กรุงเทพฯ--13 ก.พ.--ไอเดียเวิร์คส์ คอมมิวนิเคชั่นส์
โครงการประกวดหนังสือดีเด่นรางวัล “เซเว่นบุ๊คอวอร์ด” เป็นอีกเวทีสำคัญที่นักเขียนทั้งรุ่นใหญ่และรุ่นใหม่ต่างรอคอย เพื่อแจ้งเกิดผลงานด้านวรรณกรรมที่เปี่ยมด้วยคุณค่าแห่งการสร้างสรรค์ ตลอดจนเนื้อหาและรูปแบบการถ่ายทอดที่จรรโลงใจและดึงดูดความสนใจของผู้อ่านที่หลากหลายในแต่ละปี เวทีประกวดรางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด จึงถือเป็นก้าวสำคัญของผู้ที่ต้องการพัฒนางานเขียน และพิสูจน์คุณค่าผ่านผลงานของตน นอกเหนือจากรางวัลอันทรงค่าที่ได้รับ ยังเป็นการยืนยันกับแฟนนักอ่านว่า หนังสือแต่ละเล่มที่ได้รับรางวัล นอกจากมีเนื้อหาสาระแล้วยังได้แง่คิดในด้านต่าง ๆ สำหรับการดำรงชีวิตอีกด้วย
ซีพี ออลล์ ผู้จัดโครงการประกวดหนังสือดีเด่นรางวัล “เซเว่นบุ๊คอวอร์ด” ครั้งที่ 9 ได้จัดงานแถลงข่าวและเสวนา หัวข้อ “นักเขียนกระดาษ vs นักเขียนไซเบอร์...ใครอยู่ใครไป ?” เพื่อประกาศโครงการในปีที่ 9 ปี 2555 พร้อมพูดคุยถึงประเด็นที่เกี่ยวพันกับเหตุการณ์ปัจจุบันและเชื่อมโยงกับวงการการเขียนการอ่าน ในเรื่องของวงการหนังสือเล่มและวงการหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ หรืองานเขียนกระดาษและงานเขียนบนโลกไซเบอร์
“เป็นที่น่าสังเกตว่าขณะนี้ นักเขียนบางส่วนแจ้งเกิดและเติบโตมาจากการเผยแพร่ผลงานทางโลก ไซเบอร์ หรืออินเทอร์เน็ต ทั้งเว็บบอร์ด เว็บบล๊อก ซึ่งสามารถเข้าถึงกลุ่มผู้อ่านเป้าหมายได้อย่างรวดเร็วและกว้างขวาง โดยผู้อ่านมีส่วนสำคัญในการตัดสินว่านักเขียน หรือเรื่องที่นำเสนอนั้น มีคุณค่าให้สาระประโยชน์และความบันเทิงมากน้อยเพียงใด หากกระแสตอบรับมีมาก ผลงานก็จะได้รับการตีพิมพ์ในที่สุด แต่ทั้งนี้ หนังสือเล่ม คือความใฝ่ฝันของนักเขียนทั้ง 2 กลุ่ม ไม่ว่าจะป็นนักเขียนกระดาษหรือนักเขียนไซเบอร์ โอกาสนี้อยากให้กำลังใจผู้ที่กำลังจะส่งผลงานเข้าประกวดในปีนี้ มั่นใจว่างานเขียนที่มีคุณค่าจะสร้างนักอ่านที่มีคุณค่าขึ้นในสังคมได้แน่นอน” ก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ซีพี ออลล์ เปิดประเด็น
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. ซีพี ออลล์ ผู้บริหารเซเว่น อีเลฟเว่น ร้านอิ่มสะดวกของคนไทย กล่าวอีกว่า “หนึ่งในนโยบายที่สำคัญด้าน CSR ของบริษัท คือ มุ่งมั่นที่จะสร้างคนเก่ง เสริมคนดีให้กับสังคมไทย จึงดำเนินโครงการและกิจกรรมเพื่อสังคมด้านการศึกษา การอ่าน การเรียนรู้ ฯลฯ มาโดยตลอด โดยเฉพาะโครงการประกวดหนังสือดีเด่นรางวัล “เซเว่นบุ๊คอวอร์ด” ซึ่งจัดอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา ซึ่งได้รับการตอบรับจากนักเขียนส่งผลงานเข้าประกวดเป็นจำนวนมาก สำหรับในปีนี้ (2555) นับเป็นปีที่ 9 ทั้งนี้ เพื่อร่วมพัฒนาและเชิดชูวงการนักเขียนไทย ส่งเสริมให้เยาวชนพัฒนาตนเองด้านการอ่าน การเขียน และการสร้างสรรค์ผลงานคุณภาพ
ขณะที่ เจน สงสมพันธุ์ นายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย ให้ความเห็นว่า ปัจจุบันเป็นเวลาที่เปลี่ยนแปลงในการใช้เทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป นักเขียนในโลกเทคโนโลยีสามารถก้าวสู่การเป็นนักเขียนหนังสือเล่มได้ แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะประสบความสำเร็จ เพราะหนังสือย่อมมีหลายระดับ และมีคุณค่าในระดับที่ต่างกัน และไต่ระดับขึ้นไปตามประสบการณ์ของตัวเอง ฐานการอ่านของไทยมีน้อย เนื่องจากเยาวชนรุ่นใหม่หันไปอ่านทางโลกไซเบอร์มากขึ้น อยู่กับตัวเองมากขึ้น เข้าสังคมน้อยลง แต่อย่างไรก็ตาม คิดว่าในอนาคตย่อมขึ้นอยู่กับตัวผู้อ่านและเยาวชนรุ่นใหม่ ที่จะเลือกอ่านหนังสือเล่มหรืออ่านบนเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ หากไม่ทำให้เสียสุขภาพตา
“หนังสือในปัจจุบันมีความหลากหลาย หากรอโอกาสทางการตลาดในการจัดพิมพ์ก็อาจไม่มีหนังสือที่มีคุณค่าออกสู่สายตานักอ่าน รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ดจะเป็นเครื่องมือในการสร้างวัฒนธรรมการอ่านให้เข้มแข็งขึ้น เป็นการสร้างความคิดและรสนิยมการเสพงานเขียนที่ดีของคนในชาติ”
ด้าน องค์ บรรจุน นักเขียนรางวัลชนะเลิศ ประเภทสารคดี เซเว่นบุ๊คอวอร์ด ครั้งที่ 8 จากผลงานชื่อ “สยามหลากเผ่าหลายพันธุ์” ให้ความเห็นอย่างน่าสนใจว่า ตัวเขาไม่ได้ปฏิเสธเทคโนโลยีและการมาถึงของ E-book แต่คิดว่าพฤติกรรมของนักอ่านนักเขียนหนังสือเล่มและนักอ่านนักเขียนบนโลกไซเบอร์จะไม่มีความแตกต่างจากเดิมมากนัก นั่นคือ นักเขียนนักอ่านบนโลกไซเบอร์ก็จะไม่เขียนสิ่งต่าง ๆ ที่ยืดยาว ส่วนตัวแล้วคิดว่า การเขียนและการได้อ่านหนังสือเล่ม โดยเฉพาะหนังสือรางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ส่วนตัวที่ได้อ่านเองทุกเล่มนั้น เห็นว่าไม่มีเล่มใดเลยที่ไม่สมควรได้รับรางวัล ถือเป็นบันไดอีกขั้นที่จะพัฒนาคุณค่างานเขียน และสร้างความคิด ความจรรโลงใจให้แก่ผู้อ่านได้เป็นอย่างดี
ส่วนวิชัย มาตกุล บล็อกเกอร์ และเจ้าของผลงานรวมเรื่องสั้นชื่อดัง “สิ่งมีชีวิตในโรงแรม” กล่าวว่า “ผมคิดว่าด้วยเทคโนโลยีเดี๋ยวนี้ทำให้เกิดช่องทางกับโอกาสมากขึ้น นักเขียนเล่มก็มีโอกาสที่จะได้รับผลตอบรับจากแฟนหนังสือได้เร็วขึ้น มากขึ้น ส่วนนักเขียนโลกไซเบอร์ ก็มีช่องทางในการแสดงผลงาน สร้างโอกาสให้ตัวเองมาเป็นนักเขียนเล่ม และแน่นอนว่า ด้วยช่องทางที่มากขึ้นแบบนี้ สำนักพิมพ์เองก็หานักเขียนใหม่ๆ ง่ายขึ้นด้วย โดยที่คุณภาพงานน่าจะมีความหลากหลายมากขึ้น มีเนื้อหาแปลกๆ ใหม่ๆ มากขึ้น
“หนังสือเล่มและหนังสือไซเบอร์จะไม่มาแทนที่กัน แต่จะมาช่วยกันมากกว่า หากจะมองถึงประโยชน์ของ E-book หรือหนังสือทางไซเบอร์ คงจะเป็นการที่คนรุ่นใหม่สามารถหาเนื้อเรื่องหรือหนังสือที่ไม่ได้ตีพิมพ์แล้วในอดีตมาอ่านได้ หนังสือย่อมไม่ตาย ส่วนใครที่ต้องการเพิ่มคุณค่าให้แก่งานเขียนของตน เวทีเซเว่นบุ๊คอวอร์ดเปิดโอกาสให้นักเขียนทุกคน เพราะหนังสือที่มีโลโก้เซเว่นบุ๊คอวอร์ดทุกเล่ม ล้วนอ่านง่าย เป็นอีกสิ่งที่เชิญชวนว่า อ่านสิ สนุกจริง ๆ ถือว่าเป็นเวทีที่เรามาแบ่งงานเขียนดี ๆ ได้แลกเปลี่ยนอ่านกัน”
โครงการ “ประกวดหนังสือดีเด่นรางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด” (7 Book Awards) แบ่งออกเป็น 7 ประเภท ได้แก่ 1. กวีนิพนธ์ 2. นวนิยาย 3. นิยายภาพ (การ์ตูน) 4. รวมเรื่องสั้น 5. วรรณกรรมสำหรับเยาวชน 6. สารคดี (ทั่วไป) และ 7. รางวัลนักเขียนรุ่นเยาว์ ซึ่งมีจำนวน 4 หมวด คือ กวีนิพนธ์ นวนิยายขนาดสั้น รวมเรื่องสั้น และนิยายภาพ (การ์ตูน)
สำหรับผู้สนใจจะส่งผลงานเข้าประกวดสามารถติดต่อได้ที่ สำนักกิจกรรมสังคม บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) อาคารปัญจภูมิ 1 ชั้น 6 ถนนสาทรใต้ เขตสาทร กรุงเทพฯ 10120 โทร.0-2648-2901-2 หรือดูรายละเอียดที่ www.pr7eleven.com