กรุงเทพฯ--6 ก.พ.--มหาวิทยาลัยกรุงเทพ
ภาควิชาการโฆษณา ได้ก่อตั้งขึ้นและเป็นภาควิชาหนึ่งของคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ในปี 2522 ต่อมาในปี พ.ศ. 2529 ภาควิชาการโฆษณาได้เริ่มจัดกิจกรรมประจำทางวิชาการ โดยใช้ชื่องานว่านิทรรศการโฆษณาหรือ Manifestation of ADvertising Department ภายใต้ชื่อย่อว่า MADD โดยการควบคุมของ รศ.ดร.รสชงพร โกมลเสวิน ซึ่งดำรงตำแหน่งหัวหน้าภาควิชาการโฆษณาในขณะนั้น
การจัดงานนี้ได้แรงบันดาลใจมาจากการที่นักศึกษาภาควิชาโฆษณา ในยุคนั้นไม่มีการจัดกิจกรรมทางด้านวิชาการ จึงได้ปรึกษาคณาจารย์และคณบดีคณะนิเทศศาสตร์ในขณะนั้น ซึ่งก็คือ รศ.ลักษณา สตะเวทิน ว่ามีความประสงค์จะจัดกิจกรรมทางวิชาการ คณาจารย์และนักศึกษาภาควิชาการโฆษณา ชั้นปีที่ 4 ในปีการศึกษา 2528 จึงได้ร่วมกันจัดงาน MADD ครั้งที่ 1 ขึ้น ณ อาคารหอประชุม มหาวิทยาลัยกรุงเทพ วิทยาเขตกล้วยน้ำไท
คำว่า MADD เกิดจากความต้องการให้เป็นคำเพียงคำเดียว ไม่ต้องเรียกชื่อเต็มและต้องการให้มีคำว่า Advertising Department อยู่ในตัวนั้นด้วยจึงเกิดเป็นชื่อ Manifestation of Advertising Department โดยนำตัวอักษรที่ใช้ขึ้นต้นคำแต่ละคำจำนวน 4 ตัวมาเรียงต่อกันเป็น M-A-D-D อ่านออกเสียงว่า “แมด”
ภายในงานนิทรรศการโฆษณาประกอบด้วย บอร์ดแสดงผลงานในวิชา สัมมนาการโฆษณา ของนักศึกษาภาควิชาโฆษณาชั้นปีที่ 4 บอร์ดแสดงผลงานโฆษณาผ่านสื่อต่างๆของบริษัทตัวแทนโฆษณาชั้นนำในประเทศไทย วิดีทัศน์แสดงผลงานโฆษณาที่ได้รับรางวัล TACT AWARDS การอภิปรายจากนักวิชาชีพโฆษณาในสาขาต่างๆ รวมถึงความบันเทิงหลากหลายรูปแบบบนเวที ภาควิชาฯได้จัดงาน MADD อย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปีมาจนถึงครั้งที่ 12
ในช่วงเวลาต่อมา จากการที่ประเทศไทยเริ่มประสบปัญหาภาวะเศรษฐกิจตกต่ำตั้งแต่ปี พ.ศ.2540 ในปีการศึกษา 2540 ภาควิชาจึงงดจัดงานนิทรรศการการโฆษณาเพื่อช่วยประหยัดงบประมาณของมหาวิทยาลัยและองค์กรธุรกิจต่างๆ ที่เป็นผู้สนับสนุนการจัดงาน ในปีการศึกษา 2541 ภาควิชาฯ ได้นำแนวพระราชดำริ “เศรษฐกิจพอเพียง” มาเป็นแนวทางในการปรับรูปแบบของนิทรรศการการโฆษณาจนกลายเป็นโครงการประกวดแผนรณรงค์โฆษณา หรือ Manifestation of Advertising Awards ภายใต้ชื่อย่อว่า MADD Awards ซึ่งจัดเป็นโครงการประกวดโฆษณาในแนวทางส่งเสริมสังคมภายใต้หัวข้อต่างๆ ในแต่ละปี อาทิ สวนสัตว์ใกล้บ้าน การพนันมหันตภัยร้าย เมาไม่ขับ ช่วยด้วยหนูติดคอมพ์
นอกจากโครงการ MADD Awards แล้ว ทางภาควิชาฯ ได้จัดให้มีโครงการ MADD สัญจร ภายใต้ชื่อว่า MADD on the road โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้นักศึกษาได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการคิดกิจกรรมของภาควิชาการโฆษณาไปจัดตามโรงเรียน สถานศึกษา รวมถึงแหล่งชุมชนต่างๆ ในขณะเดียวกันก็ยังเป็นการเผยแพร่ความรู้ ความสามารถ ชื่อเสียงของภาควิชาฯ สู่สาธารณชน นักเรียนระดับมัธยมปลายที่กำลังจะเลือกสถานที่เรียนในระดับอุดมศึกษา
ในปี พ.ศ. 2549 เนื่องจากทางคณะนิเทศศาสตร์ได้มีการย้ายที่ทำการใหม่ของคณะนิเทศศาสตร์ มายังอาคารนิเทศศาสตร์คอมเพล็กซ์ ปองทิพย์ โอสถานุเคราะห์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ วิทยาเขตรังสิต ทางคณาจารย์ในภาควิชาการโฆษณาได้มีแนวคิดให้มีการจัดงาน MADD อีกครั้งในรูปแบบใหม่ โฉมใหม่ โดยงาน MADD ในครั้งนี้ใช้ชื่อว่า MADD 2006 และมีรูปแบบการจัดแสดงนิทรรศการ การออกร้านแสดงและจัดจำหน่ายสินค้า การแสดงบนเวที รวมถึงการแสดงความสามารถของนักศึกษาชั้นปีที่ 4 ภาควิชาการโฆษณา นอกจากนี้ใน MADD 2006 ได้มีการจัดประกวดโฆษณาระดับชาติภายใต้โครงการว่า MADD Awards 2006 ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก M Link
นับจากปีพุทธศักราช 2529 เป็นต้นมา ทางภาควิชาฯ มีความพยายามในการจัดกิจกรรม MADD ดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นการแสดงความสามารถของนักศึกษาอีกทั้งยังเป็นการประชาสัมพันธ์ภาควิชาการโฆษณาไปสู่สาธารณชน อีกทั้งยังได้รับความร่วมมือในการสนับสนุนกิจกรรมดังกล่าวจากหน่วยงานธุรกิจเอกชนมากมายในแต่ละปี อาทิ กลุ่มการเงินธนชาต ผลิตภัณฑ์โคคาโคล่า ซีโร่ Dell Computer และในปี 2554 นี้ ทางภาควิชาการโฆษณาได้จัดการประกวดโฆษณาระดับชาติ ภายใต้โครงการ MADD Awards 2011 โดยได้รับการสนับสนุนโดยผลิตภัณฑ์ Smooth E
ภาควิชาการโฆษณา (Advertising Department)
การโฆษณาเป็นเครื่องมือในการแจ้งข่าวสารสร้างภาพลักษณ์และสร้างคุณค่าให้กับตราสินค้าหรือบริการ ซึ่งจะสร้างยอดขายและผลกำไรให้ธุรกิจเกิดการขยายตัวด้านการลงทุน และการสร้างงานอันเป็นผลให้ระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศดีขึ้น ผู้ที่เรียนในสาขาวิชาการโฆษณาทุกคนจะได้เรียนเกี่ยวกับ หลักการโฆษณา การโฆษณาและพฤติกรรมผู้บริโภค การศึกษาโฆษณาร่วมสมัย การวิจัยการโฆษณา การผลิตงานโฆษณาทางสื่อสิ่งพิมพ์และสื่ออิเล็กทรอนิกส์ กลยุทธ์การจัดการโฆษณา และการวางแผนรณรงค์โฆษณา เป็นต้น และเพื่อให้นักศึกษามีความชำนาญเฉพาะทางเพื่อต่อยอดไปสู่การทำงานในสายวิชาชีพโฆษณา ทางภาควิชาการโฆษณาได้พัฒนาหลักสูตรสาขาวิชาการโฆษณาสำหรับผู้เรียนมากยิ่งขึ้น โดยเปิดโอกาสให้ผู้เรียนเลือกศึกษาได้ใน 2 แนวทางเมื่อผู้เรียนเลือกศึกษาเฉพาะทางแล้วก็จะได้ศึกษาวิชาในสายงานเฉพาะดังกล่าวมากยิ่งขึ้นโดย 2 แนวทางประกอบด้วย
1. การโฆษณาเชิงสร้างสรรค์ (Creative Advertising)
เน้นให้นักศึกษาเข้าใจหลักการคิดกระบวนการสร้างสรรค์ สามารถออกแบบและผลิตผลงานโฆษณาได้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ ตรงกลุ่มเป้าหมาย และหลากหลายรูปแบบ วิชาที่ผู้เลือกเรียนในสายการโฆษณาเชิงสร้างสรรค์จะได้เรียน อาทิ กลยุทธ์การสร้างสรรค์งานโฆษณา การกำกับศิลป์ในงานโฆษณา การเขียนบทโฆษณา คอมพิวเตอร์กราฟิก เป็นต้น
2. การโฆษณาเชิงกลยุทธ์ (Strategic Advertising)
เน้นให้นักศึกษาเข้าใจและวิเคราะห์สถานการณ์ทางการตลาด สามารถนำข้อมูลทางการตลาด และการวิจัยมาใช้ในการกำหนดกลยุทธ์เพื่อวางแผนการรณรงค์โฆษณารูปแบบต่างๆ ด้วยกลยุทธ์การใช้สื่อเพื่อเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพ วิชาที่ผู้เลือกเรียนในสายการโฆษณาเชิงกลยุทธ์จะได้เรียน อาทิ การวิเคราะห์การตลาดเพื่องานโฆษณา การสร้างแบรนด์เชิงกลยุทธ์ กลยุทธ์สื่อแวดล้อมและประสบการณ์ การโฆษณาระหว่างประเทศ เป็นต้น
นอกเหนือจากนักศึกษาที่เลือกเรียนสาขาวิชาเอกการโฆษณาโดยตรงแล้ว ทางภาควิชาฯ ได้เปิดกลุ่มวิชาโท สำหรับนักศึกษาภาควิชาอื่นๆ ที่มีความสนใจในสายงานวิชาชีพการโฆษณา โดยอาจนำความรู้ดังกล่าวไปบูรณาการ ผสมผสานกับสาขาวิชาเอกที่นักศึกษาเรียนอยู่ โดยกลุ่มวิชาโท ประกอบด้วยวิชาที่ทางภาควิชาคัดสรรมาเพื่อที่จะทำให้ผู้เรียนได้เข้าใจถึงโลกของการโฆษณาและได้นำหลักการ ทฤษฎี แนวทางจากวิชาต่างๆ ไปปรับใช้ในชีวิตการทำงานในอนาคตได้ วิชาที่อยู่ในกลุ่มวิชาโท ประกอบด้วย หลักการโฆษณา การโฆษณาและพฤติกรรมผู้บริโภค กลยุทธ์การสร้างสรรค์งานโฆษณา กลยุทธ์การสร้างสรรค์สื่อนวัตกรรม และการวิเคราะห์การตลาดเพื่องานโฆษณา
ในขณะเดียวกันภาควิชาการโฆษณา ได้มีการจัดกลุ่มวิชาเลือกเสรี สำหรับผู้ที่มีความสนใจอื่นๆ อาทิ วิชาพาณิชย์ศิลป์ การโฆษณาเพื่อการค้าปลีก การถ่ายภาพในสตูดิโอ แอนิเมชั่นในการโฆษณา การตลาดทางตรงและการส่งเสริมการขาย เพลงเพื่อการโฆษณา การโฆษณาแบบอินเตอร์แอคทีฟ เป็นต้น
รูปแบบการเรียนการสอน
สาขาวิชาการโฆษณา มีการจัดรูปแบบการเรียนการสอนทั้งภาคทฤษฎี และปฏิบัติ การเรียนการสอนในส่วนของภาคทฤษฎี จะทำให้นักศึกษาได้ทราบถึงหลักการเพื่อที่จะนำไปเป็นแนวทางในการทำงานทั้งในเชิงวิเคราะห์ กำหนดกลยุทธ์ วางแนวทางในการทำงาน และเพื่อให้การเรียนการสอนมีระดับความเข้มข้นอีกทั้งมีความสอดคล้องกับการทำงานจริงในอนาคตของผู้เรียนมากยิ่งขึ้น จึงมุ่งเน้นการฝึกทักษะด้วยการปฏิบัติจริงโดยการมอบหมายโจทย์สินค้าจริงหรือสินค้าสมมติให้ผู้เรียนได้แก้ปัญหา วางแผนกลยุทธ์การโฆษณา การค้นหาแนวทางการสร้างสรรค์
นอกจากนี้ยังมีการฝึกให้นักศึกษาได้ผลิตชิ้นงานโฆษณาจริงไม่ว่าจะเป็นสื่อหนังสือพิมพ์ นิตยสาร รวมถึงสื่อวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ ด้วยอุปกรณ์ที่ทันสมัยของคณะนิเทศศาสตร์ นอกจากนี้ทางภาควิชาการโฆษณายังมีกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนภาควิชาฯ นั่นคือ คณาจารย์ที่มีความรู้ความสามารถเฉพาะทาง ทั้งที่เป็นอาจารย์ประจำ และอาจารย์พิเศษซึ่งทำงานจริงในสายงานการโฆษณาและสายงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงวิทยากรพิเศษที่จะมาคอยให้ความรู้ ถ่ายทอดประสบการณ์ ซึ่งจะช่วยบ่มเพาะ เตรียมความพร้อม เสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับนักโฆษณาสายพันธุ์ใหม่ต่อไปในอนาคต
โอกาสในการประกอบอาชีพ
ผู้ที่เลือกเรียนด้านนี้สามารถออกไปประกอบอาชีพเป็น นักสร้างสรรค์งานโฆษณา (Creative Man) ผู้เขียนบทโฆษณา (Copywriter) ผู้กำกับศิลป์ (Art Director) ผู้กำกับภาพยนตร์โฆษณา (Advertising Film Director) ผู้อำนวยการกองถ่ายภาพยนตร์ (Advertising Film Producer) ผู้วางแผนกลยุทธ์โฆษณาและส่งเสริมการขาย (Strategic Advertising and Sales Promotion Planner) ผู้วางแผนและซื้อสื่อโฆษณา (Media Buyer and Planner) นักออกแบบโฆษณาทางสื่อสิ่งพิมพ์ (Graphic Designer) หรือทำงานอยู่ในฝ่ายโฆษณาหรือฝ่ายสื่อสารการตลาดของบริษัทที่เป็นเจ้าของแบรนด์ต่างๆ
ติดต่อ:
จิรศร ศรีจันทร์งาม As_kim_Jirasorn@hotmail.com โทร. 0844259438
ณัฐวัฒน์ เตชวณิชชวาล iceage_dg@hotmail.com โทร. 0858470846