๖ ร่างมติ และติดตาม ๘ มติขาเคลื่อน เน้นการจัดการภัยพิบัติธรรมชาติโดยท้องถิ่นเป็นฐาน พร้อมเสริมช่องทางการสื่อสารภาคประชาชนโดยเครือข่ายวิทยุชุมชนจากทุกภูมิภาคกว่า ๑๖๐ สถานี คณะกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (คจ.สช.) โดย รองศาสตราจารย์ ดร.ชื่นฤทัย กาญจนะจิตรา ประธานกรรมการ คจ.สช. แถลงข่าวเปิดการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๔ พ.ศ.๒๕๕๔ โดยมีร่างระเบียบวาระเพื่อพิจารณารวมทั้งสิ้น ๖ เรื่อง ซึ่งคัดกรองจากร่างข้อเสนอของ ๒๐๖ กลุ่มเครือข่ายทั่วประเทศ กว่า ๑,๕๐๐ คน ที่เสนอเข้ามายังคณะกรรมการ ทั้งหกร่างระเบียบวาระดังกล่าว ได้แก่ ๑.การจัดการปัญหาโฆษณายาและผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมายทางวิทยุท้องถิ่น เคเบิ้ลทีวี โทรทัศน์ ดาวเทียม และอินเตอร์เน็ต ๒.ความปลอดภัยทางอาหาร : การจัดการน้ำมันทอดซ้ำเสื่อมสภาพ ๓.การเข้าถึงบริการอาชีวอนามัยเพื่อสุขภาพและความปลอดภัยของคนทำงานในภาคอุตสาหกรรมและบริการ ๔.การจัดการภัยพิบัติธรรมชาติโดยชุมชนท้องถิ่นเป็นศูนย์กลาง ๕.การบริหารจัดการทรัพยากรลุ่มน้ำขนาดเล็กอย่างยั่งยืน โดยกระบวนการมีส่วนร่วมของเครือข่ายและภาคีทุกภาคส่วน และ ๖.การจัดการปัญหาฆ่าตัวตาย (สุขใจ...ไม่คิดสั้น) “ประเด็นที่เราคุยมาจากการประชุมสมัชชาแห่งชาติ ซึ่งมีกระบวนการจากการนำเสนอจากภาคส่วนต่างๆ เราประกาศให้ภาคส่วนต่างๆเสนอประเด็นเข้ามา จากภาคีเครือข่าย 206 ภาคี ออกมาเป็น 81 ประเด็น คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติก็พิจารณา โดยที่กรรมการเราก็มีเกณฑ์ว่า ประเด็นที่จะได้รับการคัดเลือกต้องเป็นประเด็นที่มีความสำคัญ มีผลกระทบต่อประชาชน และมีประเด็นเชิงนโยบายที่นำเอาไปปฏิบัติได้” รองศาสตราจารย์ ดร.ชื่นฤทัย กล่าว เฉพาะอย่างยิ่ง ประเด็นการจัดการภัยพิบัติธรรมชาติโดยชุมชนท้องถิ่นเป็นศูนย์กลาง ซึ่ง คจ.สช. ได้หยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาพิจารณาเป็นพิเศษ โดยนายแพทย์อำพล จินดาวัฒนะ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) ได้ให้ความเห็นว่า “เราต้องยอมรับว่าเรากำลังอยู่ในโลกยุควิกฤติที่มีความโกลาหลตลอดเวลา อยู่ในสมัยที่ต้องเท่าทันในการจัดการสิ่งแวดล้อม เพราะภัยเก่าก็หนักหน่วงขึ้นและแก้ยากกว่าเดิม คนอาจถามว่าน้ำท่วม คนลำบาก สมัชชาสุขภาพมาคุยอะไรกัน ฉะนั้นกระบวนการของสมัชชาคืองานต่อเนื่อง ในขณะที่หน่วยงานรัฐ องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นต้องดูแลปัญหาเฉพาะหน้า แต่ปัญหานี้จะเกิดซ้ำและหนักหน่วงรุนแรงขึ้น จึงต้องมีกระบวนการสร้างนโยบายสาธารณะขึ้นเพื่อแก้ปัญหาระยะยาวและต้องส่งผลเป็นวงกว้าง” นอกจากหกร่างระเบียบวาระดังกล่าว สมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งนี้ ยังมีการนำเสนอผลการดำเนินงานตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติของปีที่ผ่านมารวม ๘ เรื่อง ได้แก่ ๑.ยุติการส่งเสริมการขายยาที่ขาดจริยธรรม : เพื่อลดความสูญเสียทางเศรษฐกิจและสุขภาพของผู้ป่วย ๒.ยุทธศาสตร์นโยบายแอลกอฮอล์ระดับชาติ ๓.โรคติดต่ออุบัติใหม่ ๔.การพัฒนาการแพทย์แผนไทย การแพทย์พื้นบ้าน และการแพทย์ทางเลือก ให้เป็นระบบบริการสุขภาพหลักของประเทศ คู่ขนานกับการแพทย์แผนปัจจุบัน ๕.การจัดการปัญหาภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วน ๖.การพัฒนาระบบการดูแลระยะยาวสำหรับผู้สูงอายุที่อยู่ในภาวะพึ่งพิง ๗.มาตรการทำให้สังคมไทยไร้แร่ใยหิน ๘.การป้องกันผลกระทบต่อสุขภาวะและสังคมจากการค้าเสรีระหว่างประเทศ ทั้งนี้ ในบริเวณงานยังจัดสรร “ลานสมัชชาสุขภาพ” สำหรับกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างเครือข่ายที่สนใจในการขับเคลื่อนมติสมัชชาฯ และการประชุมวิชาการอีก ๑๒ หัวข้อ อาทิ ความเป็นธรรมในนโยบายจัดการภัยพิบัติ ขนมชายแดน...เรื่องไม่เล็กของเด็กไทย และเมืองไม่เสี่ยงภัย ใครกำหนด เป็นต้น ซึ่งแต่ละเรื่อง สมาชิกสมัชชาสุขภาพจะได้ร่วมเรียนรู้และเสนอแนะเพื่อการขับเคลื่อนมติและการปฏิบัติร่วมกัน ทั้งนี้ การประชุมยังได้รับความร่วมมือจากเครือข่ายวิทยุชุมชนทั่วประเทศไทยกว่า ๑๖๐ สถานี เข้ามาร่วมสื่อสารประชาสัมพันธ์ในการประชุมครั้งนี้ โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนต่อประเด็นต่าง ๆ และการเรียนรู้กระบวนการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพ ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ระบุว่า เนื้อหาสาระในวิทยุชุมชนส่วนหนึ่งต้องนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับนโยบายสาธารณะ ซึ่งจะยิ่งเสริมแรงให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายในพื้นที่มากขึ้น ดร.กาญจนา กาญจนสินิทธ์ ประธานคณะทำงานพัฒนาเครือข่ายสื่อชุมชนเพื่อการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วม กล่าวว่า สมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งนี้ถือเป็นปีแรกที่มีการจัดตั้งคณะทำงานพัฒนาเครือข่ายสื่อชุมชนฯ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อขยายช่องทางการเผยแพร่ข่าวสารเกี่ยวกับนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพอย่างเป็นระบบและมีคุณภาพยิ่งขึ้น เข้าถึงประชาชนวงกว้าง ซึ่งสื่อวิทยุชุมชนนับว่าเป็นสื่อหนึ่งที่ “ใกล้ตัว ใกล้ใจ” ประชาชนในพื้นที่มากที่สุด ทั้งนี้ ช่องทางสื่อวิทยุชุมชนยังเป็นเวทีของการรับฟังความคิดเห็น แลกเปลี่ยนเรียนรู้ และถกแถลงเรื่องราวต่าง ๆ ที่จะเป็นสาธารณะประโยชน์ต่อการพัฒนานโยบายสาธารณะ “เครือข่ายวิทยุชุมชนกว่า ๑๖๐ คลื่น ครอบคลุมทั้งสี่ภาคของประเทศ มาทำงานร่วมกัน รวมทั้งกับสถานีวิทยุและโทรทัศน์สุขภาพแห่งชาติ หรือ www.healthstaion.in.th ด้วย สื่อวิทยุชุมชนจะทำให้ประชาชนในท้องถิ่นได้ฟังว่าเพื่อนผู้แทนของกลุ่มตนเองพูดตรงตามที่ตกลงกันไว้หรือไม่ และได้ฟังกลุ่มอื่นว่ามีความคิดเห็นต่อมติต่าง ๆ อย่างไร เพราะเราเชื่อว่า เมื่อพื้นที่ได้รับทราบข้อมูลและเห็นกระบวนการรับฟังความคิดเห็นด้วยตนเอง ก็จะนำไปสู่การแก้ปัญหาในพื้นที่ของตัวเองได้” ดร.กาญจนา กล่าว นายแพทย์อำพล กล่าวทิ้งท้ายว่า แนวโน้มหลักที่ทุกภาคส่วนต่างเห็นพ้องร่วมกันคือการต้องเสริมพลังให้ภาคประชาชนมีความรู้ ความเข้มแข็ง และความพร้อมที่จะลุกขึ้นมาดูแลตัวเองได้ทันท่วงที ไม่ว่าจะประสบกับภัยพิบัติหรือภัยสุขภาวะซึ่งนับวันจะทวีความรุนแรงและขยายผลกระทบอย่างกว้างขวาง เกินกว่าที่ภาคส่วนใดภาคส่วนหนึ่งจะรับมือไหว ด้วยเหตุนี้ ถึงเวลาแล้วที่ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกัน สานพลังปัญญา ความรู้ และพลังเครือข่าย โดยใช้กระบวนการสมัชชาสุขภาพเพื่อรับมือกับภัยทุกชนิดและจัดการกับปัญหาร่วมของทุกฝ่ายด้วยบรรยากาศของการให้ความเป็นกัลยาณมิตรต่อกัน. ติดตามความเคลื่อนไหวสมัชชาสุขภาพแห่งชาติได้ทาง www.samatcha.org ติดตามชมการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติได้ทาง www.healthstation.in.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ