กรุงเทพฯ--7 ก.พ.--สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ
มติสมัชชาสุขภาพเรื่องยุติการส่งเสริมการขายยาที่ขาดจริยธรรมฯ เริ่มก้าวแรก ผนึกโรงพยาบาลชั้นนำ ศิริราชและบำรุงราษฎร์ เดินหน้าปลูกธรรมาภิบาล ระบุไม่จำเป็นต้องรอเกณฑ์ฯ ร่างเสร็จ แต่ต้องระวังเพราะอาจกระทบกับผู้เสียประโยชน์
ที่ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ ภายในสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 4 พ.ศ.2554 การรายงานผลการดำเนินงานตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 2 พ.ศ.2552 เรื่องยุติการส่งเสริมการขายยาที่ขาดจริยธรรมเพื่อลดความสูญเสียทางเศรษฐกิจและสุขภาพของผู้ป่วย คณะทำงานขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ส่งเสริมจริยธรรมผู้สั่งใช้ยาและยุติการส่งเสริมการขายยาที่ขาดจริยธรรมที่ได้รับการแต่งตั้งโดยคณะอนุกรรมการส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุผลภายใต้คณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ ได้เผยว่ามีการนำร่องการใช้ร่างเกณฑ์จริยธรรมว่าด้วยการส่งเสริมการขายยาที่อยู่ในขั้นตอนสุดท้ายก่อนประกาศใช้จริงแล้ว โดยสถานพยาบาลขนาดใหญ่และโรงเรียนแพทย์รับลูกพร้อมทดลองปฏิบัติ เช่น ศิริราชพยาบาล โรงพยาบาล มอ. หาดใหญ่โรงพยาบาลอภัยภูเบศร์ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ บริษัทและองค์กรเภสัชกรรม
ภญ.ดร.สุนทรี ท.ชัยสัมฤทธิ์โชค คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะเลขานุการคณะทำงานขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ส่งเสริมจริยธรรมผู้สั่งใช้ยาฯ กล่าวว่า ความคืบหน้าล่าสุดของร่างเกณฑ์จริยธรรมว่าด้วยการส่งเสริมการขายยาที่จะใช้เป็นเกณฑ์หรือแบบแผนการปฏิบัติของประเทศ ได้ผ่านกระบวนการรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ตั้งแต่วันที่ 10 ตุลาคม 2554 ซึ่งต่อมา คณะอนุกรรมการส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุผลได้มีมติเห็นชอบ เหลือเพียงการนำเสนอร่างดังกล่าวต่อคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติและประกาศใช้
“เพื่อให้ประชาชนประโยชน์จากร่างเกณฑ์นี้โดยเร็ว และช่วยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ลดงบประมาณการเบิกใช้ยาเกินความจำเป็น ทางคณะทำงานฯ จึงคิดว่าน่าจะนำสาระที่อยู่ในร่างเกณฑ์ฯ มาใช้ในสถานพยาบาลขนาดใหญ่ที่เห็นด้วยกับเรื่องนี้ ซึ่งความจริงก็ดำเนินการได้เลย ไม่ต้องรอประกาศการใช้เกณฑ์ฉบับเสร็จสมบูรณ์เพราะไม่ใช่กฎหมาย”
ภญ.ดร.สุนทรี กล่าวต่อด้วยว่า ถ้าสังคมตระหนักในจริยธรรมการขายยา ประชาชนที่มารับยาก็จะวางใจ ไม่ตั้งคำถามกับความสมเหตุผลของราคาและค่าใช้จ่ายในการรักษา หนำซ้ำ ราคายาก็อาจจะลดลงด้วย เนื่องจากบริษัทไม่มีค่าใช้จ่ายในการส่งเสริมการขายยา (เช่น ค่าใช้จ่ายให้ผู้สั่งจ่ายยาเดินทางไปต่างประเทศ) และหากต้องการให้เรื่องนี้บรรลุเป้าหมาย น่าจะรายงานความคืบหน้าในที่ประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติทุก ๆ 2 ปี นอกจากนี้ คณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติต้องช่วยผลักดันให้เกิดกลไกการขับเคลื่อนและการติดตามตรวจสอบ
อย่างไรก็ตาม การประกาศใช้เกณฑ์จริยธรรมนี้ก็ยังไม่ใช่คำตอบสุดท้ายหากปราศจากความตระหนักและการรู้ผิดชอบของผู้ที่เกี่ยวข้อง แม้แต่ในต่างประเทศ เช่น สหรัฐฯ และอังกฤษ ก็ยังมีปัญหา ทางออกที่ควรจะเป็นคือความโปร่งใส พร้อมเปิดเผยข้อมูลค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นค่าของขวัญตอบแทนแพทย์และเภสัชกร หรือค่าใช้จ่ายพิเศษอื่น ๆ
ด้าน ผศ.ภญ.ดร.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยสังคม ในฐานะรองประธานคณะทำงานขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ส่งเสริมจริยธรรมผู้สั่งใช้ยาฯ กล่าวเสริมด้วยว่า นอกจากประเด็นร่างเกณฑ์ดังกล่าว ยังมียุทธศาสตร์การพัฒนาระบบยาแห่งชาติ พ.ศ.2555 — 2559 ภายใต้นโยบายแห่งชาติด้านยา พ.ศ.2554 ขณะนี้ได้จัดทำเสร็จสมบูรณ์และประกาศใช้แล้ว ได้แก่ 1.การเข้าถึงยา เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงยาจำเป็นอย่างเสมอภาค ทั่วถึง และทันการณ์ ในราคาที่เหมาะสมกับศักยภาพในการจ่ายของประชาชน ตลอดจนฐานะทางเศรษฐกิจของประเทศ 2.การใช้ยาอย่างสมเหตุสมผล เพื่อส่งเสริมการใช้ยาของแพทย์ บุคลากรทางการแพทย์ และประชาชน ให้เป็นไปอย่างสมเหตุสมผล ถูกต้อง และคุ้มค่า 3.การพัฒนาอุตสาหกรรมผลิตยา ชีววัตถุ และสมุนไพร เพื่อการพึ่งพาตนเอง และ 4.การพัฒนาระบบการควบคุมยาเพื่อประกันคุณภาพ ประสิทธิผล และความปลอดภัยของยา.