เลห์แมน บราเดอร์ส ประกาศเปลี่ยนเกณฑ์การจัดทำระบบดัชนีตราสารหนี้ทั่วโลก

ข่าวทั่วไป Tuesday March 23, 2004 12:20 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--23 มี.ค.--อาซิแอม เบอร์สัน-มาร์สเตลเลอร์
เลห์แมน บราเดอร์ส บริษัทที่ปรึกษาด้านการลงทุนระดับโลก ประกาศเปลี่ยนแปลงเกณฑ์การจัดทำระบบดัชนีตราสารหนี้ทั่วโลก (Global Family of Indices) ซึ่งเป็นมาตรฐานการเปรียบเทียบ ผลตอบแทนจากการลงทุนในตลาดตราสารหนี้ที่จัดทำโดย เลห์แมน บราเดอร์ส โดยการปรับเปลี่ยนดังกล่าว จะรวมถึง การเพิ่มเกณฑ์ทางสภาพคล่องของตราสารหนี้ของดัชนี U.S. Aggregate Index และการเปลี่ยนแปลงระบบการจำแนกประเภทของธุรกิจและผู้ออกหลักทรัพย์
สำหรับดัชนี U.S. Aggregate Index นั้น เลห์แมน บราเดอร์สจะดำเนินการปรับเพิ่มเกณฑ์ทางสภาพคล่องของหลักทรัพย์ใน 4 ประเภท ได้แก่ ตราสารหนี้ที่ออกโดยภาคเอกชน (Credit Securities) ตราสารหนี้ที่ออกโดยหน่วยงานของรัฐในสหรัฐอเมริกา (Agency securities) ตราสารหนี้ที่ค้ำประกันโดยสินเชื่อที่อยู่อาศัย (Mortgage-backed securities) และตราสารหนี้ที่ออกโดยรัฐบาลสหรัฐอเมริกา (U.S. Treasury securities) จาก 200 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็น 250 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่เกณฑ์ทางขนาดโดยรวมของหลักทรัพย์ (deal size constraint) ของดัชนี ABS (Asset-Backed Securities) และดัชนี CMBS (Commercial Mortgage Backed Securities) จะยังคงอยู่ที่ 500 ล้านเหรียญสหรัฐเหมือนเช่นเดิม ขณะที่เกณฑ์ทางขนาดของหลักทรัพย์ในแต่ละระดับความเสี่ยง (tranche size constraint) ของดัชนี CMBS จะปรับอยู่ที่ 25 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นอย่างน้อย ซึ่งเท่ากับระดับที่ใช้กับดัชนี ABS ในปัจจุบัน ทั้งนี้ การปรับเปลี่ยนดังกล่าวจะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2547 เป็นต้นไป โดยจะส่งผลให้จำนวนหลักทรัพย์ในดัชนี U.S. Aggregate Index ปรับลดลงจาก 6,827 หน่วย เป็น 5,560 หน่วย (หรือ ลดลงร้อยละ 18.6) ขณะที่มูลค่าตลาดของดัชนีดังกล่าวจะลดลงประมาณ 21,100 ล้านเหรียญสหรัฐ (หรือลดลงร้อยละ 2.5) โดยก่อนหน้านี้ เลห์แมน บราเดอร์ส ได้มีการปรับเกณฑ์ทางสภาพคล่องของดัชนี U.S. Aggregate Index จาก 150 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็น 200 ล้านเหรียญสหรัฐ ครั้งสุดท้าย เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2546
สำหรับการปรับระบบการจำแนกประเภทของผู้ออกหลักทรัพย์ ซึ่งจะเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2548 นั้น เลห์แมน บราเดอร์ส จะดำเนินการเปลี่ยนแปลงเกณฑ์เพื่อให้ระบบดัชนีตราสารหนี้ทั่วโลก (Global Family of Indices) สะท้อนสภาวะตลาดทุนทั่วโลกให้ชัดเจนมากขึ้น โดยจะจัดแบ่งหลักทรัพย์ออกเป็น 4 ประเภท ประกอบด้วย (1) ตราสารหนี้สาธารณะในสกุลเงินประจำของแต่ละประเทศ (Treasury sector) (2) ตราสารหนี้ที่ออกโดยบริษัทเอกชน (Pure corporate bond sector) (3) ตราสารหนี้ที่ค้ำประกันโดยสินทรัพย์อื่น (Securitized sector) ซึ่งรวมถึงตราสารหนี้ที่ค้ำประกันโดยหลักทรัพย์อื่น ๆ อาทิ ตราสารหนี้ที่ค้ำประกันโดย สินเชื่อที่อยู่อาศัย (Mortgage-backed securities) ตราสารหนี้ที่ค้ำประกันโดยกระแสเงินได้ หรือสินทรัพย์จากธุรกิจของผู้ออกหลักทรัพย์ (asset-backed securities) และ (4) ตราสารหนี้ของภาครัฐ อันรวมถึง ตราสารหนี้สาธารณะในสกุลเงินต่างประเทศ ตราสารหนี้ที่ออกโดยหน่วยงานรัฐ ตราสารหนี้ที่ออกโดยองค์กรระหว่างประเทศ และตราสารหนี้ที่ออกโดยรัฐบาลท้องถิ่นใน แต่ละประเทศ โดยเลห์แมน บราเดอร์ส จะประกาศ รายละเอียดเกี่ยวกับคุณลักษณะของหลักทรัพย์แต่ละประเภทให้ทราบกันอย่างชัดเจนภายในวันที่ 30 กันยายน 2547 เพื่อให้นักลงทุนได้ทราบล่วงหน้าเป็นระยะเวลา 3 เดือน ก่อนเริ่มการใช้งานจริงในวันที่ 1 มกราคม 2548 ทั้งนี้ เลห์แมน บราเดอร์ส จะยังคงจัดทำดัชนีมาตรฐานที่เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย และได้รับความนิยม จากนักลงทุน อาทิ ดัชนี U.S. Government Index และดัชนีสินเชื่อของประเทศต่างๆ ทั่วโลก ออกเผยแพร่ให้แก่นักลงทุนต่อไปอีกด้วย
นอกจากนี้ เลห์แมน บราเดอร์ส ยังมีการปรับคุณลักษณะด้านอื่นๆ ของระบบดัชนีตราสารหนี้ทั่วโลก (Global Family of Indices) ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2547 ได้แก่ ตราสารหนี้ที่ค้ำประกันโดยสินเชื่อที่อยู่อาศัยประเภทชำระคืนเงินต้นครั้งเดียวเมื่อครบกำหนด (Bullet structure Danish mortgage-backed securities) ชนิดไม่มีสิทธิพิเศษใดๆ ซึ่งจะผนวกรวมไว้ในระบบดัชนีรวมของโลก (Global Aggregate Index) และของ ภูมิภาคยุโรป (Pan-European Aggregate Index) สำหรับตราสารหนี้ในสกุลเงินยูโรในประเภทเดียวกันนี้จะถูกนำมารวมไว้ในดัชนี Euro-Aggregate Index โดยตราสารหนี้ประเภทนี้มีจำนวนรวมทั้งสิ้น 49 หลักทรัพย์ โดยมีมูลค่าตลาดรวม 62,000 ล้านยูโร ส่วนดัชนี Global Reals Index ซึ่งเป็นดัชนีตราสารหนี้ภาครัฐที่ได้ปรับค่าตามสภาวะเงินเฟ้อจะมีการปรับเปลี่ยนใหม่ด้วย โดยพันธบัตรที่ออกในสกุลเงินตราต่างๆ ในดัชนี Global Aggregate Index ทั้งหมด จะถูกเพิ่มไปในดัชนี Global Reals Index โดยอัตโนมัติ ยกเว้นเพียงในกรณีที่ พันธบัตรนั้นๆ ไม่มีข้อมูลสำหรับการวิเคราะห์ทางเทคนิคอย่างสมบูรณ์
เลห์แมน บราเดอร์ส ยังได้เพิ่มขอบข่ายการครอบคลุมของดัชนี โดยรวมถึงตราสารหนี้ไม่ค้ำประกันที่มีโครงสร้างอัตราจำหน่ายคูปองที่เปลี่ยนจากอัตราคงตัวเป็นอัตราลอยตัว โดยจะรวมแค่ในช่วงที่มีอัตราจำหน่ายคูปองแบบคงตัวเท่านั้น รวมทั้งจะเพิ่มหลักทรัพย์ 144A ไว้ในดัชนี U.S. CMBS Investment Grade Index ส่วนที่ไม่ได้ออกโดย ERISA (Employee Retirement Income Security Act) ขณะที่หลักทรัพย์ของ Refcorp (Resolution Fund-ing Corporation) จะถูกปลดออกจากระบบดัชนีตราสารหนี้ทั่วโลก (Global Family of Indices) เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นหลักทรัพย์ที่ขาดสภาพคล่อง และนอกจากนี้ หลักทรัพย์ประเภทนี้จำนวนมากยังถูก งดจำหน่ายคูปองอีกด้วย ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนี้จะส่งผลกระทบถึงหลักทรัพย์รวม 6 ตัว คิดเป็นมูลค่าการตลาดรวมทั้งสิ้น 46,000 ล้านเหรียญสหรัฐ
เลห์แมน บราเดอร์ส ได้เตรียมจัดทำดัชนีใหม่ๆ เพิ่มขึ้นอีกในปี 2547 อาทิ ดัชนี U.S. floating-rate ABS Index ดัชนีระยะสั้น ได้แก่ ตราสารหนี้ที่มีหมดอายุภายใน 1 ปี และดัชนีตราสารหนี้ภูมิภาคยุโรปตะวันออก ทั้งนี้ บริษัทฯ จะประกาศเพิ่มหลักทรัพย์ในสกุลเงินใหม่ๆ ในดัชนี Global Aggregate Index เป็นประจำทุกปี โดยจะเริ่มตั้งแต่เดือนกันยายน 2547 เป็นต้นไป ซึ่งตราสารหนี้สาธารณะของประเทศที่จะได้รับการพิจารณานี้จะต้องอยู่ในระดับของการลงทุน (investment-grade rating) และจะต้องเป็นสกุลเงินที่สามารถซื้อขายได้อย่างเสรีและสามารถควบคุมความเสี่ยงได้ โดยสกุลเงินที่ได้รับการพิจารณาสำหรับการจัดเพิ่มในวันที่ 1 มกราคม 2548 ได้แก่ เงินเปโซของประเทศเม็กซิโก เงินแรนด์ของประเทศแอฟริกาใต้ และสกุลเงินของประเทศในยุโรปตะวันออกอีกหลายประเทศ
เลห์แมน บราเดอร์ส เป็นผู้มีประสบการณ์การจัดทำดัชนีวัดประสิทธิผลของตราสารทางการเงินมาเป็นระยะเวลานานกว่า 30 ปี ดัชนีที่บริษัทฯ จัดทำขึ้นนี้ถือเป็นมาตรฐานการประเมินสภาวะการบริหารจัดการสินทรัพย์ ที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางที่สุดในธุรกิจการจัดการบริหารสินทรัพย์ โดยรวมถึงมากกว่าร้อยละ 90 ของนักลงทุนระดับสถาบันในสหรัฐอเมริกา นักลงทุนจากภูมิภาคยุโรปส่วนใหญ่ และผู้บริหารสินทรัพย์ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกจำนวนมาก ทั้งนี้ นิตยสารอินสติติวชั่นแนล อินเวสเตอร์ (Institutional Investor) ได้สำรวจความคิดเห็นของนักลงทุนเป็นประจำทุกปี ซึ่งเลห์แมน บราเดอร์ส ได้รับเลือกให้เป็นผู้จัดทำดัชนีวัดประสิทธิผลของตราสารทางการเงินยอดเยี่ยมติดต่อกันมาทุกปีนับมีการเริ่มจัดอันดับตั้งแต่ปี 2540 เป็นต้นมา
เลห์แมน บราเดอร์ส (ตัวย่อในตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ค: LEH) ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2393 บริษัทฯ เป็นผู้นำด้านนวัตกรรมในธุรกิจการเงินของโลก โดยเป็นผู้ให้บริการด้านการเงินแก่บริษัทเอกชน รัฐบาล และองค์กรของรัฐ ตลอดจนกลุ่มลูกค้าประเภทสถาบันและประเภทบุคคลชั้นนำทั่วโลก เลห์แมน บราเดอร์ส ยังเป็นผู้นำในด้านการขายหุ้นทุนและตราสารหนี้ การซื้อขายและวิเคราะห์หลักทรัพย์ การเป็นที่ปรึกษาด้านการลงทุน การให้บริการปรึกษาเพื่อร่วมทุน และการให้บริการลูกค้าส่วนบุคคลระดับสูง เลห์แมน บราเดอร์ส มีสำนักงานใหญ่ใน นิวยอร์ก ลอนดอน และโตเกียว และมีการดำเนินงานในรูปแบบของเครือข่ายสำนักงานซึ่งมีอยู่ทั่วโลก สำหรับ ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับเลห์แมน บราเดอร์ส สามารถเข้าเยี่ยมชมเว็บไซต์ของบริษัทฯ ได้ที่ www.lehman.com
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ: อาซิแอม เบอร์สัน-มาร์สเตลเลอร์ วราพร สมบูรณ์วรรณะ สาธิดา ศรีธัญญาธรณ์ โทร 0 2252 9871--จบ--
-นห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ