กรุงเทพฯ--6 ก.พ.--TCELS
TCELS ร่วมกับ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โรงพยาบาลรามาธิบดี สถาบันวิจัยจีโนมริเก้นประเทศญุปุ่น จัดประชุมเครือข่ายเภสัชพันธุศาสตร์ระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หวังใช้เวทีนี้ขยายผลสร้างเครือข่ายบริการในภาพรวมระดับนานาชาติ
นายปลอดประสพ สุรัสวดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธานเปิดงานการประชุมนานาชาติ “1st South East Asian Pharmacogenomics Research Network” ซึ่งจัดขึ้นโดย 4 หน่วยงานหลักคือ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (TCELS) กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์กระทรวงสาธารณสุข โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และสถาบันวิจัยจีโนมริเก้น ประเทศญี่ปุ่น โดยมีคณะผู้บริหารกระทรวงวิทยาศาสตร์ นักวิจัยชั้นนำด้านเภสัชพันธุศาสตร์จากประเทศ ญี่ปุ่น เกาหลีไต้หวัน มาเลเชีย อินโดนีเชีย และประเทศไทยร่วมงานกันอย่างพร้อมเพรียง
นายปลอดประสพ กล่าวว่า เภสัชพันธุศาสตร์ เป็นเทคโนโลยีแนวใหม่ในยุคจีโนมิกส์ที่กำลังได้รับความสนใจทั่วโลก เนื่องจากเป็นการศึกษาที่ทำให้ทราบถึงลักษณะทางพันธุกรรมที่บ่งบอกถึงการตอบสนองต่อยาของแต่ละบุคคล การจัดประชุมเพื่อสร้างเครือข่ายเภสัชพันธุศาสตร์ระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ครั้งนี้ นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่จะได้รับฟังความคืบหน้าและแบ่งปันประสบการณ์ด้านการวิจัยในสาขานี้จากนักวิจัยชั้นนำจากประเทศต่าง ๆ ที่ได้ศึกษางานด้านเภสัชพันธุศาสตร์มาอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังสามารถนำไปสู่กการเชื่อมโยงเครือข่ายบริการในระดับนานาชาติ
นายสุริยัน ปานเพ็ง ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (TCELS) กล่าวว่า TCELS ได้ร่วมมือกับคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ดำเนินโครงการเภสัชพันธุศาสตร์ตั้งแต่ปี 2548 ด้วยเห็นว่าโครงการดังกล่าวจะสามารถนำมาใช้ประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชนอย่างมากเนื่องจากเป็นการศึกษาถึงพันธุกรรมต่อการตอบสนองของยาแต่ละบุคคล เพื่อให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และประหยัดงบประมาณให้กับประเทศชาติจากการใช้ยาแบบลองผิดลองถูกเหมือนในอดีตที่ผ่านมา
รศ.ดร.วสันต์ จันทราทิตย์ หัวหน้าหน่วยไวรัสวิทยา และห้องปฏิบัติการเภสัชพันธุศาสตร์และการรักษาเฉพาะบุคคล ภาควิชาพยาธิวิทยา คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ในฐานะผู้อำนวยการโครงการเภสัชพันธุศาสตร์ กล่าวว่า การวิจัยด้านจีโนมเดิมจำกัดวงเฉพาะในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วเนื่องจากมีค่าใช้จ่ายในการวิจัยสูงมาก ในปี พ.ศ. 2554 การถอดรหัสพันธุกรรมเฉพาะบุคคลมีค่าใช้จ่ายสูงถึงประมาณ500,000 บาท ดังนั้นข้อมูลจีโนมส่วนใหญ่จึงเป็นของประชากรในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วซึ่งบางส่วน ไม่สามารถนำมาใช้เป็นตัวแทนของกลุ่มประชากรอาเซียนได้ จากการศึกษาระดับจีโนม พบว่าข้อมูลจีโนมของคนอเมริกัน ยุโรป แอฟริกัน จีนแผ่นดินใหญ่ ญี่ปุ่น เกาหลี มีความแตกต่างกับกลุ่มประชากรของประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่นประเทศไทย
รศ.ดร.วสันต์ กล่าวต่อว่า ปัจจุบันค่าใช้จ่ายในการถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมของมนุษย์ลดลงอย่างมากเหลือเพียง $1,000 หรือประมาณ 30,000 บาทต่อราย และยังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้กลุ่มประเทศที่กำลังพัฒนาเริ่มมีศักยภาพในการศึกษาวิจัยด้านจีโนมของตนเอง ประกอบกับความหลากหลายทางชีวภาพไม่ว่าจะเป็นทางด้านประชากรมนุษย์ สัตว์ พืช และจุลชีพ อันจะเป็นจุดแข็งในการวิจัยระดับจีโนม อาทิทางเภสัชพันธุศาสตร์ในกลุ่มประเทศอาเซียนร่วมกัน เนื่องจากมีความหลากหลายทางพันธุกรรมที่ใกล้เคียงกัน และจะเป็นแรงขับเคลื่อนให้เกิดการพัฒนาแนวทางการตรวจวินิจฉัยและการแปลผลทางเภสัชพันธุ์ศาสตร์ที่เฉพาะเจาะจงกับกลุ่มประชากรอาเซียนจำนวน 560 ล้านคน ทดแทนการใช้ข้อมูลของประเทศนอกภูมิภาค ซึ่งอาจส่งผลให้การแปลผลมีความคลาดเคลื่อนหรือผิดพลาดเนื่องจากความแตกต่างในระดับจีโนม