กรุงเทพฯ--9 ก.พ.--IR network
ที่ปรึกษาทางการเงินอิสระแนะผู้ถือหุ้นของ บมจ.โรงพิมพ์ตะวันออก หรือ EPCO อนุมัติแผนลงทุนก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ขนาด 10 เมกะวัตต์ ระบุชัดเกิดผลดีต่อ EPCO ทั้งช่วยในเรื่องการกระจายความเสี่ยงทางธุรกิจไปสู่ธุรกิจที่มีความมั่นคง มีรายได้ที่แน่นอน และจะช่วยเพิ่มโอกาสสร้างผลตอบแทนที่ดีให้แก่ผู้ถือหุ้นในอนาคตได้ เหตุเป็นการลงทุนในพลังงานทดแทนที่ภาครัฐให้การสนับสนุน อันเกิดจากเพิ่มค่าไฟฟ้า (Adder) ที่ราคา 8 บาทต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง เป็นเวลา 10 ปี เผยโครงการนี้มี IRR ในช่วง 13.83-18.24% เริ่มรับรู้รายได้ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2555 นี้
ตามที่ บริษัท โรงพิมพ์ตะวันออก จำกัด (มหาชน) (EPCO) ได้มีมติจัดตั้งบริษัทย่อยใหม่ คือ บริษัท เอ็ปโก้ กรีน เพาเวอร์ พลัส จำกัด (EPCO GP) โดยถือหุ้นในสัดส่วนร้อยละ 76 และบริษัท เซลทิค สแควร์ จำกัด (CELTIC) ถือหุ้นในสัดส่วนร้อยละ 24 เพื่อการเข้าซื้อหุ้นสามัญและรับโอนสิทธิ เรียกร้องที่ บริษัท อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ วิศวการ จำกัด (มหาชน) (IFEC) มีต่อ บริษัท ไอเฟค กรีน เพาเวอร์ พลัส จำกัด (IFEC GP) ซึ่งปัจจุบัน IFEC GP มีทุนจดทะเบียนรวม 100 ล้านบาท ชำระเต็มมูลค่า ก่อตั้งขึ้นเพื่อประกอบกิจการเกี่ยวกับพลังงานทดแทนและระบบขนส่ง และจะเป็นผู้ดำเนินการโครงการโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ ขนาดประมาณ 10 เมกะวัตต์ ที่อำเภอบ่อพลอย จังหวัดกาญจนบุรี โดยการเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัท เจเคอาร์ พลังงาน จำกัด (JKR) ในขนาดกำลังการผลิตประมาณ 5 เมกะวัตต์ และบริษัท อาร์พีวี พลังงาน จำกัด (RPV) ขนาดกำลังการผลิตประมาณ 5 เมกะวัตต์ รวม 2 บริษัท เท่ากับประมาณ 10 เมกะวัตต์ โดยมีสิทธิในสัญญาขายไฟฟ้าให้แก่ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และได้รับส่วนเพิ่มราคารับซื้อจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ในราคา 8 บาทต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง สำหรับระยะเวลา 10 ปี ปัจจุบัน JKR และ RPV อยู่ระหว่างการเตรียมงานก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์
นอกจากนี้คณะกรรมการ EPCO ได้มีมติอนุมัติในหลักการเข้าทำรายการได้มาซึ่งสินทรัพย์ของบริษัท โดยให้ลงทุนในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ด้วยงบลงทุนทั้งสิ้น ประมาณ 1,010 ล้านบาท โดยบริษัทจะลงทุนผ่าน IFEC GP ในฐานะบริษัทย่อยของบริษัท ที่ถือหุ้นใน สัดส่วนร้อยละ 76 ผ่านการดำเนินการโดย JKR และ RPV ที่ทาง IFEC GP มีสัดส่วนการถือหุ้นเท่ากับร้อยละ 98.80 และ 98.96 ตามลำดับ ซึ่งงบลงทุนที่ใช้ดำเนินโครงการดังกล่าวจะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนของผู้ถือหุ้นประมาณร้อยละ 27 และส่วนของเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงินประมาณร้อยละ 73 ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดหาเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงิน
EPCOได้แต่งตั้งให้ บริษัท แอสเซท โปร แมเนจเม้นท์ จำกัด ให้เป็นที่ปรึกษาทางการเงินอิสระต่อผู้ถือหุ้น (IFA) ในการให้ความเห็นเกี่ยวกับการได้มาซึ่งสินทรัพย์จากการลงทุนในโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ดังกล่าว ซึ่ง IFA ให้ความเห็นว่าการลงทุนก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ของ JKR และ RPV ในขนาดกำลังการผลิตรวมประมาณ 10 เมกะวัตต์ ด้วยงบประมาณการลงทุนประมาณ 1,010 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้สัญญาจ้างเหมาก่อสร้างระบบพลังงานไฟฟ้าด้วยเซลล์แสงอาทิตย์ให้กับ JKR และ RPV อยู่ระหว่างรอการมีผลบังคับใช้ในทันทีตามเงื่อนไขเมื่อมีมติผ่านการพิจารณาอนุมัติ การดำเนินการก่อสร้างโครงการจากที่ประชุมผู้ถือหุ้น และได้รับแจ้งผลการอนุมัติวงเงินสินเชื่อเพื่อให้การสนับสนุนการก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ของ JKR และ RPV อย่างเป็นทางการ ซึ่ง IFA พิจารณาแล้วมีความเห็นว่าโครงการดังกล่าว เป็นโครงการที่มีความเป็นไปได้สามารถสร้างอัตราผลตอบแทนให้กับผู้ถือหุ้น และผู้ถือหุ้นควรออกเสียงเพื่อลงมติอนุมัติการเข้าทำรายการดังกล่าว
ทั้งนี้ จากการคำนวณเพื่อหาผลตอบแทนของผู้ถือหุ้น EPCO โดยใช้วิธีการประเมินหามูลค่าปัจจุบันของกระแสเงินสดสุทธิ อัตราผลตอบแทนที่แท้จริงต่อปี (Equity IRR) จะอยู่ในช่วงระหว่างร้อยละ 13.83-18.24 และมีระยะเวลาคืนทุนระยะเวลาในช่วงระหว่าง 5 ปี 7 เดือนถึง 8 ปี 10 เดือน โดยจะเริ่มรับรู้รายได้ตั้งแต่เดือน กรกฎาคม 2555 เป็นต้นไป
IFA ระบุด้วยว่าหากพิจารณาถึงความเหมาะสมของการเข้าทำรายการ ที่ปรึกษาทางการเงินอิสระมีความเห็นว่าเพื่อเป็นการ กระจายความเสี่ยงทางธุรกิจไปสู่ธุรกิจที่มีความมั่นคงด้านรายได้ที่ค่อนข้างแน่นอน จะช่วยเพิ่มโอกาสสร้างผลตอบแทนที่ดีให้แก่ผู้ถือหุ้นในอนาคตได้ ตลอดจนเป็นการลงทุนในพลังงานทดแทนที่ภาครัฐให้การสนับสนุน และเพื่อไม่ให้เกิดการเสียโอกาสจากเงินลงทุนในส่วนที่ใช้ซื้อหุ้นสามัญและการรับโอนสิทธิเรียกร้อง เพื่อให้ได้มาซึ่งหุ้นสามัญของ IFEC GP รวมถึง JKR และ RPV ในฐานะเจ้าของสิทธิในสัญญาซื้อขายไฟ และทรัพย์สินที่ใช้ในการดำเนินการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ จำนวน 230 ล้านบาท ที่ทางบริษัทได้จ่ายชำระเงินไปโดยใช้วงเงินสดส่วนเกินไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
นอกจากนี้หากพิจารณาในแง่ของการเตรียมตัวเพื่อดำเนินการก่อสร้างโครงการ ทางบริษัทได้พิจารณาเลือก SUNGEN เข้าเป็นผู้รับจ้างเหมาก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ให้กับบริษัท ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตแผงพลังงานแสงอาทิตย์ที่ได้รับการสนับสนุนเงินทุนจากรัฐบาลจีน และมีผลการดำเนินการในธุรกิจที่เริ่มปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับผลการดำเนินงานในอดีตที่ผ่านมา โดยส่วนของความกังวลเรื่องการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อให้ทันกับเงื่อนไขการจ่ายไฟฟ้าเข้าสู่ระบบของ กฟภ. ที่จะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2555 นั้น ทาง SUNGEN จะออกหนังสือค้ำประกันจากสถาบันการเงินในวงเงิน 245.00 ล้านบาท เพื่อมอบให้แก่บริษัท ใน กรณีหากการดำเนินการก่อสร้างไม่แล้วเสร็จภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2555 ทางบริษัทสามารถเรียกร้องความเสียหาย จากสถาบันการเงินผู้ออกหนังสือค้ำประกันได้ โดยทางบริษัทจะดำเนินการโอนหุ้นและกรรมสิทธิ์ที่เกี่ยวข้องกับโครงการ โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ให้กับ SUNGEN ต่อไป นอกจากนี้ SUNGEN ยังเป็นผู้รับภาระค่าใช้จ่ายเบี้ยประกันภัย ในช่วง 5 ปีแรก ผ่านทาง ERGO Insurance ซึ่งเป็นบริษัทประกันภัยที่มีชื่อเสียงทางแถบประเทศยุโรป ที่พร้อมรับเข้า เป็นผู้ประกันภัยทั้งในส่วนของการประกันภัยเพื่อครอบคลุมความเสี่ยงทุกประเภทให้กับโครงการ (All Risk) รวมถึงการ รับประกันรายได้จากค่าพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตได้ขั้นต่ำร้อยละ 90 ของค่าพลังงานไฟฟ้าที่คาดว่าจะสามารถผลิตได้ ตลอด ระยะเวลารวม 5 ปี ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่ดีและทางบริษัทได้พิจารณาเปรียบเทียบกับบริษัทผู้รับจ้างเหมาก่อสร้างโครงการ รายอื่น ๆ อย่างรอบคอบเป็นที่เรียบร้อยแล้ว