กรุงเทพฯ--10 ก.พ.--ปภ.
กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จัดโครงการฝึกอบรมให้ความรู้ด้านการจัดการความเสี่ยงจากภัยพิบัติโดยอาศัยชุมชนเป็นฐานแก่บุคลากรขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใน 2 จังหวัดนำร่อง ได้แก่ ลำปาง และลำพูน เพื่อพัฒนาศักยภาพในการปฏิบัติงาน รวมทั้งให้ความรู้แก่ประชาชนในหมู่บ้านเสี่ยงภัยต้นแบบ 2 หมู่บ้าน เพื่อเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้แนวทางการจัดการภัยพิบัติด้วยตนเองอย่างยั่งยืน
นายวิบูลย์ สงวนพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า กรมป้องกันและบรรเทา สาธารณภัย กระทรวงศึกษาธิการ และองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (JICA) ได้ร่วมกันดำเนินโครงการพัฒนาศักยภาพในการจัดการภัยพิบัติของประเทศไทยระยะที่ 2 โดยมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มศักยภาพในการบริหารจัดการภัยพิบัติของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและพัฒนาขีดความสามารถในการจัดการภัยพิบัติแก่ประชาชน ดังนั้น เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมาย ของโครงการดังกล่าว กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้จัดโครงการพัฒนาศักยภาพในการจัดการภัยพิบัติของ ประเทศไทย ระยะที่ 2 : ด้านการจัดการความเสี่ยงจากภัยพิบัติโดยอาศัยชุมชนเป็นฐาน ในรูปแบบของการฝึกอบรม ให้ความรู้แก่บุคลากรขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่จังหวัดนำร่อง ได้แก่ ลำปาง และลำพูน รวมจำนวน 2 รุ่น โดยรุ่นที่ 1 ระหว่างวันที่ 13- 14 กุมภาพันธ์ 2555 ณ โรงแรมลำพูนวิลล์ จังหวัดลำพูน มีผู้เข้าร่วมโครงการ 116 คน และรุ่นที่ 2 ระหว่างวันที่ 16 - 17 กุมภาพันธ์ 2555 ณ โรงแรมลำปางเวียงลคอร จังหวัดลำปาง ผู้เข้าร่วมโครงการจำนวน 208 คน เพื่อพัฒนาศักยภาพในการปฏิบัติงานด้านการจัดการความเสี่ยงจากภัยพิบัติโดยอาศัยชุมชนเป็นฐานแก่บุคลากร ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมทั้งพัฒนาหมู่บ้านเสี่ยงภัยให้เป็นหมู่บ้านต้นแบบในการศึกษาเรียนรู้เรื่องการจัดการความเสี่ยงจากภัยพิบัติโดยอาศัยชุมชนเป็นฐาน นอกจากนี้ ยังได้จัดฝึกอบรมให้ความรู้แก่ประชาชนในหมู่บ้านเสี่ยงภัยต้นแบบ 2 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านช่อฟ้า หมู่ 5 และบ้านสาขาแม่จอกฟ้า ตำบลทุ่งผึ้ง อำเภอแจ้ห่ม จังหวัดลำปาง และบ้านก้อหนอง หมู่ 2 ตำบลลี้ อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน
นายวิบูลย์ กล่าวต่อไปว่า การดำเนินโครงการดังกล่าว นอกจากจะเป็นการพัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน ด้านการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแล้ว ยังเป็นการเสริมสร้างศักยภาพของชุมชน เสี่ยงภัยและเป็นการสร้างหมู่บ้านต้นแบบด้านการจัดการภัยพิบัติโดยอาศัยชุมชนเป็นฐาน ซึ่งจะเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ แนวทางการจัดการภัยพิบัติด้วยตนเองแก่ชุมชนอื่น และพัฒนาไปสู่ชุมชนที่มีความเข้มแข็งด้านการจัดการภัยพิบัติอย่างยั่งยืน