กรุงเทพฯ--14 ก.พ.--มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา
มรภ.สงขลา ร่วมเวทีเสวนาการจัดการศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ แนะเปลี่ยนระบบ ให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตคนในพื้นที่ เทียบเคียงประเทศอินโดฯ มาเลเซีย อาศัยโอกาสด้านภาษามลายู เข้าสู่ประชาคมอาเซียน
ดร.แสนศักดิ์ ศิริพานิช รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและชุมชนสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา สถาบันพระปกเกล้า นำโดยนักศึกษาหลักสูตรการเสริมสร้างสังคมสันติสุข รุ่นที่ 3 ได้จัดเวทีรับฟังความคิดเห็น หัวข้อ เยาวชนสามจังหวัดชายแดนใต้ ในเส้นทางสันติวิธีกับระบบการศึกษาที่เหมาะสมในระดับอุดมศึกษา ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา โดยได้เชิญกลุ่มนักวิชาการและอาจารย์มหาวิทยาลัยในเครือข่ายอุดมศึกษาจังหวัดชายแดนใต้ ร่วมเวทีนำเสนอมุมมองที่หลากหลายต่อระบบการศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้
ดร.แสนศักดิ์ กล่าวว่า ตัวแทนนักวิชาการได้เสนอให้มีการปรับเปลี่ยนระบบการศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เสียใหม่ เพื่อให้เกิดการพัฒนาระบบการศึกษาที่ส่งเสริมและสอดคล้องต่อวิถีชีวิตของประชาชนในพื้นที่ โดยเทียบเคียงกับระบบการศึกษาจากประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่มพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่ายอินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย (Indonesia-Malaysia-Thailand Growth Triangle : IMT-GT) และอาศัยโอกาสด้านภาษามลายู (Bahasa Melayu) ในการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 ซึ่งการพัฒนาการศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ดังกล่าว สามารถนำไปเป็นแนวทางการสร้างสันติสุขในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และเป็นพลังในการขับเคลื่อนให้เกิดการแก้ปัญหาและการปฏิบัติจริงอันเป็นรูปธรรมในระยะยาว
รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและชุมชนสัมพันธ์ กล่าวอีกว่า การจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นในครั้งนี้ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา ได้ส่งตัวแทนเข้าร่วมแสดงความคิดเห็นร่วมกับนักวิชาการจากสถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ สถาบันวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา มหาวิทยาลัยอิสลามยะลา มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ และ มหาวิทยาลัยทักษิณ