กรุงเทพฯ--7 ก.พ.--สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ
ที่ศูนย์ประชุมสหประชาชาติในการประชุมสมัชชาสุขภาพครั้งที่ 4 พ.ศ.2554 ได้จัดเสวนาเรื่อง “ขนมชายแดน...เรื่องไม่เล็กของเด็กไทย” สะท้อนปัญหาใหม่ให้สมาชิกสมัชชาสุขภาพได้ขบคิดเกี่ยวกับกระบวนการผลิตและตรวจสอบคุณภาพของอาหารประเภท อมยิ้ม ช็อคโกแลต ขนมกรุบกรอบ ซึ่งล้วนเป็นอาหารโปรดปรานของเด็กๆ แต่จะมีสักกี่คนรู้ว่า ขนมสีสันสวยงาม น่าลิ้มลอง อาจเต็มไปด้วยภัยร้าย
สังคมไทยส่วนใหญ่เข้าใจว่า การที่สินค้าจะวางจำหน่ายสู่ท้องตลาดได้ จะต้องผ่านกระบวนการผลิต ตรวจสอบคุณภาพมากมายหลายขั้นตอน กระทั่งได้รับการรับรอง แต่ “ขนมชายแดน” คงเป็นเครื่องพิสูจน์ได้ว่าความเชื่อนี้ไม่จริงเสมอไป
ตัวอย่างจากจังหวัดชายขอบ ไม่ว่าจะเป็น จ.สุรินทร์ จ.บุรีรัมย์ จ.ศรีษะเกษ จ.ร้อยเอ็ด และ จ.กาฬสินธ์ เพียงแค่ไม่กี่จังหวัดกลับพบว่าเป็นศูนย์กลางทั้งแหล่งผลิต แหล่งนำเข้า และแหล่งกระจายตลาด บางครั้งนำเข้าโดยการหิ้วเข้าผ่านกองทัพมด คืออาศัยการจ้างคนทั่วไปหิ้วเข้ามา จำนวนไม่มาก แต่อาศัยความถี่ หรือแม้แต่การผลิตเอง
กฎหมายที่ใช้ควบคุมก็ใช่ว่าจะเป็นดาบอาญาสิทธ์ที่จะทำให้ผู้ค้าเกรงกลัว หรือบางครั้งอาจเป็นเพราะความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ทำให้ยอมแลกผลประโยชน์บนความทุกข์และสุขภาวะของเด็กๆ
“ขนมชายแดน” คือขนมที่ผ่านการปลอมแปลง ลอกเลียนแบบ ไร้คุณภาพ ไม่ได้รับการรับรอง หรือแม้แต่เป็นเศษขนมที่ถูกนำมาบรรจุหีบห่อใหม่ ให้ดูสะอาดสวยงาม น่าทานขึ้น โดยเริ่มแรกอาจไม่เป็นอันตรายในทันที แต่จะใช้เวลาการสะสมของสารพิษ หรืออาจร้ายแรงถึงขั้นทำให้การเจริญเติบโต้ของอวัยะผิดแปลกไป ซึ่ง ทพญ.สุขจิตรา วนาภิรักษ์ ทันตแพทย์ประจำสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดแพร่ ที่มุ่งทำงานขับเคลื่อนนโยบายในโรงเรียนให้ปลอดน้ำอัดลมและขนมมาเป็นเวลานาน เล่าว่าที่ผ่านไม่เคยเอะใจฉุกคิดถึงปัญหาของขนมชายแดน แต่เมื่อหันมาทบทวนข้อมูลก็พบว่าขนมที่ไม่ปลอดภัยต่อเด็กมีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นปีละกว่าร้อยละ 10 ซึ่งเมื่อเทียบกับอัตราการเกิดของเด็กในแต่ละปืถือว่าเป้นตัวเลขที่สูงมากจนน่าตกใจ
“การเข้าถึงขนมที่ไร้คุณภาพ ไม่มีอย. รับรองของเด็กๆ นั้นง่ายมาก เพียงแค่เดินไปที่หน้าโรงเรียน ก็หาได้แล้ว หรือบางครั้งหน่วยงานราชการเองก็นำมาใช้เป็นรางวัลแจกในเทศกาลต่างๆ ซึ่งทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นว่า ระบบการเฝ้าระวัง ป้องปราม ในสังคมไทยควรได้รับการพัฒนาอย่างเร่งด่วน ซึ่งการแก้ปัญหาอาจต้องใช้กระแสสังคมเป็นตัวช่วยผลักดัน มิเช่นนั้นปัญหาอาจยิ่งลุกลาม”
เช่นเดียวกับ ภก.ภาณุโชติ ทองยัง สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสมุทรสงคราม ในฐานะคนทำงานในหน่วยงานป้องกัน และป้องปราม เห็นว่าการแก้ไขปัญหา “ขนมชายแดน” จะต้องแก้ถึงระบบรากฐาน เพราะต้องยอมรับว่าการก่อเกิดของขนมปลอม เลียนแบบ ไร้คุณภาพ มาจากการสร้างค่านิยมผิดๆ ในสังคมไทย ผ่านระบบกลไกการตลาด จนทำให้ขนมแทรกแซงไปในทุกพื้นที่ โดยเฉพาะสำหรับเด็ก แต่ด้วยข้อจำกัดในอำนาจการซื้อ ทำให้เป็นช่องทางที่ผู้ค้าจะเอาประโยชน์ โดยการทำขนมเกรดบี เลียนแบบแต่ไร้คุณภาพ ซึ่งเรื่องนี้ สังคมไทยต้องย้อนกลับไปตั้งคำถามว่า ถูกแล้วหรือ?! ที่สังคมไทยจะสนับสนุนความไม่เป็นธรรม เพราะไม่ว่าจะเด็กมีฐานะหรือยากจนก็ควรได้รับความคุ้มครองในเรื่องความปลอดภัยและได้รับความเป็นธรรมด้านสุขภาวะอย่างเท่าเทียม
ข่าวการจับขนมปลอม ไร้คุณภาพ ย้อนอดีตตั้งแต่อมยิ้มปลอม ลูกอมปีศาจ ลูกอมยิ้มลิ้นเปลี่ยนสีที่กำลังเป็นที่นิยม แม้จะมีให้เห็นอยู่บ่อยครั้ง แต่ก็ไม่เคยหมดสิ้น ดังนั้น จึงอาจจะเป็นเครื่องยืนยันได้ว่า กฎหมายคงไม่ใช่วิธีเดียวที่จะจัดการ แต่จะต้องอาศัยกระบวนการสร้างเครือข่าย ให้ทุกคนตระหนักถึงปัญหา ไม่ถึงกับ “ต้องห้าม” แต่ควรป้อนข้อมูลว่าอะไรดี อะไรไม่ดี ให้สังคมรู้จักเลือกบริโภค
อีกด้านหนึ่ง ในฐานะตัวแทนที่เสมือนเป็นจำเลยของเรื่องนี้ อย่างองค์การอาหารและยา (อย.) อารยะ โรจนวิชยากร เล่าให้ฟังพร้อมกับเชื่อมั่นในกระบวนการกฎหมายว่าจะสามารถป้องปรามได้ เพราะทุกเรื่องมีกฎหมายรองรับไว้แล้ว เช่นการนำเศษขนมมาบรรจุใหม่ (รีแพ็ค) หากฝ่าฝืนจะมีความผิดในเรื่องไม่ขออนุญาติติดฉลากมีโทษตามมาตรา 51 พ.ร.บ.อาหารและยา พ.ศ. 2522 คือ ปรับ 30,000 บาท หรือหากการบรรจุเข้าข่ายดำเนินการเป็นโรงงาน แต่ไม่ขออนุญาต จะมีโทษทั้งจำทั้งปรับ ส่วนการปลอมแปลงเพื่อหลอกลวงผู้บริโภคก็มีโทษจำคุก 6-10 ปี ปรับ 5,000 — 10,000 บาท แต่ก็ไม่ปฏิเสธว่าหากจะให้สำเร็จ ต้องใช้มาตรการทางสังคมเป็นตัวเสริม
ปัญหา “ขนมชายแดน” จึงไม่ใช่เรื่องเล็กๆ ในเวทีวิชาการของการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งนี้ แต่เป็นเรื่องใหญ่ที่รอการแก้ไขอย่างจริงจัง ซึ่งหลายภาคส่วน ต่างเสนอให้ผลักดันเข้าเป็นวาระหนึ่งในการประชุมสมัชชาสุขภาพครั้งที่ 5 ให้ได้ ก่อนที่เด็กและเยาวชนซึ่งเป็นอนาคตของชาติ จะได้รับอันตรายไปมากกว่านี้
นอกจากขนมชายแดนไร้คุณภาพที่น่าเป็นห่วงแล้ว อีกประเด็นที่ไม่ควรมองข้าม คือขนมที่ผ่านการรับรอง เพราะเอาเข้าจริง เพียงเดินสำรวจในร้านสะดวกซื้อก็จะพบว่ามีไม่ถึงครึ่งที่เป็นขนมมีประโยชน์ นอกจากนั้นเป็นขนมที่มีรสหวาน มัน เค็ม ที่เป็นบ่อเกิดสู่โรคและอันตรายไม่แพ้กัน
เราคงไม่อยากเห็น “ขนม” ที่เป็นความสุขเล็กๆ ในชีวิตวัยเด็ก กลายเป็น “ดาบ” ที่ย้อนกลับมาสังหารและทำลายชีวิตวัยเด็กที่น่ารักสดใส