กรุงเทพฯ--9 ก.พ.--สป.
คณะทำงานโครงสร้างพื้นฐาน คมนาคม และพลังงาน สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เข้าพบหารือและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นเกี่ยวกับการพัฒนาโครงข่ายทางพิเศษ เพื่อรองรับการคมนาคมขนส่งของประเทศ โดยมีนายอัยยณัฐ ถินอภัย ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย กล่าวต้อนรับ ณ ห้องประชุมการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ถนนพหลโยธิน
นายสินธพ สิริสิงห รองผู้ว่าฝ่ายวิชาการ การทางพิเศษแห่งประเทศไทย นำเสนอแผนการดำเนินงานโครงการทางพิเศษในอนาคต 2 แผนแม่บท คือ แผนแม่บททางพิเศษในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล และแผนแม่บททางพิเศษระหว่างจังหวัด
โดยแผนแม่บททางพิเศษในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล นั้นมีระยะเวลาดำเนินการในช่วงปี 2553-2563 จำนวน 4 โครงการ คือ 1)โครงการทางพิเศษสายศรีรัช-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯ ด้านตะวันตก 2)โครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ตอน N1+N2+N3, E-W Corridor ด้านตะวันออก 3)โครงการทางพิเศษสายดาวคะนองวงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯ ด้านตะวันตก และ 4)โครงการทางพิเศษสายศรีรัช-ดาวคะนอง
ด้านแผนแม่บททางพิเศษระหว่างจังหวัดนั้น มีทั้งสิ้น 5 โครงการ คือ 1)โครงการทางพิเศษสายบูรพาวิถี-พัทยา 2) โครงการทางพิเศษสายวงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯ ด้านตะวันออก-สระบุรี 3)โครงการทางพิเศษสายบางปะอิน-ป่าโมก-นครสวรรค์ 4)โครงการทางพิเศษสายวงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯ ด้านตะวันตก-นครปฐม และ 5)โครงการทางพิเศษสายวงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯ ด้านตะวันตก-ปราณบุรี-ประจวบคีรีขันธ์ นายสินธพฯ กล่าวเพิ่มว่า การศึกษาและดำเนินการก่อสร้างทางพิเศษในแต่ละโครงการนั้น การทางพิเศษแห่งประเทศไทยมักพบปัญหาและอุปสรรคเรื่องการเวนคืนที่ดินและการได้รับการยอมรับจากประชาชน
จากนั้นเป็นการพูดคุยและซักถามเกี่ยวกับโครงการทางพิเศษระหว่างสมาชิกสภาที่ปรึกษาฯ และผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ซึ่งในที่ประชุมมีการพูดคุยในประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม ด้านเศรษฐกิจและปัญหาการเวนคืนที่ดิน โดยสมาชิกสภาที่ปรึกษาฯ มีข้อเสนอให้การทางพิเศษร่วมมือกับรถไฟฟ้าในการเจรจาเวนคืนที่ดินกับประชาชน สำหรับโครงการก่อสร้างในระยะยาว เพื่อแก้ไขปัญหาการเวนคืนที่ดินซ้ำซ้อนกัน นอกจากนี้สมาชิกสภาที่ปรึกษาฯ ยังเสนอแนะเรื่องการใช้พลังงานแสงอาทิตย์หรือแผงโซล่าเซลล์ ซึ่งนายอัยยณัฐฯ ผู้ว่าการการทางพิเศษฯ บอกว่ากำลังดำเนินการเรื่องนี้อยู่ในพื้นที่บริเวณทางด่วนยกระดับชลบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีทั้งลมแรงและแสงอาทิตย์มากที่สุด
นายอัยยณัฐฯ กล่าวเพิ่มเติมกับสมาชิกสภาที่ปรึกษาฯ ว่า การทางพิเศษฯ นั้นมีความมุ่งมั่นและความพยายามที่จะอำนวยความสะดวกและแก้ไขปัญหาการเจรจาให้กับประชาชนทั่วประเทศ ทั้งเรื่องการจำหน่ายบัตร Easy Pass ในร้านสะดวกซื้อ 7-11 การเติมเงินผ่านอินเตอร์เน็ตและผ่านธนาคาร นอกจากนี้นายอัยยณัฐฯ ยังฝากเรื่องกับสภาที่ปรึกษาฯ ผ่านไปสู่รัฐบาลด้วยว่า อยากให้รัฐบาลสนับสนุนการทำโครงการของการทางพิเศษฯ รวมถึงหน่วยงานต่างๆ ที่ควรเปิดทางให้การทางพิเศษฯ ได้ดำเนินการก่อสร้างทางด่วน เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรและเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมถึงปัญหาเรื่องการเวนคืนที่ดินและค่าใช้จ่ายภาษีมูลค่าเพิ่มที่การทางพิเศษฯ ต้องรับภาระแทนผู้ใช้บริการเป็นจำนวนหลายร้อยล้านบาทต่อปี ในขณะที่การทางพิเศษเองต้องสูญรายได้จากการยกเว้นค่าผ่านทางในช่วงเหตุการณ์สำคัญ เช่น เหตุการณ์อุทกภัยที่ผ่านมา รวมถึงในช่วงวันปีใหม่อีกด้วย