กรมอุทยานแห่งชาติฯ เตรียมรถ 10 ล้อขนช้างเร่ร่อนออกนอกกรุง ประกาศลั่นห้ามช้างเร่ร่อนเข้ากรุงฯอีก

ข่าวทั่วไป Thursday March 25, 2004 10:06 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--25 มี.ค.--กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม
กรมอุทยานแห่งชาติฯ เตรียมรถ 10 ล้อขนช้างเร่ร่อนออกนอกกรุง ประกาศลั่นห้ามช้างเร่ร่อนเข้ากรุงฯอีก โดยให้นำช้างออกนอกพื้นที่กรุงเทพมหานคร หากฝ่าฝืนจะดำเนินการจับกุมทันที พร้อมจัดตั้งศูนย์อำนวยการจัดการช้างเร่ร่อนแล้ว ดีเดย์เมษายนนี้
นายสมชัย เพียรสถาพร อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า คณะกรรมการกำกับนโยบายช้างแห่งชาติได้มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2547 ให้มีการออกประกาศแจ้งเตือนที่ลงนามโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในฐานะประธานคณะกรรมการฯ ห้ามไม่ให้มีการนำช้างเข้ามาในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล ทั้งนี้เพื่อเป็นการกำกับดูแลไม่ให้มีช้างเข้ามาเร่ร่อนในเขตเมือง โดยประกาศดังกล่าวให้ระยะเวลาการแจ้งเตือนมาประมาณ 15 - 20 วันแล้ว และถ้าพ้นกำหนดในเดือนเมษายนนี้จะเริ่มต้นดำเนินการจับกุมอย่างจริงจังแน่นอน หากพบว่ามีการฝ่าฝืนนำช้างเข้ามาเร่ร่อนหากินในเขตเมือง
"เราได้มีการตั้งศูนย์อำนวยการจัดการช้างเร่ร่อนขึ้น ที่กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ถ.พหลโยธิน โดยศูนย์นี้เป็นความร่วมมือระหว่างกรุงเทพมหานคร กองกำกับการตำรวจภูธร องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ และกรมอุทยานฯ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาช้างเร่ร่อนในเขตเมืองอย่างจริงจัง โดยเราได้มีการจัดเตรียมควาญช้าง 20 คน รถบรรทุก 10 ล้อ ที่จะใช้ในการขนส่งช้างไปยังพื้นที่รองรับที่ได้จัดไว้ในจังหวัดต่างๆ อาทิ กาญจนบุรี ปราจีนบุรี แม่ฮ่องสอน เป็นต้น โดยจะนำไปเลี้ยงดูไว้รอให้เจ้าของช้างนำหลักฐานมาแสดงเพื่อขอรับกลับไป ซึ่งเราจะต้องมีการตรวจสอบหลักฐานอย่างละเอียดเพื่อให้มั่นใจว่าช้างเชือกดังกล่าวเป็นช้างไทย ไม่ใช่ช้างเพื่อนบ้านที่ถูกนำมาสวมทะเบียน"
การแก้ปัญหาช้างเร่ร่อนนั้นมีความยุ่งยากพอสมควร เนื่องจากรายได้ที่ควาญช้างได้รับจากการนำช้างเข้ามาเร่ร่อนหากินในเขตเมืองนั้นสูงถึงวันละ 1,000 - 5,000 บาท จึงทำให้มีการนำช้างเข้ามาเร่ร่อนหากินจำนวนมาก โดยปัจจุบันคาดว่าจะมีถึง 200 -300 บาท ซึ่งการกระทำดังกล่าวจัดเป็นการทารุณสัตว์เนื่องจากช้างต้องการอาหารถึงวันละ 300 ก.ก. ช้างเร่ร่อนส่วนใหญ่จึงมีสภาพขาดอาหาร
"ที่ผ่านมาเรายังไม่มีกฎหมายที่จะเอาผิดควาญช้างซึ่งนำช้างเข้ามาเร่ร่อนในเขตเมือง แต่ขณะนี้เราได้มีการกำหนดแผนแม่บทการอนุรักษ์ช้างแห่งชาติขึ้นมา ทำให้มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาหลายชุด เพื่อแก้ปัญหาในเรื่องต่างๆ เกี่ยวกับช้าง ซึ่งในเรื่องการแก้ไขกฎหมายเพื่อเอาผิดผู้ที่เกี่ยวข้องนั้นจะเป็นหน้าที่ของคณะอนุกรรมการฝ่ายกฎหมายที่จะเข้าไปดูแลแก้ไข"
แผนแม่บทการอนุรักษ์ช้างแห่งชาตินี้มีกำหนดระยะเวลาการดำเนินการตั้งแต่ปี 2547-2555 โดยมีเป้าหมายหลัก 2 ส่วน คือ 1. ช้างป่า มีเป้าหมายให้ได้รับการคุ้มครองอย่างจริงจัง รวมทั้งมีการฟื้นฟูพื้นที่ป่าให้มีความอุดมสมบูรณ์และปลอดภัยในการเป็นแหล่งอาศัยของช้างป่า ตลอดจนมีการจัดการให้คนอยู่ร่วมกับช้างป่าอย่างสันติ โดยการร่วมมือกับประชาชน องค์กรเอกชนสร้างแหล่งอาหารให้ช้าง รวมทั้งวางมาตรการเฝ้าระวังไม่ให้ช้างลงมากินพืชไร่ นอกจากนั้นยังมีการสนับสนุนด้านทรัพยากรและให้ความรู้แก่ประชาชนในท้องถิ่นให้มีความเข้มแข็งในการดูแลตนเอง อาทิ การส่งเสริมให้มีการจัดกิจกรรมสร้างรายได้จากช้างป่า ไม่ว่าจะเป็นการจัดกิจกรรมดูช้างที่ลงจากป่า หรือการขายผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นที่มีตราสัญลักษณ์เป็นมิตรกับช้าง เป็นต้น 2. ช้างเลี้ยงหรือช้างบ้าน มีเป้าหมายในเรื่องการจัดการให้เกิดความเหมาะสมแก่การเป็นสัตว์สัญลักษณ์ประจำชาติ โดยจัดการให้ได้รับความคุ้มครองจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเพื่อให้มีความเป็นอยู่ที่สมศักดิ์ศรี ไม่ควรนำใช้ชีวิตเร่ร่อนหากินในเขตเมือง ซึ่งการจัดตั้งโครงการช้างลาดตระเวนป่านั้นเป็นแนวทางหนึ่งในการแก้ปัญหา
"โครงการนี้ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี โดยสามารถทำให้ช้างที่เข้าร่วมโครงการมีอาหารกินสมบูรณ์ทำให้ร่างกายแข็งแรง ส่วนควาญช้างก็ไม่ต้องออกมาเร่ร่อนอยู่ในเมือง ขณะที่เจ้าหน้าที่ก็ได้รับประโยชน์จากการที่มีช้างช่วยทำหน้าที่แบกเสบียงอาหารสัมภาระ รวมทั้งนำส่งเจ้าหน้าที่ที่เจ็บป่วยเข้ามารักษาได้ทันท่วงที ซึ่งปัจจุบันมีช้างเข้าร่วมโครงการ 88 เชือก ในเขตพื้นที่อุทยาน 15 แห่ง และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า 10 แห่ง โดยโครงการนี้ได้มีการต่ออายุออกไปถึงวันที่ 30 กันยายน 2547 ซึ่งควาญช้างสามารถนำช้างเข้าร่วมโครงการได้
ส่วนประชาชนทั่วไปหากพบเห็นช้างเร่ร่อน ตั้งแต่เดือนเมษายนเป็นต้นไปก็สามารถแจ้งมายังศูนย์อำนวยการจัดการช้างเร่ร่อน ที่สายด่วน 1326 ตลอด 24 ช.ม. ทางศูนย์จะจัดส่งเจ้าหน้าที่ไปจัดการ--จบ--
-นท-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ