แสตนดาร์ดชาร์เตอร์ดชี้เทรนด์เศรษฐีเอเชีย ที่ไพรเวทแบงกิ้งต้องจับตามอง

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday February 14, 2012 14:43 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--14 ก.พ.--ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) - เศรษฐีเอเชีย: คนรุ่นใหม่ ทะเยอทะยาน กล้าได้กล้าเสีย - ไพรเวทแบงก์ที่มีบริการครบวงจร ช่วยลูกค้ากระจายความเสี่ยงได้ ได้เปรียบกว่า ล่าสุด ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด ซึ่งมีสินทรัพย์ในภูมิภาคเอเชียภายใต้การบริหารจัดการของธุรกิจธนาคารพิเศษ (ไพรเวทแบงกิ้ง) เป็นสัดส่วนถึง 2 ใน 3 ทำการสำรวจเทรนด์เศรษฐีเอเชียเพื่อนำมาใช้ในการบริหารความสัมพันธ์กับลูกค้าในภูมิภาคนี้ ผลการสำรวจที่น่าสนใจได้แก่ - เศรษฐีเอเชียไม่ไว้ใจให้คนอื่นมาบริหารจัดการทรัพย์สินของตน — 63% ของลูกค้าธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด เป็นเจ้าของธุรกิจ และมองว่าตนหาเงินมาด้วยความยากลำบาก และต้องการติดตามดูแลการบริหารจัดการทรัพย์สินของตนอย่างใกล้ชิด จึงจำเป็นต้องพูดคุยกับธนาคารที่ตนใช้บริการบ่อยๆ - คาดหวังผลตอบแทนที่สูงกว่า และรวดเร็วกว่า — จากการสำรวจ Futurewealth 2012 โดยสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด ร่วมกับสกอร์ปิโอ พาร์ทเนอร์ชิป และเอสอีไอ พบว่าเศรษฐีเอเชียตั้งเป้าหมายความมั่งคั่งไว้ค่อนข้างสูงกว่า และต้องการผลตอบแทนกลับคืนเร็วกว่าเศรษฐีในโลกตะวันตก - การจับจ่ายใช้สอยสะท้อนความสำเร็จในอาชีพ — เศรษฐีเอเชียให้ความสำคัญกับสินค้าหรูหราฟุ่มเฟือยไม่ว่าจะเป็น รถยนต์ นาฬิกา เครื่องเพชร หรือแม้แต่งานศิลปะเพื่อแสดงออกถึงความสำเร็จในอาชีพการงานของตน เชน เนลสัน - ประธานเจ้าหน้าที่บริหารธุรกิจธนาคารพิเศษ ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด กล่าวว่า “ไพรเวทแบงก์ต้องเข้าใจด้วยว่าลูกค้าที่เป็นผู้ประกอบการบางส่วนมีสินทรัพย์จำนวนมากผูกโยงกับธุรกิจจึงต้องการเงินเพื่อสร้างความเติบโตให้กับธุรกิจ แต่อีกด้านก็ต้องการแยกสินทรัพย์ออกจากธุรกิจ และรักษาความมั่งคั่งส่วนตัวไว้ หากไพรเวทแบงก์แนะนำให้ลงทุนโดยมีความเสี่ยงและผลตอบแทนใกล้เคียงกับธุรกิจของลูกค้าอยู่แล้ว เท่ากับไม่ช่วยเพิ่มมูลค่าให้ทรัพย์สินของลูกค้าเท่าไร” นอกจากนี้ เศรษฐีเอเชียยังมีความกล้าได้กล้าเสียมากกว่า จึงมักทุ่มการลงทุนไปยังตลาดเอเชียซึ่งเป็นตลาดที่ตนคุ้นเคย และชอบลงทุนในสินทรัพย์ที่จับต้องได้ เช่น อสังหาริมทรัพย์ ดังจะเห็นว่าในช่วงหลายปีทีผ่านมา ราคาอสังหาริมทรัพย์ในเอเชียสูงขึ้นอย่างมาก แต่ก็ทำให้เห็นว่าไพรเวทแบงก์ที่ดี ควรจะช่วยปรับให้พอร์ตการลงทุนของเศรษฐีเอเชียมีการกระจายความเสี่ยงที่เหมาะสม โดยคำนึงถึงการปกป้องรักษาความมั่งคั่งในระยะยาวมากขึ้น เชน เนลสัน ยังกล่าวอีกว่า “ไพรเวทแบงก์ที่มีเครือข่ายครอบคลุมทั่วโลกมีโอกาสช่วยลูกค้าเอเชียจัดพอร์ตการลงทุนนอกตลาดของตนเองให้มีความสมดุลมากขึ้น เช่น การลงทุนในตลาดเกิดใหม่อื่นๆ ในเอเชีย หรือตลาดที่ยังให้ผลตอบแทนสูงทางฝั่งตะวันตก นอกจากนี้ยังสามารถดึงความเชี่ยวชาญจากบริการธนาคารสำหรับลูกค้าสถาบัน และเอสเอ็มอีเพื่อให้บริการแก่ผู้ประกอบการในเอเชียแบบครบวงจร โดยสนองความต้องการได้ทั้งด้านธุรกิจและส่วนตัว” ปัจจุบัน ความมั่งคั่งที่เติบโตในภูมิภาคเอเชียขยับเข้าใกล้อันดับหนึ่งที่ครองโดยสหรัฐอเมริกามากขึ้นทุกที จากการสำรวจล่าสุดโดยแคปเจมิไน และเมอร์ริล ลินช์ พบว่ามีจำนวนเศรษฐี (พิจารณาจากเกณฑ์สินทรัพย์ที่ถือครองมีมูลค่าตั้งแต่ 1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขึ้นไป) ในเอเชียมากถึง 3 ล้าน 3 แสนคน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ