กรุงเทพฯ--13 ก.พ.--ปตท.
ฝ่ายบริหารความเสี่ยงราคาและวิเคราะห์ตลาดต่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) รายงานถึงสถานการณ์ราคาน้ำมันว่า ราคาน้ำมันสัปดาห์ที่ 6-10 ก.พ. 55 ราคาน้ำมันดิบดูไบ (Dubai) เฉลี่ยปรับเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 4.28 เหรียญสหรัฐฯ /บาร์เรล อยู่ที่ระดับ 113.69 เหรียญสหรัฐฯ /บาร์เรล และราคาน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) เฉลี่ยปรับเพิ่มขึ้น 6.15 เหรียญสหรัฐฯ /บาร์เรล อยู่ที่ 117.36 เหรียญสหรัฐฯ /บาร์เรล และน้ำมันดิบเวสเท็กซัส (WTI) เฉลี่ยปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.69 เหรียญสหรัฐฯ /บาร์เรลอยู่ที่ 98.51เหรียญสหรัฐฯ /บาร์เรล ขณะที่ราคาน้ำมันเบนซินเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 2.66 เหรียญสหรัฐฯ /บาร์เรล อยู่ที่ 128.48 เหรียญสหรัฐฯ /บาร์เรล และน้ำมันดีเซลเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 4.13 เหรียญสหรัฐฯ /บาร์เรล อยู่ที่ 132.29 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล โดยมีปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อราคา ได้แก่
ผลกระทบต่อราคาน้ำมันในเชิงบวก
- ตลาดแรงงานสหรัฐฯปรับตัวดีขึ้นโดยกระทรวงแรงงานสหรัฐฯ รายงานอัตราว่างงานของสหรัฐฯเดือน ม.ค. 55 อยู่ที่ระดับ 8.3% ลดลง 0.2% จากเดือนก่อน และดัชนีจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Non Farm Payroll) เดือน ม.ค. 55 เพิ่มขึ้น 243,000 ราย สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ 150,000 ราย
- Office of National Statistics ของสหราชอาณาจักรรายงานผลผลิตภาคอุตสาหกรรม (Industrial Output) ในเดือน ธ.ค. 54 เพิ่มขึ้น 0.5% จากเดือนก่อน
- อากาศในยุโรปหนาวเย็นตั้งแต่สัปดาห์สุดท้ายของเดือน ม.ค.2555 เป็นต้นมาอุณหภูมิในทวีปยุโรปปรับตัวลดลงต่ำกว่าอุณหภูมิเฉลี่ยประมาณ 3-10 องศาเซลเซียส ทั้งนี้อุณหภูมิในเยอรมนี ลดลงต่ำกว่าอุณหภูมิค่าเฉลี่ยประมาณ 8-10 องศาเซลเซียส และจากพยากรณ์อากาศคาดว่าอุณหภูมิจะต่ำว่าระดับเฉลี่ยปกติจนถึงกลางเดือนกุมภาพันธ์นี้
- จีนเร่งจัดหาน้ำมันดิบจากซาอุดิอาระเบีย และรัสเซียเพื่อเพิ่มแรงกดดันให้อิหร่านลดราคาขายน้ำมันดิบให้จีน ทั้งนี้จีนนำเข้าเข้าน้ำมันดิบปริมาณรวม 5.51 ล้านบาร์เรลต่อวันในเดือน ม.ค.55 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 7.4%
ผลกระทบต่อราคาน้ำมันในเชิงลบ
- การส่งออกน้ำมันดิบของอิรักจากแหล่งน้ำมันทางตอนเหนือกลับมาดำเนินการตามปกติที่ระดับ 450,000 บาร์เรลต่อวัน หลังท่อขนส่งถูกวางระเบิดทำให้การสูบถ่ายหยุดดำเนินการ 1 วัน โดยอิรักส่งออกน้ำมันดิบในเดือน ม.ค. 55 อยู่ที่ระดับ 2.11 ล้านบาร์เรลต่อวัน ลดลงจากเดือนก่อน 0.08 ล้านบาร์เรลต่อวัน
- OPEC รายงานปริมาณการผลิตน้ำมันดิบในเดือน ม.ค. 55 เพิ่มขึ้น 56,000 บาร์เรล มาอยู่ที่ 30.9 ล้านบาร์เรลต่อวัน สูงสุดตั้งแต่เดือน ต.ค. 54 และมากกว่าเป้าหมายที่ระบุไว้ที่ระดับ 30 ล้านบาร์เรลต่อวัน
- Energy Information Administration (EIA) ของสหรัฐฯ รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 3 ก.พ. 55 เพิ่มขึ้น 0.3 ล้านบาร์เรล จากสัปดาห์ก่อน อยู่ที่ 339.2 ล้านบาร์เรล และ Distillates เพิ่มขึ้น 1.2 ล้านบาร์เรล อยู่ที่ 146.6 ล้านบาร์เรล และ Gasoline เพิ่มขึ้น 1.6 ล้านบาร์เรล อยู่ที่ 231.8 ล้านบาร์เรล
ในระยะสั้นราคาน้ำมันดิบ Brent และ WTI มีแนวรับแนวต้านอยู่ที่ 115-120 เหรียญสหรัฐฯ /บาร์เรล และ 98-102 เหรียญสหรัฐฯ /บาร์เรลตามลำดับ ราคาน้ำมันมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นหลังผู้นำกรีซบรรลุข้อตกลงในมาตรการรัดเข็มขัดเพื่อขอรับเงินช่วยเหลือครั้งที่ 2 จากกลุ่ม Troika (European Union, European Central Bank และ IMF) เพื่อยับยั้งกรีซจากการผิดนัดชำระหนี้ (Disorderly Default) ในช่วงเดือน มี.ค. 55 ประกอบกับธนาคารกลางสหภาพยุโรป (ECB) ประกาศคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 1% เพื่อกระตุ้นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ในขณะที่อิหร่านขู่จะตอบโต้ต่อมาตรการคว่ำบาตรของชาติตะวันตก ซึ่งนักวิเคราะห์ทางทหารเชื่อว่าอิสราเอลอาจใช้กำลังทางทหารจู่โจมอิหร่านเพื่อยับยั้งโครงการพัฒนานิวเคลียร์ อีกทั้งอากาศในทวีปยุโรปยังหนาวเย็นทำให้ความต้องการน้ำมันเพื่อความอบอุ่นสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม OPEC ปรับลดคาดการณ์อัตราการเติบโตของอุปสงค์น้ำมันโลกปี พ.ศ.2555 ลง 120,000 บาร์เรลต่อวัน อยู่ที่ระดับ 940,000 บาร์เรลต่อวัน จากมุมมองภาวะเศรษฐกิจยุโรปเชิงลบ ประกอบกับลิเบียสามารถกลับมาผลิตน้ำมันดิบได้เร็วกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ โดยล่าสุดบริษัทน้ำมันแห่งชาติของลิเบียรายงานปริมาณการผลิตน้ำมันดิบ ณ วันที่ 4 ก.พ. 2555 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 1.42 ล้านบาร์เรลต่อวัน