กรุงเทพฯ--7 ก.พ.--ปตท.
ฝ่ายบริหารความเสี่ยงราคาและวิเคราะห์ตลาดต่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) รายงานถึงสถานการณ์ราคาน้ำมันว่า ราคาน้ำมันสัปดาห์ที่ 30 ม.ค. — 3 ก.พ. 55 ราคาน้ำมันดิบดูไบ (Dubai) เฉลี่ยเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 0.36 เหรียญสหรัฐฯ /บาร์เรล อยู่ที่ระดับ 109.41 เหรียญสหรัฐฯ /บาร์เรล และราคาน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) เฉลี่ยเพิ่มขึ้น 1.46 เหรียญสหรัฐฯ /บาร์เรล อยู่ที่ 111.99 เหรียญสหรัฐฯ /บาร์เรล อย่างไรก็ตามราคาน้ำมันดิบเวสเท็กซัส (WTI) เฉลี่ยลดลง 1.63 เหรียญสหรัฐฯ /บาร์เรล อยู่ที่ 97.81 เหรียญสหรัฐฯ /บาร์เรล ขณะที่ราคาน้ำมันเบนซิน 95 เฉลี่ยเพิ่มขึ้น 0.76 เหรียญสหรัฐฯ /บาร์เรล อยู่ที่ 125.82 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล และน้ำมันดีเซลเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 1.28 เหรียญสหรัฐฯ /บาร์เรล อยู่ที่ 128.16 เหรียญสหรัฐฯ /บาร์เรล โดยมีปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อราคา ได้แก่
ผลกระทบต่อราคาน้ำมันในเชิงบวก
- กระทรวงแรงงานสหรัฐฯ รายงานตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Non Farm Payroll) ประจำเดือน ม.ค. 55 เพิ่มขึ้น 243,000 ราย สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ 150,000 ราย ขณะที่อัตราการว่างงานของสหรัฐฯ ลดลงจากเดือนก่อนหน้า 0.2% อยู่ที่ระดับ 8.3% ต่ำสุดในรอบเกือบ 3 ปี
- Institute for Supply Management (ISM) ของสหรัฐฯ รายงานตัวเลขดัชนีภาคการผลิต หรือ Purchasing Managers' Index (PMI) ในเดือน ม.ค. 55 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า 1 จุด อยู่ที่ 54.1 จุด สูงสุดในรอบ 7 เดือน ทั้งนี้ PMI ที่สูงกว่าระดับ 50 จุด บ่งชี้ว่าภาคการผลิตขยายตัว
- The National Bureau of Statistics ของจีนรายงาน PMI ในเดือน ม.ค. 55 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า 0.2 จุด อยู่ที่ 50.5 จุด
- Reuters รายงานอิรักส่งออกน้ำมันดิบในเดือน ม.ค. 55 ลดลงจากเดือนก่อนหน้า 1.86% อยู่ที่ระดับ 2.11 ล้านบาร์เรลต่อวัน
- บริษัท Eni ของอิตาลีรายงานท่อขนส่งน้ำมันในไนจีเรียโดนโจมตี ส่งผลต่อการผลิตน้ำมันปริมาณ 4,000 บาร์เรลต่อวัน
ผลกระทบต่อราคาน้ำมันในเชิงลบ
- สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานของสหรัฐฯ (Energy Information Administration: EIA) รายงานปริมาณสำรองน้ำมันเชิงพาณิชย์สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 27 ม.ค. 55 โดยน้ำมันดิบเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อนหน้า 4.10 ล้านบาร์เรล อยู่ที่ 338.90 ล้านบาร์เรล, Gasoline เพิ่มขึ้น 3.00 ล้านบาร์เรล อยู่ที่ 230.10 ล้านบาร์เรล อย่างไรก็ตาม Distillate ลดลง 0.10 ล้านบาร์เรล อยู่ที่ 145.40 ล้านบาร์เรล
- กระทรวงพลังงานรัสเซียรายงานปริมาณการผลิตน้ำมันดิบในเดือน ม.ค. 55 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า 0.04 ล้านบาร์เรลต่อวัน
อยู่ที่ระดับ 10.36 ล้านบาร์เรลต่อวัน
- China National Petroleum Corp (CNPC) คาดการณ์ปริมาณนำเข้าน้ำมันดิบของจีนในปี 2555 อยู่ที่ระดับ 5.32 ล้านบาร์เรลต่อวัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 5.9% ซึ่งเป็นระดับการเติบโตที่ต่ำสุดตั้งแต่ปี 2549 เนื่องจากภาคธุรกิจส่งออกของจีนมีความต้องการใช้น้ำมันลดลงหลังได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลก
- Formosa Petrochemical Corp. (540 KBD) ของไต้หวันมีแผนปิดซ่อมบำรุง Crude Distillation Unit (CDU) หน่วยที่ 1 (180,000 บาร์เรลต่อวัน) ในช่วงวันที่ 15 ก.พ. 55 เป็นระยะเวลา 1-2 สัปดาห์ และ CDU หน่วยที่ 3 (180,000 บาร์เรลต่อวัน) ในเดือน เม.ย. 55 เป็นระยะเวลา 1 เดือน
- สำนักงานสถิติแห่งสหภาพยุโรป (Eurostat) รายงานอัตราการว่างงานของยุโรป 17 ประเทศ ในเดือน ธ.ค. 54 อยู่ที่ระดับ 10.4% สูงสุดตั้งแต่เดือน มิ.ย. 41
แนวโน้ม
ในระยะสั้นราคาน้ำมันดิบ Brent และ WTI มีแนวรับแนวต้านอยู่ที่ 112-116 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และ 96-99 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลตามลำดับ ทั้งนี้ราคาน้ำมันมีความผันผวนปรับตัวขึ้นลงตามปัจจัยพื้นฐานและปัจจัยทางจิตวิทยา โดยนักลงทุนมีความเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ส่งสัญญาณฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง หลังข้อมูลทางเศรษฐกิจออกมาแข็งแกร่ง อีกทั้งอิหร่านขู่จะตอบโต้ต่อมาตรการคว่ำบาตรของชาติตะวันตก ซึ่งฝ่ายความมั่นคงสหรัฐฯ (Defence Secretary) เชื่อว่าอิสราเอลอาจจะใช้กำลังทางทหารกับอิหร่าน เพื่อยับยั้งอิหร่านจากการพัฒนานิวเคลียร์ โดยอิสราเอลกล่าวว่าอิหร่านมีวัตถุดิบเพียงพอสำหรับสร้างอาวุธนิวเคลียร์ถึง 4 ลูกแล้ว นอกจากนั้นความหนาวเย็นในทวีปยุโรปส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันเพื่อทำความอบอุ่นเพิ่มสูงขึ้น โดยอากาศหนาวเย็นทำลายสถิติในหลายประเทศ และตัดเส้นทางคมนาคมระหว่างเมืองหลายสายในยุโรป อย่างไรก็ตามวิกฤตหนี้สินของกรีซสร้างความกังวลต่อนักลงทุนเป็นอย่างมาก เนื่องจากกรีซกำลังเจรจาตกลงแผนปรับโครงสร้างหนี้กับ Troika (European Union, European Central Bank และ IMF) เพื่อรับเงินช่วยเหลือ (Bail Out) ครั้งที่ 2 มูลค่า 1.3 แสนล้านยูโร เพื่อยับยั้งกรีซจากการผิดนัดชำระหนี้ในช่วงเดือน มี.ค. 55