มว. เดินหน้าโครงการ JICA/NIMTระยะที่ 2 เร่งพัฒนาระบบมาตรฐานการวัดแห่งชาติรองรับการเติบโตของภาคอุตสาหกรรมไทย

ข่าวทั่วไป Monday March 29, 2004 16:46 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--29 มี.ค.--มว.
มว. เผยผลการประเมินความร่วมมือทางวิชาการภายใต้โครงการเสริมสร้างทางเทคนิคแก่สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ (ประเทศไทย) ระยะที่ 1 ซึ่งประสบความสำเร็จดังคาด พร้อมเดินหน้าโครงการฯ ระยะที่ 2 เพื่อให้การพัฒนาระบบมาตรวิทยาแห่งชาติครอบคลุมทุกหน่วยวัดตามความต้องการของภาคอุตสาหกรรมและสอดคล้องกับมาตรฐานสากล โครงการนี้จะนำไปสู่การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางการค้าของภาคอุตสาหกรรมไทยต่อไป
พล.อ.ต. ดร. เพียร โตท่าโรง ผู้อำนวยการสถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ (มว.) กล่าวว่า โครงการนี้ มีที่มาสืบเนื่องจากโครงการพัฒนาระบบมาตรวิทยาแห่งชาติ ซึ่งสถาบันฯ ได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลญี่ปุ่นผ่านธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น หรือ ที่รู้จักกันในนามของ JBIC ในรูปของโครงการเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ เพื่อการจัดซื้อจัดมาตรฐานการวัดแห่งชาติและก่อสร้างอาคารห้องปฎิบัติการ พร้อมให้ความร่วมมือทางวิชาการผ่านองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น หรือ JICA เพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีทางด้านการวัดสำหรับอุปกรณ์ที่จัดซื้อภายใต้โครงการเงินกู้ โดยมีระยะเวลาดำเนินงานโครงการ 5 ปี เริ่มตั้งแต่วันที่ 16 ตุลาคม 2545
ขณะนี้ สถาบันฯ และ JICA ได้ดำเนินงานมาจนใกล้สิ้นสุดโครงการฯ ในระยะที่ 1 แล้ว JICA จึงได้ส่งคณะผู้แทน (Mission Team) มายังสถาบันฯ ระหว่างวันที่ 8-19 มีนาคม 2547 เพื่อประเมินผลการดำเนินงานโครงการฯ ระยะที่ 1 และเตรียมงานโครงการฯ ระยะที่ 2
ผลการประเมิน เป็นที่พอใจของทั้งสองฝ่าย เนื่องจากการดำเนินงานโครงการฯ ที่ผ่านมาเป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้ดังนี้
1. JICA ส่งผู้เชี่ยวชาญระยะยาวมาประจำการที่สถาบันฯ เพื่อบริหารโครงการและประสานงานรวม 4 คน
2. JICA ส่งผู้เชี่ยวชาญระยะสั้นมาให้การฝึกอบรมแก่นักมาตรวิทยาที่สถาบันฯ รวม 17 คน
3. JICA ได้ให้การฝึกอบรมแก่นักมาตรวิทยาของสถาบันฯ ณ ประเทศญี่ปุ่น ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2544 จนถึงปัจจุบัน รวม 15 คน
การดำเนินงานโครงการฯ ได้ตามแผนที่วางไว้ ส่งผลให้สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ โดยผลการประเมินสามารถสรุปได้ดังต่อไปนี้
1. การพัฒนาขีดความสามารถของนักมาตรวิทยาของสถาบันฯ
ความสามารถของนักมาตรวิทยาของสถาบันฯ ได้รับการพัฒนา โดยนักมาตรวิทยา 3 ใน 6 คน ซึ่งคณะผู้แทนได้เลือกประเมินโดยการสัมภาษณ์ใน 6 สาขาการวัด ซึ่งได้แก่ Acoustics, AC Power, DC High Voltage, Hardness, Plug/Ring & Roundness และ Wavelength นั้น ได้เคยขึ้นบรรยายในหัวข้อเกี่ยวกับสอบเทียบของตัวเองในงานสัมมนาอาเซี่ยนซึ่งจัดขึ้นโดยการสนับสนุนของ NMIJ/AIST และ JICA
2. การพัฒนามาตรฐานการวัดแห่งชาติและความสามารถด้านการสอบเทียบ
การถ่ายทอดเทคโนโลยีทางด้านการวัดซึ่งครบถ้วนสมบูรณ์ใน 8 สาขาการวัดนั้น ยังผลให้มาตรฐานการวัดแห่งชาติได้รับการสถาปนาอย่างสมบูรณ์ และสาขาการวัดด้านความสั่นสะเทือน (Vibration) ก็ได้รับการสถาปนาโดยกิจกรรมนำร่องโครงการ (Pre-Project Activities) การดำเนินงานของ 7 ใน 9 สาขาการวัดใกล้จะแล้วเสร็จพร้อมยื่นขอการรับรองความสามารถของห้องปฎิบัติการต่อหน่วยงานให้การรับรองฯ โดยเฉพาะสาขา Hardness และ Vibration นั้น มีแผนจะขอรับการรับรองฯ ภายในหนึ่งปี ซึ่งนับว่าการเพิ่มขีดความสามารถได้ดำเนินไปอย่างรวดเร็ว
3. กิจกรรมเพื่อการยอมรับสากล หรือ CIPM-MRA
เนื่องด้วยการเข้าร่วมใน CIPM-MRA จะต้องประกอบด้วยคุณสมบัติ 2 ประการ คือ ระบบคุณภาพของบริการสอบเทียบ และการเข้าร่วมการเปรียบเทียบมาตรฐานการวัดระหว่างประเทศ ดังนั้น สถาบันฯควรพิจารณาเข้าร่วมกิจกรรมเปรียบเทียบผลการวัดโดยเสนอคำขอต่อ APMP เพื่อจัดการเปรียบเทียบมาตรฐานการวัดในสาขาการวัดที่สถาบันฯ ต้องการ ขึ้น ในภูมิภาค, จัดการเปรียบเทียบมาตรฐานการวัดระหว่าง NMIJ และ สถาบันฯ ตาม CIPM-MRA Guidelines, และจัดการเปรียบเทียบมาตรฐานการวัดทวิภาคีและภูมิภาค
4. รายงานเยี่ยมชมห้องปฎิบัติการ
จากการที่คณะผู้แทน ได้เยี่ยมชมห้องปฎิบัติการ Force, DC High Voltage, AC Power, Wavelength และ Acoustics นั้น สามารถสรุปได้ดังนี้
4.1. อุปกรณ์มาตรวิทยา ได้รับการบำรุงรักษาและใช้งานอย่างเหมาะสมดังมาตรฐานการวัดแห่งชาติคู่มืออุปกรณ์และบันทึกการสอบเทียบหรือการบำรุงรักษาได้รับการจัดเก็บอย่างเป็นระบบ
4.2. Calibration Manuals, Uncertainty Budget และบันทึกการสอบเทียบ ได้รับการจัดเก็บอย่างเหมาะสม และนักมาตรวิทยาสามารถอ้างอิงได้ จนสามารถพูดได้ว่า การควบคุมเอกสารมีประสิทธิภาพอย่างมาก
4.3. สภาวะแวดล้อมของห้องปฎิบัติการ ได้รับการบันทึกอุณภูมิในห้องปฎิบัติการที่มีค่าความถูกต้องสูง อย่างไรก็ดี สถาบันฯ ควรพิจารณาในเรื่องความสั่นสะเทือนของพื้นและความคงที่ของกำลังไฟฟ้า โดยรวมแล้วสภาวะแวดล้อมยังไม่ดีพอแม้เครื่องปรับอากาศจะมีประสิทธิภาพ จึงเกิดข้อเสนอแนะให้ย้ายไปยังอาคารใหม่และจัดตั้งสภาวะสำหรับการวัดที่ดีกว่านี้
สำหรับการเตรียมงานโครงการฯ ระยะที่ 2 นั้น ขณะนี้ จัดทำใกล้เสร้จเรียบร้อยแล้ว หลังจากนี้ แผนงานโครงการฯระยะที่ 2 จะถูกนำเสนอต่อไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาอนุมัติ ซึ่งจากการเตรียมงานร่วมกันกับคณะผู้แทนนั้น เชื่อมั่นว่า โครงการฯ ระยะที่ 2 จะดำเนินต่อเนื่องจากระยะที่ 1 อย่างราบรื่น และส่งผลให้การพัฒนาระบบมาตรวิทยาแห่งชาติของไทยเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและได้รับการยอมรับจากนานาประเทศในเร็ววันนี้--จบ--
-ชบ/ชพ-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ