กรุงเทพฯ--13 ก.พ.--อพท.
เมื่อวันที่ ๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๕ พันเอก ดร.นาฬิอติภัค แสงสนิท ผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.) ชี้แจงทิศทางการดำเนินงานปี ๒๕๕๕ ผ่านงานแถลงข่าว “DASTA High Performing ปีที่ ๘ and Jumping to ปีที่ ๙” ณ ห้องสุขุมวิท ๑ ชั้น C โรงแรมแกรนด์ เซ็นเตอร์พ้อยท์ สุขุมวิท — เทอร์มินอล ๒๑ โดยมี คุณปวีณมัย บ่ายคล้อย เป็นพิธีกร โดยมีเนื้อหาสรุปได้ดังนี้
พิธีกร : ปี ๒๕๕๕ อพท. มีแผนการดำเนินงานอย่างไร
ผอ.อพท. : การจัดการองค์กรของ อพท. กำลังเข้าสู่ยุคของ High Performing หรือมีการพัฒนาขีดความสามารถสูง ถ้าเปรียบกับต้นไม้ก็เสมือนต้นไม้ที่กำลังผลิดอกออกผล เรามีกระบวนการจัดการองค์กรที่ชัดเจนมากขึ้น และมีการยึดโยงระบบสายการบังคับบัญชาระหว่างผู้ปฏิบัติงานกับผู้บังคับบัญชา โดยใช้กระบวนการทำงานสำนักงานอิเล็กทรอนิกส์ที่มีประสิทธิภาพ ใช้กระดาษน้อย ตามแนวทาง Green Office หรือสำนักงานสีเขียวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เรานำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศมาช่วยดำเนินงานมาแล้วถึง ๒ ระบบ ๑) ระบบสารบรรณอิเล็กทรอนิกส์ e— Document และ ๒) ระบบบริหารทรัพยากรองค์กร (ERP) และปัจจุบันได้นำระบบบริหารทรัพยากรบุคคลมาใช้ เรียกว่า “ERP-HR”
การขับเคลื่อนภายในองค์กรจะให้ความสำคัญกับ “การบริหารจัดการองค์ความรู้” Knowledge Management หรือ KM ต้องมีการผลิตชุดความรู้และประสานภาคีเครือข่ายการพัฒนาที่เกี่ยวข้อง เพื่อก้าวไปสู่องค์กรแห่งความเป็นเลิศ และนับเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่คะแนนการประเมินตัวชี้วัดตามคำรับรองการปฏิบัติงานของ อพท. ในปี ๒๕๕๔ เราได้คะแนน ๔.๙๓ ซึ่งนับเป็นคะแนนสูงที่สุดของการประเมินองค์การมหาชนทั้ง ๓๖ แห่ง
การดำเนินการต่อไปของ อพท. จะยังคงดำเนินการให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 11 ซึ่งมีเรื่องของ “เศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์” หรือ Creative Economy มุ่งไปสู่ Creative Tourism ในการดึงนักท่องเที่ยวกระแสหลักและกระแสรอง โดยเฉพาะกลุ่มนักท่องเที่ยวที่ต้องการเที่ยวแบบละเลียดทัวร์ได้เข้าถึงวิถีชีวิต ศิลปวัฒนธรรม และประเพณีอันดีงามของท้องถิ่น เช่น กำแพงเพชร มีชื่อเสียงเรื่องพระเครื่องจะทำอย่างไรที่จะเชื่อมโยงการท่องเที่ยวให้มีมิตินี้ โดยอาจจัดทำเป็น workshop ปั๊มพระเครื่อง พื้นที่พิเศษเมืองพัทยาและพื้นที่เชื่อมโยง ได้เข้าร่วมสังเกตการณ์เวทีประชาคมโครงการ Walking Street ชุมชนจีนโบราณ ตลาดชากแง้ว การท่องเที่ยวแบบศรัทธาทัวร์จะช่วยกระจายรายได้ เช่น มีหมอดูแม่น ๆ หรือเจ้าแม่กวนอิมที่ศักดิ์สิทธิ์
พิธีกร : Co-Creation ที่ อพท. ได้บัญญัติเป็นคำศัพท์ใหม่คืออะไร
ผอ.อพท. : Co-Creation เป็นนโยบายของ อพท. คือการร่วมคิด ร่วมวางแผน ร่วมปฏิบัติ ร่วมรับผิดชอบ ร่วมรับผลประโยชน์ เราต้องเชิญทุกภาคส่วนในท้องถิ่นและชุมชนเข้าร่วมประชุม ร่วมกันวางแผน และลงมือปฏิบัติร่วมกัน เพื่อให้ผู้เป็นเจ้าของแหล่งท่องเที่ยวซึ่งก็คือท้องถิ่นได้รับผลประโยชน์อย่างเหมาะสมและรักษาวิถีชีวิต โดยคำนึงถึงการถูกเที่ยวหรือการตักตวงทรัพยากรธรรมชาติไปใช้มากหรือน้อยอย่างไร เราต้องกระจายแนวคิดไปสู่ชุมชน เยาวชน และสื่อมวลชน ๓ ส่วนนี้มีบทบาทที่สำคัญ และจะทำอย่างไรที่จะพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนด้วยการคงไว้ซึ่งสมดุลประโยชน์ ๓ มิติ คือ เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ใน ๕ แนวทาง คือ ๑) เลิกเสียที “เที่ยวไทยเพราะราคาถูก” ๒) หยุด “รวยกระจุก จนกระจาย” ๓) เดินหน้าสู่ “การท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์” ๔) แน่นอนต้อง “พัฒนาคน” และ ๕) ง่ายที่สุด “รับฟังกันมากขึ้น” โดยในงบประมาณปี ๒๕๕๕ นี้ อพท. ถือเป็นหน่วยงานหนึ่งที่ให้ความสำคัญต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมมากกว่าหน่วยงานท่องเที่ยวอื่น ๆ
พิธีกร : การท่องเที่ยวแบบละเลียดทัวร์จะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจได้อย่างไร
ผอ.อพท. : ถ้านักท่องเที่ยวเดินทางมาท่องเที่ยวแบบชะโงกทัวร์ ใช้เวลาสถานที่ตรงนั้นตรงนี้อย่างละนิดละหน่อย แล้วก็เดินทางไปรับประทานอาหารที่บริษัททัวร์จัดให้ แล้วก็เดินทางกลับ จังหวัดนั้นจะได้ประโยชน์อะไรทางเศรษฐกิจบ้าง เพราะมันเกิดการกระจุกตัวทางเศรษฐกิจ จะทำอย่างไรให้นักท่องเที่ยวพักค้างคืนต่อ ๑ คืน และมีการใช้จ่ายเงินเพื่อการท่องเที่ยวได้เพิ่มขึ้น ทั้งโรงแรม ที่พัก ร้านอาหาร สถานประกอบการ และประชาชนในท้องถิ่นได้รับประโยชน์ เช่น เชียงคานเป็นเมืองอนุรักษ์ริมแม่น้ำโขง อาจจัดกิจกรรมปั้นหุ่นขี้ผึ้งเกจิอาจารย์ภาคอีสานไว้บนยอดเขา เพื่อดึงดูดความสนใจในการท่องเที่ยวเพิ่มเติม และช่วยกระจายรายได้ในท้องถิ่นได้อย่างทั่วถึง
พิธีกร : Low Carbon Tourism จะมีความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้อย่างไรบ้าง
ผอ.อพท. : ผมขอยกตัวอย่างโรงแรมที่ช่วยปลดการปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ อาจจัดโปรโมชั่นว่าถ้านักท่องเที่ยวมาพักคืนหนึ่ง ทางโรงแรมก็จะปลูกต้นไม้ให้ ๕ ต้น และเมื่อมีนักท่องเที่ยวเดินทางมาพักจนสามารถรวบรวมต้นไม้ได้มากพอ ก็จะนำไปปลูกป่าชายเลนให้แล้วถ่ายคลิปส่งให้นักท่องเที่ยวได้ชื่นชมว่าตนเองมีส่วนช่วยลดภาวะโลกร้อน นักท่องเที่ยวก็จะคิดว่าถ้าต้องเลือกโรงแรมในทำเลเดียวกันราคาเดียวกัน ก็ขอเลือกโรงแรมที่ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมดีกว่า หรือจะชวนให้นักท่องเที่ยวขี่จักรยานแทนการขี่มอเตอร์ไซค์ ชวนพายเรือคายัคเพื่อชื่นชมทัศนียภาพทางทะเลและใช้เวลาท่องเที่ยวได้นานขึ้นแทนการขี่เจ็ทสกี นักท่องเที่ยวจะเป็นผู้เลือกกิจกรรมย่อย ๆ ในทริปใหญ่ของเขาเอง
การบริหารจัดการโรงแรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ถ้าโรงแรมดึงปลั๊กตู้เย็นในห้องพักออก แล้วนำเครื่องดื่มมา Pool รวมศูนย์ไว้ที่ Reception ถ้าลูกค้าคนใดไม่ได้ใช้บริการ minibar ก็จะได้รับส่วนลด ๑๐๐ บาท ถ้าต้องการใช้ก็เพียงแต่นำเครื่องดื่มที่แช่เย็นไว้แล้ว ใส่ตะกร้าเดินตามนักท่องเที่ยวเข้าไปในห้องพักแล้วเสียบปลั๊กตู้เย็นเท่านั้นเท่าที่พบพฤติกรรมการเข้าพักของนักท่องเที่ยวมักจะไม่นิยมรับประทานเครื่องดื่มและอาหารว่างที่โรงแรมจัดไว้ในห้อง เนื่องจากมีราคาแพง
พื้นที่พิเศษเมืองพัทยาและพื้นที่เชื่อมโยง มีแนวทางเรื่อง Greenovative City พูดถึงการทำระบบการขนส่งภายเมืองพัทยาและพื้นที่เชื่อมโยงให้มีการลดการปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซต์ คุยกันว่าจะใช้รถเมล์ไฟฟ้า รถโมโนเรล หรือรูปแบบการขนส่งอื่น ๆ ที่ชุมชนท้องถิ่นให้ความเห็นชอบ รวมทั้งสนับสนุนให้อาคารที่จะก่อสร้างขึ้นใหม่ใช้แบบอาคารสำเร็จรูปที่ทางการได้จัดเตรียมไว้ให้ ซึ่งช่วยประหยัดพลังงาน มีการใช้แสงแดดอย่างคุ้มค่า มีการนำน้ำกลับมาใช้ใหม่ ถ้าคุณเลือกที่จะสร้างตามแบบที่ทางการจัดไว้ให้จะสามารถยื่นขออนุมัติแบบการก่อสร้างได้รวดเร็ว สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้อยู่ในแผนแม่บทการพัฒนาการท่องเที่ยวของพื้นที่พิเศษเมืองพัทยาและพื้นที่เชื่อมโยง
พิธีกร : นักท่องเที่ยวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในปัจจุบันมีจำนวนมากน้อยอย่างไร
ผอ.อพท. : นักท่องเที่ยวกลุ่มนี้มีอยู่จริงครับ เช่น ชาวเยอรมัน และชาวสแกนดิเนเวียน มีจำนวนมากพอสมควร แต่เราต้องศึกษาข้อมูลเชิงลึกให้ดี ๆ พอเราต้องการดึงให้นักท่องเที่ยวเข้ามามีส่วนร่วมในการเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ก็มีการพูดกันถึงค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น ๑๐-๑๕ เปอร์เซ็นต์ เขายังคงสนใจและยินดีจะจ่ายเงินเพิ่มหรือไม่พื้นที่พิเศษเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี มีการจัดกิจกรรม Behind the zoo เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้เรียนรู้เกี่ยวกับชีวิตสัตว์ป่าและสัมผัสเบื้องหลังการดูแลสัตว์ Big5 ช้างน้ำหวานที่โชว์ต้อนรับนักท่องเที่ยว ภรรยาควาญช้างทำของที่ระลึกขายแก่นักท่องเที่ยวโดยตรง จะเป็นแนวทางหนึ่งที่สามารถสร้างสตอรี่ให้กับนักท่องเที่ยวได้ และนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้จะยินดีซื้อของที่ระลึกที่เขามั่นใจว่ารายได้ส่วนใหญ่จะกลับคืนสู่มือชุมชนโดยตรง
พิธีกร : DASTA Ball ของ อพท. มีส่วนช่วยเหลือสังคมที่เห็นได้ชัดคือช่วงเกิดปัญหาอุทกภัย
ผอ.อพท. : ครับ DASTA Ball ของเราได้ช่วยเหลือสังคมเพื่อบำบัดน้ำเสียในแหล่งท่องเที่ยวมาโดยตลอด เรามีการศึกษาวิจัยดาสต้าบอล มีการคัดเลือกสายพันธุ์จุลินทรีย์ที่เหมาะสมต่อการบำบัดน้ำเสีย ทั้งน้ำเค็ม น้ำกร่อยและน้ำจืด เราต้องปั้นดาสต้าบอลขนาดลูกเท่าปิงปองเพื่อคงรักษาอุณหภูมิแกนกลางไม่ให้สูงเกินไป จุลินทรีย์สามารถดำรงชีวิตได้ประมาณ ๖ เดือน ที่ผ่านมา ในช่วงที่เราเปิดโครงการดาสต้าบอลเฉลิมพระเกียรติฯ ได้แจกจ่ายดาสต้าบอลไปสู่ผู้ประสบภัยน้ำท่วมจำนวน ๑ ล้านลูก และให้ความร่วมมือกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมผลิตดาสต้าบอลจำนวนกว่า ๖ ล้านลูก เพื่อให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมลงพื้นที่แจกจ่ายดาสต้าบอลแก่ผู้ประสบภัย แม้ว่าความต้องการของประชาชนผู้ประสบภัยจะมีจำนวนมาก แต่เราก็ไม่เลือกที่จะผลิตในระบบโรงงานอุตสาหกรรม เพราะไม่ได้ช่วยเหลือสังคม เราจึงขอความร่วมมือจากสำนักสงฆ์ถ้ำกระบอกให้ช่วยดึงผู้รับการบำบัดยาเสพติด และผู้เฒ่าแม่แก่ รวมทั้งคนในชุมชนละแวกใกล้สำนักสงฆ์ถ้ำกระบอก มาช่วยกันปั้นดาสต้าบอล เพื่อช่วยกันสร้างสรรค์สิ่งดี ๆ ให้แก่สังคม บางคนก็ไม่ได้รับค่าแรง แต่ต้องการปั้นด้วยความเต็มใจ ผลปรากฏว่า ชาวบ้านที่เดินทางมาปั้นดาสต้าบอลที่สำนักสงฆ์ถ้ำกระบอกขอไม่รับค่าแรงจำนวน ๑ แสนลูก โดยขอปั้นฟรีและส่งมอบให้ผู้ประสบภัยน้ำท่วมจากใจคนถ้ำกระบอก เห็นได้ว่านอกจาก อพท. จะช่วยเหลือสังคมแล้ว ยังได้ดึงเอาชุมชนมามีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์สิ่งดีร่วมกัน
พิธีกร : ปี ๒๕๕๕ อพท. จะเปิดพื้นที่พิเศษเพิ่มขึ้นอีกกี่แห่ง
ผอ.อพท. : ในปี ๒๕๕๕ อพท. เตรียมที่จะประกาศพื้นที่พิเศษเพิ่มเติม ๒ แห่ง คือ พื้นที่เมืองเก่าน่าน และ พื้นที่เมืองโบราณอู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งจะเน้นการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมและ โบราณคดี ความสำคัญคือจะทำอย่างไรที่จะเข้าไปสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนท้องถิ่น เพื่อให้เขาสามารถเลือกแนวทางการพัฒนาการท่องเที่ยวได้อย่างเหมาะสมและมีความเป็นมิตรกับศิลปวัฒนธรรม พื้นที่เมืองเก่าน่าน และ พื้นที่เมืองโบราณอู่ทอง ขณะนี้รอรัฐมนตรีเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี เพื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษา ดังนั้น งบประมาณของทั้ง ๒ พื้นที่นี้จะถูกบรรจุอยู่ในงบประมาณปี ๒๕๕๖
พื้นที่เมืองโบราณอู่ทอง เป็นเมืองที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน เป็นดินแดนพระพุทธศาสนาเกิดขึ้นครั้งแรกของประเทศไทย “ดินแดนแห่งสุวรรณภูมิ” ผมวางแผนไว้ว่าจะมีการแกะสลักพระพุทธรูปจำลองในภูเขาให้ใหญ่ที่สุดในโลก เพื่อทดแทนพระพุทธรูปโบราณที่หุบเขาบาบิยันในประเทศอัฟกานิสถานที่ถูกทำลายลง เพื่อให้เมืองอู่ทองเป็นสัญลักษณ์ความมั่นคงของพระพุทธศาสนา และผมจะพิสูจน์ให้สังคมเห็นว่า การพัฒนากับการอนุรักษ์สามารถเดินไปด้วยกันได้
พื้นที่เมืองเก่าน่าน ต้องเตรียมความพร้อมรองรับความเจริญที่หลั่งไหลมาจากการตัดถนนเพิ่มเติม ซึ่งได้รับรายงานจากเจ้าหน้าที่พื้นที่เมืองเก่าน่านว่า ชุมชนพื้นที่เมืองน่านมีความเข้มแข็งในชุมชนมาก และมีความสมัครสมานสามัคคีร่วมกันในการจัดงานและกิจกรรมต่าง ๆ เป็นอย่างดีมาโดยตลอด
สำหรับ พื้นที่พิเศษเลย จะพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (DASTA Low Carbon Route) นำร่องเป็นแห่งแรก เนื่องจากมีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติเป็นที่ยอมรับทั้งระดับชาติและระดับนานาชาติ ไม่ว่าจะเป็นวิถีชุมชนเชียงคานริมลำน้ำโขงมีเสน่ห์และอัตลักษณ์ที่โดดเด่น งานดอกไม้เมืองหนาวที่ภูเรือ งานผีตาโขนที่ด่านซ้าย จะเริ่มดำเนินการในเดือนมีนาคม ๒๕๕๕
ช่วงตอบข้อซักถาม ผู้สื่อข่าวได้สอบถามว่าจะมีการก่อสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึงหรือไม่ ผอ.อพท.กล่าวว่า เป็นเรื่องที่ท้องถิ่นจะเป็นผู้ตัดสินใจว่าควรจะก่อสร้างหรือไม่ เพราะ อพท. เป็นผู้บริหารจัดการพื้นที่พิเศษเลย ซึ่งจะต้องกระทำบนพื้นฐานความเห็นชอบของท้องถิ่นเป็นหลัก โดยคำนึงว่าแม้จะมีกระเช้าไฟฟ้าหรือไม่มีก็จะต้องดำเนินการไม่ให้การท่องเที่ยวบนภูกระดึงมีการทำลายสิ่งแวดล้อมที่เพิ่มขึ้น ดังนั้น การจะสร้างหรือไม่สร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึงจึงขึ้นอยู่กับศักยภาพในการรองรับนักท่องเที่ยวหรือ Carrying Capacity ของอุทยานแห่งชาติภูกระดึง การบริหารจัดการการท่องเที่ยวจึงเป็นเรื่องที่มีความสำคัญมาก
ติดต่อ:
ชมพูนุท ธาราสิทธิโชค องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.)
ติดต่อได้ที่: chompunuth.t@dasta.or.th
โทร. 0841637599