กรุงเทพฯ--9 ก.พ.--กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
นางจีราวรรณ บุญเพิ่ม ปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการจัดตั้งห้องเรียนออนไลน์ ว่า กระทรวงฯ ได้ตระหนักถึงความสำคัญในการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเป็นเครื่องมือในการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร โดยมุ่งเน้นให้ประชาชนทุกภาคส่วนได้รับการส่งเสริมการใช้และพัฒนาทักษะด้าน ICT อย่างทั่วถึง และสามารถนำ ICT มาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อตนเองและสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลที่จะลดความเหลื่อมล้ำด้านเทคโนโลยีสารสนเทศระหว่างสังคมเมืองและชนบท รวมทั้งเป็นการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่ถือเป็นทุนทรัพย์หลักของประเทศ ตามนโยบายและวิสัยทัศน์ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ซึ่งต้องการให้ “ประเทศไทยเป็นสังคมอุดมปัญญา (Smart Thailand)” กระทรวงฯ จึงได้ผลักดันให้มีการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการบริหารจัดการการเรียนการสอนแนวใหม่ ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต เพื่อให้นักเรียน รวมทั้งกลุ่มครูที่สนใจด้าน ICT ได้มีโอกาสพัฒนาและยกระดับการเรียนการสอนให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
“ปัจจุบันเทคโนโลยีการเรียนออนไลน์เป็นรูปแบบของการเรียนรู้ด้วยตนเอง โดยอาศัยเครือข่ายคอมพิวเตอร์หรือสื่ออิเล็กทรอนิกส์ในการถ่ายทอดเรื่องราวและเนื้อหา รวมถึงใช้สื่อในการนำเสนอบทเรียน และการเรียนการสอนที่อยู่ในรูปการสอนทางเดียว หรือการสอนแบบปฏิสัมพันธ์ จึงทำให้มีกลุ่มครูผู้สนใจด้าน ICT ร่วมมือกันพัฒนาและยกระดับการเรียนการสอนจนเกิดเป็นห้องเรียนออนไลน์ เพื่อเป็นเครื่องมือให้ครูผู้สอนและนักเรียนได้ถ่ายทอดความรู้ที่ตรงตามความต้องการมากที่สุด” นางจีราวรรณ กล่าว
ด้าน นายสมบูรณ์ เมฆไพบูลย์วัฒนา ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาและส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กล่าวว่า ปัจจุบันกลุ่มครูผู้ที่สนใจด้าน ICT ได้ร่วมกันจัดทำห้องเรียนออนไลน์นำร่องขึ้นบนเว็บไซต์ที่ชื่อว่า www.thaischoolict.net/elearning โดยมีความตั้งใจทำให้ครบทุกสาระวิชา เพื่อให้เกิดห้องเรียนออนไลน์ที่สามารถให้บริการได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่การดำเนินงานยังขาดปัจจัยในการพัฒนาอีกหลายด้าน จึงมีความจำเป็นที่ต้องได้รับการช่วยเหลือในการส่งเสริม สนับสนุน รวมถึงผลักดันเพื่อให้เกิดห้องเรียนออนไลน์ที่ครบถ้วน และมีมาตรฐานมากยิ่งขึ้น สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ครอบคลุมไปยังกลุ่มคนต่างๆ รวมถึงเครือข่ายอื่นๆ ที่มีความต้องการเหมือนกัน ซึ่งจะช่วยยกระดับครู นักเรียน และประชาชนทั่วไปให้สามารถพัฒนาตนเองได้อย่างยั่งยืน
ดังนั้น กระทรวงฯ จึงได้จัดทำโครงการประชุมเชิงปฏิบัติการจัดตั้งห้องเรียนออนไลน์ขึ้น โดยเชิญผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ สถานศึกษา รวมทั้งผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน และผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง มาระดมความคิดเห็น ให้ข้อเสนอแนะ แลกเปลี่ยนแนวความคิด ทัศนคติ มุมมองต่อนวัตกรรมการออกแบบ และพัฒนาศูนย์รวมในการเรียนการสอนให้สมบูรณ์และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น รวมถึงให้สามารถขยายวงกว้างเพื่อขยายโอกาสไปยังเครือข่ายกลุ่มเป้าหมายที่สนใจในการผลิตหลักสูตร และการใช้ประโยชน์จากห้องเรียนออนไลน์สำหรับจัดกิจกรรมการสอนของครู นักเรียน ผู้นำชุมชน คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส โดยให้เข้ามาศึกษาเรียนรู้ด้วยตนเองผ่านศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชนต่างๆ เพื่อให้กลุ่มคนเหล่านั้นได้มีโอกาสในการเรียนรู้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม
“การประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ กระทรวงฯ มุ่งหวังว่า จะได้รับฟังข้อมูลด้านการจัดทำห้องเรียนออนไลน์จากผู้เชี่ยวชาญและผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาต่างๆ เพื่อแลกเปลี่ยนแนวความคิด สร้างสรรค์และพัฒนาองค์ความรู้สู่การปฏิบัติ รวมทั้งยังเป็นการเปิดโอกาสให้ครู นักเรียน ผู้นำชุมชน คนพิการ ผู้ด้อยโอกาส และประชาชนทั่วไป ได้มีกิจกรรมเข้ามาศึกษาเรียนรู้ด้วยตนเองผ่านศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชน ซึ่งกระทรวงฯ ได้จัดตั้งขึ้นจำนวน 1,880 ศูนย์ทั่วประเทศ โดยมีเป้าหมายในระยะแรกจะดำเนินการให้เป็นศูนย์การเรียนรู้ออนไลน์นำร่องจำนวน 25 ศูนย์ และจะดำเนินการให้ครบทุกศูนย์ภายใน 3 ปีข้างหน้า เพื่อให้เป็นเครือข่ายการเรียนรู้แก่นักเรียน หรือเด็กชนบทที่ห่างไกล และเด็กด้อยโอกาสได้เข้ามาศึกษาเรียนรู้ และนำความรู้ที่ได้รับนั้นไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อไป” นายสมบูรณ์ กล่าว