จับทิศการเปลี่ยนแปลงธุรกิจสำคัญในปีมังกรทอง

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday February 7, 2012 18:04 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--7 ก.พ.--ธนาคารกรุงศรีอยุธยา หลังผ่านพ้นช่วงวิกฤตน้ำท่วมที่ส่งผลกระทบในวงกว้าง เข้าสู่ช่วงแห่งการฟื้นตัวใน “ปีมังกรทอง” หลายธุรกิจสำคัญของไทยกำลังเข้าสู่กระแสแห่งการเปลี่ยนแปลงที่น่าจับตา จากหลายปัจจัยที่จะมีอิทธิพลทั้งเชิงบวกและเชิงลบ ซึ่งอาจมีผลให้ภาคธุรกิจต้องเร่งปรับตัวขนานใหญ่ สำหรับปัจจัยหลักดังกล่าวอาจสรุปได้ดังนี้ - นโยบายภาครัฐ แรงขับเคลื่อนทิศทางหลายธุรกิจในปีนี้ อาจมีผลมาจากนโยบายภาครัฐหลายๆ ด้าน ทั้งจากนโยบายการกระตุ้นการใช้จ่ายภาครัฐ มาตรการการฟื้นฟูความเสียหายจากน้ำท่วม มาตรการปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ มาตรการปรับเพิ่มราคาพลังงาน ความต่อเนื่องและการเร่งรัดการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน รวมทั้งการปรับเปลี่ยนนโยบายและมาตรการเฉพาะธุรกิจอีกหลายด้านที่ต้องติดตาม ซึ่งอาจกระทบทิศทางธุรกิจ อาทิ พลังงาน โทรคมนาคม การเงิน เป็นต้น - การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก จากการคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกโดยรวมในปีนี้และระยะถัดต่อไปจะขยายตัวในอัตราต่ำ ตลอดจนความเสี่ยงที่มีอยู่มากและไม่แน่ชัดว่าปัญหาหนี้สาธารณะของยุโรปจะนำไปสู่วิกฤตการเงินโลกหรือไม่ แต่อย่างน้อยคงเลี่ยงไม่พ้นที่ยูโรโซนจะเผชิญภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจ ซึ่งย่อมจะมีผลกดดันภาคการค้าระหว่างประเทศ การลงทุน และตลาดการเงินทั่วโลก - ผลสืบเนื่องจากวิกฤตน้ำท่วม ปัญหาการสะดุดของห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain Disruption) ยังอาจยืดเยื้อไปจนถึงไตรมาส 2 ของปีนี้ ทำให้ภาคการผลิตยังคงติดขัดในบางอุตสาหกรรม ส่วนปัจจัยด้านตลาดอาจส่งผลดีต่อบางธุรกิจที่จะได้รับผลประโยชน์จากความต้องการสินค้าเพื่อการทดแทนที่เสียหาย แต่ในด้านลบจะฉุดกำลังซื้อในกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับสินค้าฟุ่มเฟือย นอกจากนี้ น้ำท่วมใหญ่ที่ผ่านมายังจะก่อให้เกิดทั้งความเสี่ยง/โอกาสในด้านทำเลที่ตั้งซึ่งมีผลโดยตรงต่อธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ โดยเฉพาะที่อยู่อาศัย และนิคมอุตสาหกรรม ที่อาจเกิดภาวะชะงักงันหรือทำให้ทิศทางตลาดเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม - ภาวะแปรปรวนของภูมิอากาศและภัยพิบัติทางธรรมชาติ มีการคาดหมายว่าปรากฏการณ์ La Nina จะลากยาวไปอีกหลายเดือน ขณะที่ไทยถูกระบุว่าอยู่ในทำเลที่ตั้งที่เสี่ยงต่อพิบัติภัยธรรมชาติ ทำให้ความเสี่ยงต่อภาคเกษตรและอุตสาหกรรมจะยังมีอยู่ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อเนื่องถึงความน่าลงทุนของไทย ภาคธุรกิจที่น่าจับตาในปี 55 ธุรกิจการเกษตร: La nina ลากยาวเสี่ยงกระทบผลผลิตไทย ขณะราคาตลาดโลกแผ่ว ภาคเกษตรของไทยยังคงมีแนวโน้มเผชิญความไม่แน่นอนของผลผลิตจากสภาพอากาศผันผวน ล่าสุดองค์การอุตุนิยมวิทยาโลกระบุว่าวิกฤต La Nina จะยังลากยาวสร้างปัญหาให้ไทยถึงกลางปี 55 ทำให้มีปริมาณฝนมากกว่าปกติ (เช่นที่กำลังเกิดขึ้นในภาคใต้) และอาจเกิดแล้งรุนแรงในบางพื้นที่ (เช่นที่กำลังเกิดขึ้นในภาคอีสาน) ขณะที่แนวโน้มระดับราคาในตลาดโลกที่เป็นปัจจัยหนุนรายได้ภาคเกษตรมาตลอด 2-3 ปีจะมีทิศทางแผ่วลง แม้จะยังอยู่ในระดับสูง สาเหตุจากปริมาณผลผลิตเกษตรทั่วโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากการเร่งขยายพื้นที่เพาะปลูก สวนทางความต้องการบริโภคที่มีสัญญาณชะลอลง โดยเฉพาะความต้องการยางพารา (สินค้าเกษตรส่งออกอันดับ 1 ของไทย) ซึ่งอิงกับอุตสาหกรรมรถยนต์โลกเป็นหลัก จะเสี่ยงชะลอตัวตามเศรษฐกิจประเทศชั้นนำ และอาจมีผลฉุดราคาให้ทรุดลงแรง ขณะที่ข้าวซึ่งราคารับซื้อของไทยสูงกว่าตลาดโลกมากจากผลโครงการจำนำข้าว จะกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันในตลาดส่งออก ทำให้มีแนวโน้มที่ปริมาณส่งออกข้าวตกต่ำกว่าปีก่อนมาก อุตสาหกรรมเบา (Light Industry): ต้นทุนแรงงานพุ่ง...เร่งย้ายฐานการลงทุน นอกเหนือจากปัญหาขาดแคลนแรงงานของไทยที่เป็นสาเหตุให้เกิดการทยอยย้ายฐานการผลิตสู่ประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนในช่วงหลายปีที่ผ่านมา การผลักดันนโยบายปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 300 บาท ที่จะเริ่มมีผลตั้งแต่ 1 เม.ย.55 นำร่องในพื้นที่ 7 จังหวัด โดยเฉพาะกรุงเทพฯ และปริมณฑลซึ่งเป็นแหล่งกระจุกตัวของโรงงานผลิตสิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม รองเท้าจำนวนมาก จะยิ่งเป็นปัญหาซ้ำเติมอุตสาหกรรมนี้ที่เน้นการแข่งขันด้านราคา มีผลฉุดรั้งขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยให้ยิ่งตกต่ำ จึงมีแนวโน้มที่ทุนไทยจะต้องหนีตายย้ายฐานผลิตออกนอกประเทศอีกระลอกใหญ่ โดยเฉพาะไปลงทุนในแถบอินโดจีนซึ่งมีความพร้อมด้านกำลังแรงงานต้นทุนต่ำ และกำลังอ้าแขนรับการลงทุนจากต่างประเทศมากขึ้น อุตสาหกรรมไฮเทค: ยานยนต์และเครื่องใช้ไฟฟ้าอาจฟื้นแบบ V-Shape สวนทางอิเล็กทรอนิกส์ที่มีสัญญาณชะลอตัว ปี 55 จะเป็นช่วงเวลาแห่งการฟื้นตัวจากวิกฤต Supply Chain Disruption ครั้งรุนแรงจากผลกระทบน้ำท่วม โดยรวมคาดว่าจะเห็นการฟื้นตัวของกิจกรรมการผลิตอย่างค่อยเป็นค่อยไปในช่วงครึ่งแรกของปี โดยประเมินว่าอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนจะมีทิศทางการฟื้นตัวที่เร็วกว่าและอาจเห็นการฟื้นตัวในลักษณะ “V-shape” เนื่องจากมีแรงหนุนจากความต้องการที่ยังแข็งแกร่ง ทั้งจากตลาดในประเทศที่ได้มาตรการรถยนต์ คันแรกช่วยกระตุ้นตลาด ซึ่งคาดว่าผลจากน้ำท่วมจะทำให้ผู้บริโภคกลับมานิยมรถกระบะมากขึ้น ขณะที่ตลาดส่งออกซึ่งกระจุกตัวในเอเชียแปซิฟิกและตะวันออกกลางยังมีลู่ทางสดใส เช่นเดียวกับอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ได้แรงหนุนจากความต้องการในประเทศเพื่อทดแทนสินค้าที่เสียหาย และความต้องการในเอเชียที่เป็นตลาดหลักยังขยายตัวตามพลวัตทางเศรษฐกิจ โดยไทยมีขีดความสามารถในการแข่งขันสูงโดยเฉพาะกลุ่มเครื่องทำความเย็น (Cooling) อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์เสี่ยงเผชิญการทรุดตัวของตลาดอิเล็กทรอนิกส์โลกที่ส่อเค้าวิกฤตใกล้เคียงปี 51 และปัญหาเศรษฐกิจของประเทศชั้นนำที่มีแนวโน้มลากยาว ซึ่งย่อมส่งผลลบต่ออุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ไทยในฐานะที่เป็นฐานการผลิตที่สำคัญแห่งหนึ่งใน Global Production Network พลังงานไฟฟ้า: ความชัดเจนของนโยบายค่าไฟฟ้าใหม่ ชี้ทิศการลงทุนพลังงานหมุนเวียน แม้ธุรกิจพลังงานหมุนเวียนจะมีโอกาสทางการตลาดค่อนข้างสูง เนื่องจากการลงทุนโรงไฟฟ้าแบบดั้งเดิมยังเผชิญข้อจำกัด ทั้งโรงไฟฟ้าจากถ่านหินที่มีปัญหาจากแรงต้านของชุมชน โรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติที่เสี่ยงจากแหล่งก๊าซที่ร่อยหรอ ขณะที่โอกาสการลงทุนโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในระยะอันใกล้ก็ดูจะริบหรี่หลังเกิดเหตุโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในญี่ปุ่นรั่วไหล แต่การเปลี่ยนแปลงนโยบายค่าไฟฟ้าใหม่ที่ยังไม่ชัดเจนในรายละเอียด อาจทำให้เกิดการชะงักของการลงทุนใหม่ๆ อีกทั้งยังต้องติดตามว่าผลตอบแทนการลงทุนจากระบบโครงสร้างค่าไฟฟ้าฐานในอัตราคงที่ตลอดอายุโครงการ (Feed in tariff) ที่จะมาแทนระบบเดิมซึ่งให้ส่วนเพิ่มรับซื้อไฟฟ้า (Adder) จะยังคงจูงใจให้เกิดการลงทุนมากน้อยเพียงใด สื่อสารโทรคมนาคม: กสทช. คลอดแผนแม่บท ... ได้เวลาเดินหน้าลงทุน ผลจากความคืบหน้าของ กสทช. ในการจัดทำร่างกฎระเบียบควบคุมกิจกรรมสื่อสารโทรคมนาคมที่แล้วเสร็จ และจะเปิดให้มีการทำประชาพิจารณ์ในช่วงต้นปี 55 จะทำให้ผู้ประกอบการเริ่มมั่นใจที่จะขยับการลงทุน โดยเฉพาะผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือที่มีแนวโน้มเร่งลงทุนขยายโครงข่ายรองรับ 3G เพิ่มขึ้นจากที่สะดุดมาหลายปี อีกทั้งยังเป็นโอกาสในการเพิ่มรายได้จากบริการด้านข้อมูลหรือบริการที่ไม่ใช่เสียง (Non-voice services) ใหม่ๆ บนคลื่นความถี่ 3G ขณะที่การขยับกฎเกณฑ์ธุรกิจสื่อสารวิทยุ-โทรทัศน์-ทีวีดาวเทียม จะเปิดโอกาสให้ผู้เล่นเอกชนหน้าใหม่เข้าสู่ธุรกิจเพิ่มขึ้น พร้อมกับมีการลงทุนใหม่ๆ อาทิ การขยายธุรกิจของผู้ผลิตคอนเทนต์และสื่อ การลงทุนโครงข่ายสื่อสารของผู้ให้บริการทีวีดาวเทียม เป็นต้น อสังหาริมทรัพย์: คอนโดเร่งผุดหนีเงื่อนไขเข้มของผังเมืองรวม กทม.ฉบับใหม่ สวนกระแสบ้านแนวราบซบหลังน้ำท่วมหลายปัจจัยดูจะเป็นแรงส่งให้ธุรกิจคอนโดมีเนียมเร่งตัวในปีนี้ ข้อกำหนดผังเมืองรวม กทม. ฉบับใหม่ที่คาดว่าจะบังคับใช้ พ.ค.56 กำหนดความกว้างถนนที่จะพัฒนาโครงการอาคารสูงได้เป็นไม่ต่ำกว่า 12 เมตร จะทำให้พื้นที่ในการพัฒนาโครงการใหม่จำกัดลง เร่งให้ผู้ประกอบการผุดคอนโดมีเนียมมิเนียม อพาร์ทเม้นท์ หอพักเพิ่มในพื้นที่ซอยแคบ โดยเฉพาะแถบถนนสุขุมวิท และพหลโยธิน สอดรับกับความต้องการอาคารสูงที่น่าจะบูมจากผลกระทบน้ำท่วม แต่โอกาสจะเอื้อกับผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีทุนหนา เพราะที่ดินหายากและราคาแพง นอกจากนี้ อานิสงส์ยังจะเอื้อกับคอนโดมีเนียมมิเนียมหรืออพาร์ทเม้นท์มือสองที่อาจได้ราคาสูงขึ้นตามมา ผิดกับตลาดบ้านแนวราบที่อาจซบเซาในช่วงครึ่งแรกจากความกังวลในทำเลเสี่ยงน้ำท่วม ขณะที่เจ้าของโครงการก็อาจต้องชะลอการลงทุนในบางโครงการที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยง และลงทุนวางระบบป้องกันน้ำท่วมซึ่งเป็นการเพิ่มต้นทุนในจังหวะที่ราคาวัสดุก่อสร้างและค่าแรงปรับสูง อาจกดดันมาร์จินให้บางลง ทั้งนี้ยังต้องจับตาว่ามาตรการบ้านหลังแรกจะมีแรงหนุนพอที่ช่วยให้ตลาดพลิกฟื้นกลับมาได้เพียงใดในช่วงครึ่งหลังของปี สำหรับผลกระทบต่อธุรกิจนิคมอุตสาหกรรม คาดว่านิคมฯ ในแหล่งน้ำท่วมจะเผชิญแรงกดดันจากต้นทุนที่เพิ่มขึ้นในการฟื้นฟูพื้นที่ และยังมีโอกาสสูญเสียรายได้ทั้งค่าสาธารณูปโภคและค่าเช่าหลังการหยุดชะงักและย้ายออกของบางโรงงาน รวมทั้งมีความเสี่ยงสูงในการขยายและขายพื้นที่ในอนาคต แต่นิคมฯ ที่ตั้งในพื้นที่ที่ไม่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมจะยิ้มรับโอกาสการเติบโตสูงจากอานิสงส์การย้ายฐานหนีน้ำท่วมของภาคอุตสาหกรรม และการจับจองที่ดินขยายการลงทุนใหม่ๆ นอกจากนี้ ยังจะเกิดโอกาสในการพัฒนานิคมฯ แห่งใหม่ ซึ่งขณะนี้มีการพูดกันมากถึงการพัฒนานิคมฯ แถบชายแดนภายใต้ยุทธศาสตร์ของทางการ ซึ่งล่าสุดการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) อยู่ระหว่างการศึกษาพื้นที่เพื่อพัฒนานิคมฯ ใหม่ 4 แห่ง คือ นิคมฯ พุน้ำร้อน (จ.กาญจนบุรี) นิคมฯ ขอนแก่น (จ.ขอนแก่น) นิคมฯ เชียงของ และ นิคมฯ แม่สอด (จ.ตาก) เพื่อหนุนเสริมการเชื่อมโยงฐานผลิตและโลจิสติกส์ในภูมิภาค รวมทั้งโครงการพัฒนานิคมฯ พื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ที่ถูกจุดพลุขึ้นมาใหม่โดยสภาพัฒน์ฯ ซึ่งจะปูทางให้เกิดการขยายการลงทุนของภาคเอกชนตามมา รับเหมาก่อสร้างและวัสดุก่อสร้าง: โครงการภาครัฐและอุปสงค์เพื่อการซ่อมแซมดันก่อสร้างคึกคัก ในภาพรวมธุรกิจสองกลุ่มนี้ได้ชื่อว่าเป็นดาวเด่นรับอานิสงส์น้ำท่วมทั้งขาขึ้นขาลง หากมองปี 55 กลุ่มผู้รับเหมาที่มีแนวโน้มสดใส และจะมีงานในมือ (Backlog) เพิ่มขึ้น จำแนกเป็น 1) กลุ่มที่เน้นโครงการภาครัฐ จากการเร่งพัฒนาโครงการป้องกันน้ำท่วม การซ่อมแซมถนนหนทางที่ได้รับความเสียหาย และการเร่งสานต่อโครงการรถไฟฟ้าหลังชะลอไปช่วงน้ำท่วม อาทิ สายสีม่วง และสีน้ำเงิน รวมถึงสายสีเขียว (แบริ่ง-สมุทรปราการ) และสายสีแดง (บางซื่อ-รังสิต) ที่น่าจะเริ่มก่อสร้างช่วงกลางปีนี้ 2) กลุ่มที่เน้นโครงการภาคเอกชน ในส่วนของด้านงานฟื้นฟูโรงงานทั้งในและนอกนิคมอุตสาหกรรมที่เสียหายจากน้ำท่วมซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นรายใหญ่ และงานซ่อมแซมที่อยู่อาศัย ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นรายเล็กในพื้นที่ โดยมูลค่ารับเหมาก่อสร้างในส่วนที่จะได้รับประโยชน์ข้างต้นคิดเป็นสัดส่วนถึงกว่า 60% ขณะที่ผู้รับเหมารายใหญ่โครงการบ้านจัดสรร อาจได้รับผลกระทบจากตลาดที่ยังซบเซา โดยเฉพาะแนวราบซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่แถบพื้นที่เสี่ยงรอบนอก กทม. ทั้งนี้ ทิศทางธุรกิจก่อสร้างส่วนใหญ่ที่ยังคึกคักจะช่วยหนุนตลาดวัสดุก่อสร้างไม่ว่าจะเป็นคอนกรีต ปูนซีเมนต์ เหล็กเส้น สี กระเบื้อง เฟอร์นิเจอร์ ให้ครึกครื้นตามไปด้วย ธุรกิจการเงิน: จับตานโยบายและมาตรการรัฐ ... ผลต่อโอกาสและการแข่งขัน ปี 55 อาจเป็นอีกปีแห่งการปรับตัวของธุรกิจการเงินไทย ซึ่งเป็นผลจากการเปลี่ยนนโยบายและมาตรการของรัฐ โดยนโยบายการเปิดเสรีภาคบริการด้านการเงินรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในปี 58 มีความคืบหน้าอย่างมากในกลุ่มธุรกิจหลักทรัพย์ ที่ไทยจะเปิดเสรีเต็มรูปแบบในปีนี้ จะทำให้ค่านายหน้าเฉลี่ยลดลงต่อเนื่อง (มีการทยอยลดค่าธรรมเนียมมาตั้งแต่ปี 53) และมีการเข้ามาแข่งขันของรายใหม่อย่างเสรีมากขึ้น ภาวะการแข่งขันจะรุนแรงขึ้น และยิ่งเร่งกระแสการควบรวมกิจการ สำหรับธนาคารพาณิชย์ ในปีนี้จะเป็นปีที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อนุญาตให้สาขาธนาคารต่างประเทศ 16 แห่งในไทยยื่นขออนุญาตเป็นธนาคารพาณิชย์ที่เป็นบริษัทลูกของธนาคารพาณิชย์ในต่างประเทศ (Subsidiary) ซึ่งสามารถขยายสาขาและการให้บริการได้กว้างขึ้น แต่คาดว่าจะไม่กระทบธนาคารพาณิชย์ไทยมากนัก เนื่องจากธนาคารพาณิชย์ไทยยังมีความได้เปรียบในการเข้าถึงลูกค้าจากสาขาที่มีกว่า 6 พันสาขา ความกังวลภาวะแข่งขันในระยะสั้นจึงยังจำกัดอยู่ในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ไทยด้วยกัน และธนาคารเฉพาะกิจของรัฐที่หันมารุกตลาดมากขึ้น ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นการสนองนโยบายรัฐบาล อย่างไรก็ตาม ความก้าวหน้าของการเปิดเสรีภาคการค้าและการลงทุนภายใต้กรอบ AEC จะทำให้ภาคธนาคารไทยจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับธุรกรรมการเงินระหว่างประเทศที่จะเพิ่มขึ้นมาก ขณะที่เป้าหมายการเปิดเสรีภาคธนาคารตามกรอบ AEC ในปี 63 จะเป็นความท้าทายในการเร่งเพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุน ตลอดจนพัฒนา?ความหลากหลายของผลิตภัณฑ์?และ?การบริหาร?ความ?เสี่ยง เพื่อรับการแข่งขันที่จะเข้มข้นขึ้นในอนาคต อนึ่ง จากกรณีล่าสุดที่รัฐบาลเตรียมออกกฎหมายโอนหนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน 1.14 ล้านล้านบาทให้ ธปท.เป็นผู้ชำระทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย (จากเดิมที่กระทรวงการคลังเป็นผู้รับภาระดอกเบี้ยให้) ซึ่งแม้จะยังไม่ชัดเจนในรายละเอียดของข้อกฎหมายและแนวทางในการจัดหารายได้เพิ่มของ ธปท. แต่หลายแนวทางที่ ธปท.กำลังศึกษา ไม่ว่าจะเป็นการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมเพิ่มจากธนาคารพาณิชย์ ทั้งจากการออกตั๋วแลกเงิน (B/E) และเงินฝาก รวมทั้งภาระในการนำส่งส่วนต่าง 7% จากการปรับลดภาษีนิติบุคคลตามนโยบายรัฐเข้ากองทุนฟื้นฟูฯ ล้วนแต่มีผลให้ต้นทุนของธนาคารพาณิชย์เพิ่มขึ้น ส่วนกรณีที่รัฐบาลจะแก้กฎหมายให้ ธปท.สามารถปล่อยสินเชื่อเงื่อนไขผ่อนปรน (Soft Loan) ผ่านธนาคารพาณิชย์ วงเงิน 2.1 แสนล้านบาท เพื่อช่วยเหลือธุรกิจ SMEs และประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมเป็นกรณีพิเศษนั้น น่าจะช่วยเสริมโอกาสในการขยายฐานลูกค้าสินเชื่อ และเอื้อไปสู่การขยายฐานลูกค้าผลิตภัณฑ์การเงินอื่นๆ ได้กว้างขึ้น ไม่เพียงธุรกิจที่มีการเปลี่ยนแปลงหวือหวาและน่าจับตาข้างต้น ยังมีธุรกิจอื่นๆ ที่น่าสนใจและมีแนวโน้มฉายแววสดใส อาทิ โรงพยาบาล ค้าปลีกสมัยใหม่ ที่ยังคงได้แรงหนุนจากตลาดที่แข็งแกร่ง นอกจากนี้ หากมองในระยะถัดไป ผลจากการพัฒนาโครงข่ายเชื่อมโยงและการเปิดเสรีที่มีความก้าวหน้ามากขึ้น ตลอดจนพลวัตทางเศรษฐกิจของประเทศเพื่อนบ้าน จะทำให้ธุรกิจหลายประเภทได้รับประโยชน์จากระบบการเชื่อมโยงในภูมิภาคดังกล่าว อย่างไรก็ตาม การพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจ/อุตสาหกรรมไทยที่จะต้องจริงจังมากขึ้น ยังเป็นโจทย์ที่ท้าทายสำหรับไทย หากจะเก็บเกี่ยวผลประโยชน์เต็มเม็ดเต็มหน่วยจากพลวัตข้างต้น บทความโดยฝ่ายวิจัย บมจ.ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ซึ่งเป็นเพียงข้อคิดเห็นส่วนบุคคลของผู้เขียนเท่านั้น จึงไม่มีความจำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของธนาคารแต่อย่างใด

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ