กทม. เชิญร่วมเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ในงาน“ฉลองราชธานี 222 ปี กรุงรัตนโกสินทร์” 6-13 เมษายนนี้

ข่าวทั่วไป Tuesday March 30, 2004 11:05 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--30 มี.ค.--กทม.
เมื่อวานนี้ (29 มี.ค.47) เวลา 11.00 น. ที่ห้องอเนกประสงค์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร นายสมัคร สุนทรเวช ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และพล.ต.ต.ดุสิตสันต์ เถระพัฒน์ รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ร่วมแถลงข่าว “พบกัน จันทร์ละหน คนกับข่าว” ครั้งที่ 124 เรื่องการจัดงาน “ฉลองราชธานี 222 ปี กรุงรัตนโกสินทร์
กรุงรัตนโกสินทร์ได้รับการสถาปนาเป็นราชธานีของไทย เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นปฐมบรมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี เมื่อวันเสาร์ที่ 6 เมษายน เดือน 5 แรม 9 ค่ำ ปีขาล พุทธศักราช 2025 (รัตนโกสินทร์ศก 1) มาจวบจนครบ 222 ปี ในวันที่ 6 เมษายน 2547นี้ กรุงเทพมหานครร่วมกับหน่วยงานภาคราชการ เอกชน และ ชุมชนในพื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์ชั้นในและชั้นนอก จัดงาน “ฉลองราชธานี 222 ปี กรุงรัตนโกสินทร์” ภายใต้โครงการ Unseen In Bangkok ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เยาวชนคนรุ่นหลังได้ตระหนักและเห็นคุณค่าของมรดกทางวัฒนธรรมของไทยในอดีตที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ เช่น ขนบธรรมเนียม ประเพณี ศิลปวัฒนธรรม คีตกรรม นาฏการ วรรณศิลป์ และยังเป็นการฟื้นฟูงานหัตถกรรม จากภูมิปัญญา วิถีไทย แบบดั้งเดิม นอกจากนี้ยังสร้างความประทับใจแก่นักท่องเที่ยว ที่ได้เห็นความงดงามของกรุงรัตนโกสินทร์อย่างแท้จริงอีกด้วย
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ในการจัดงาน “ฉลองราชธานี 222 ปี กรุงรัตนโกสินทร์” นั้น กรุงเทพมหานครได้ใช้พื้นที่บริเวณเขตรัตนโกสินทร์ชั้นในและชั้นนอก คือ บริเวณลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์ ป้อมมหากาฬ กำแพงพระนคร ลานคนเมือง วัดสุทัศน์เทพวราราม เกาะกลางถนนศิริพงษ์ ย่านสามแพร่ง (แพร่งสรรพศาสตร์ แพร่งภูธร แพร่งนรา) ถนนมหรรณพาราม คลองคูเมืองฝั่งถนนราชินีตั้งแต่แยกพระแม่ธรณีบีบมวยผมจนถึงสะพานช้างโรงสี เนื่องจากเป็นพื้นที่ซึ่งยังคงวิถีชีวิตแบบดั้งเดิมตั้งแต่ยุคแรกของการสร้างกรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานี นอกจากนี้ยังเป็นพื้นที่รอบนอกของพระบรมมหาราชวัง ตลอดจนเคยเป็นที่ประทับของราชวงศ์ชั้นสูง โดยงานฯจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 6 เมษายน 2547 และจัดต่อเนื่องไปถึงวันที่ 13 เมษายน ซึ่งเป็นวันสงกรานต์ รวมระยะเวลาการจัดงานทั้งสิ้น 8 วัน 8 คืน โดยกิจกรรมจะเริ่มตั้งแต่เวลา 16.00-23.00 น. และทุกวันในเวลา 18.00 น. จะจัดให้มีขบวนแห่พิธีโบราณ อาทิ ขบวนแห่พิธีโสกันต์หรือพิธีโกนจุก ขบวนแห่พิธีตรียัมปวายหรือพิธีโล้ชิงช้า ขบวนแห่นางสงกรานต์ ขบวนแห่ขวัญนาคแบบชาวบ้าน ขบวนแห่รถยนต์โบราณ เป็นต้น ซึ่งทุกขบวนมีความงดงามด้วยเครื่องแต่งกายเครื่องประกอบขบวนมากมายรวมทั้งจำนวนผู้แสดงแต่ละขบวนมากกว่า 500 คน
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ยังได้แบ่งพื้นที่ตามลักษณะกิจกรรมออกเป็น 7 พื้นที่หลัก ประกอบด้วย พื้นที่ที่ 1 ชื่อว่า “ระงมดนตรี คือเสียงกระวี สำเนียงนิรันดร์” (อนิรุทธคำฉันท์) เป็นพื้นที่จัดแสดงพิธีกรรมโบราณ นาฏศิลป์ชั้นสูงที่หาชมยาก โดยจะจัดในบริเวณลานคนเมืองและเสาชิงช้า ซึ่งพิธีกรรมโบราณที่จะมีการจำลองมาให้ชม อาทิ การจำลองพิธีโล้ชิงช้า และการรำเสนง (สะ-เหนง) ซึ่งเป็นท่าร่ายรำประกอบพิธี แต่เลิกไปพร้อมกับพิธีโล้ชิงช้าตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 7 การแสดงกระตั้วแทงควาย ซึ่งเป็นมหรสพสมโภชพิธีโสกันต์ แตรวงออกตัว เป็นการแสดงดนตรีประกอบโขนเมื่อครั้งรัชกาลที่ 5 นอกจากนี้ยังมีการแสดงโขนพิเศษ ชุด “นางมณโฑออกยกรบ” ซึ่งใช้นักแสดงกว่า 150 คน มหกรรมนาฏดนตรี (ลิเกทรงเครื่อง) โดย ครูบุญเลิศ นาคพินิจ ศิลปินแห่งชาติ วิพิธทัศนาเฉลิมนครา ซึ่งเป็นละครซ้อนโขนที่ได้ดาราดังแห่งโรงละครแห่งชาติ เช่น ปกรณ์ พรพิสุทธ์ มาร่วมแสดง นอกจากนี้ยังมีการแสดงแฟชั่นโชว์ผ้าไทย 9 รัชกาล ซึ่งได้รับเกียรติจากบุคคลที่มีชื่อเสียงมาร่วมเดินแบบมากมาย ซึ่งในพื้นที่เดียวกันนี้จะใช้ในการจัดพิธีเปิดงานในวันอังคารที่ 6 เม.ย. เวลา 19.00 น. ด้วย
พื้นที่ที่ 2 ชื่อว่า “กรุงเทพรัตนโกสินทร์” เป็นพื้นที่จัดกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับวรรณศิลป์ ใช้พื้นที่บริเวณลานพลับพลา - มหาเจษฎาบดินทร์ ป้อมมหากาฬ และกำแพงพระนคร โดยจะมีการนำวรรณศิลป์อันทรงคุณค่าของแผ่นดิน ทั้งพระราชนิพนธ์ใน ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 2 และรัชกาลที่ 3 รวมทั้งผลงานของสุนทรภู่กวีเอก 3 แผ่นดิน มานำเสนอในรูปของการเสวนา การอ่านทำนองเสนาะประกอบดนตรี โดย เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ศิลปินแห่งชาติ การแสดงละครเพลงสมัยรัชกาลที่ 6 การเล่าเรื่องกรุง รัตนโกสินทร์ ผ่านบทเพลง รวมทั้งการจัดแสดงนิทรรศการภาพเก่า และการแสดงการฉายภาพเก่าของกรุงรัตนโกสินทร์บนกำแพงพระนคร ซึ่งนับเป็นเทคนิคพิเศษที่น่าสนใจและสร้างบรรยากาศย้อนยุคได้อย่างดี สำหรับผู้ที่สัญจรไปมาและนักท่องเที่ยวจะสามารถหยุดชมการฉายภาพบนกำแพงพระนครได้
พื้นที่ที่ 3 ชื่อว่า “เสน่ห์บางกอก” เป็นการเนรมิตพื้นที่บริเวณคลองคูเมืองเดิมให้เป็น ตลาดน้ำ เพื่อจำลองวิถีชีวิตของคนไทยในอดีตที่ผูกพันกับสายน้ำ โดยจะมีเรือจำหน่ายสินค้าและอาหารทั้งสด แห้ง คาว หวาน มาร่วมสร้างสีสัน มีการตกแต่งลำคลองด้วยน้ำพุอันสวยงาม และน้ำพุเต้นระบำประกอบแสง เสียง ส่วนบนถนนราชินีจะมีเวทีแสดงนาฏศิลป์พื้นบ้าน อาทิ ลำตัด มอญรำ ลิเก ละครชาตรี อุปรากรจีน และยังมี “ร้านเก่าบางกอก” ที่จำลองรูปแบบสถาปัตยกรรมยุโรปสมัยรัชกาลที่ 5 มาไว้ เช่น ร้านเอี๊ยะแซ กาแฟโบราณ ร้านสมใจนึก ร้านฉายาจิตรกร ซึ่งเป็นร้านถ่ายรูปเก่าแก่กว่า 60 ปี ร้านวิวิธภูษาคาร ที่รับตัดเสื้อข้าราชการมาตั้งแต่รัชกาลที่ 6 ร้านธงบรรณการ ผู้ผลิตเสาธงชาติแห่งแรกของไทย ร้าน ก.พานิช ที่ขายข้าวเหนียวมูนเลื่องชื่อ ร้านออนล็อกหยุ่น แหล่งนัดพบ — กาแฟดังในอดีต เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีซุ้มจำหน่ายสินค้าหัตถกรรมชุมชนและสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) ที่คัดสรรมาอย่างดีด้วย
พื้นที่ที่ 4 ชื่อว่า “ย่านเก่าเล่าเรื่อง” เป็นการจัดแสดงและจำลองวิถีชีวิตชุมชนแบบดั้งเดิมที่ยังคงมีอยู่ โดยใช้พื้นที่บริเวณย่านสามแพร่ง คือ แพร่งสรรพศาสตร์ แพร่งภูธร และแพร่งนรา โดยแพร่งนราจัดให้เป็นถนนหนังสือ เพื่อให้เป็นแหล่งแลกเปลี่ยนความรู้และจัดจำหน่ายหนังสือเก่าใหม่ทุกชนิด แพร่งภูธร จัดเป็นแหล่งแลกเปลี่ยนงานศิลปะและดนตรี รวมทั้งจัดแสดงบ้านหัตถกรรมวิถีไทย เพื่อสาธิตและจัดจำหน่ายสินค้าหัตถกรรมจากภูมิปัญญาของชุมชนด้วย เช่น บ้านช่างทอง บ้านช่างหล่อ บ้านบุ บ้านบาตร บ้านหม้อ บ้านดอกไม้ เป็นต้น ส่วนแพร่งสรรพศาสตร์จัดแสดงนิทรรศการประวัติและของดีของย่านนี้
พื้นที่ที่ 5 ชื่อว่า “บังอบายเบิกฟ้า ฝึกฟื้นใจเมือง” (จากนิราศนรินทร์) อยู่ในบริเวณวัดมหรรณพาราม ซึ่งเป็นโรงเรียน เทศบาลสำหรับราษฎรแห่งแรกของไทย จะจัดให้มีนิทรรศการภาพประวัติการศึกษาของไทย นิทรรศการตำราและอุปกรณ์การเรียนการสอนอย่างโบราณ รวมทั้งสาธิตการประดิษฐ์อุปกรณ์การเรียนต่าง ๆ เช่น ปากกาหมึกขนนก เป็นต้น
พื้นที่ที่ 6 ชื่อว่า “โอชาจะหาไหน ไม่มีเทียบเปรียบมือนาง” (กาพย์แห่ชมเครื่องคาวหวาน รัชกาลที่ 2) จัดถนนมหรรณพให้เป็นถนนอาหาร โดยเชิญร้านอาหารเก่าแก่และมีชื่อเสียงในเรื่องความอร่อยจากย่านเยาวราชมาออกร้านจำหน่ายให้ได้ชิมกัน ในบรรยากาศไชน่าทาวน์ นอกจากนี้ยังจัดบริเวณเกาะกลางถนนศิริพงษ์ให้เป็นโซนอาหารอีกจุดหนึ่งด้วย ซึ่งโซนนี้จะเป็นการรวมร้านอาหารดังจากย่านต่าง ๆ ทั่วกรุงเทพฯ ให้มาออกร้านจำหน่ายแก่ผู้มาเที่ยวชมงาน
พื้นที่ที่ 7 ชื่อว่า “ตั้งใจจะอุประถัมภก ยอยกพระพุทธศาสนา” (นิราศเรื่องรบพม่าที่ท่าดินแดง รัชกาลที่ 1) อยู่ในบริเวณวัดสุทัศน์เทพวราราม โดยพื้นที่นี้จะจัดการแสดงเกี่ยวกับขนบธรรมเนียมประเพณีไทยที่เกี่ยวข้องกับพุทธศาสนา เช่น การทำขวัญนาคของไทย พิธีอุปสมบท การเทศน์มหาชาติ เป็นต้น”
ทั้งนี้กรุงเทพมหานครได้เตรียมความพร้อมในการรองรับประชาชนที่เดินทางมาเที่ยวชมงานในทุกๆด้าน ได้ทั้งการอำนวยความสะดวกในการเดินทางภายในบริเวณงาน ซึ่งได้จัดเตรียมรถรางชมเมือง เพื่อให้ผู้มาเที่ยวงานสามารถเดินทางเที่ยวชมได้ทุกจุด กิจกรรม โดยเป็นการบริการที่ไม่เสียค่าใช้จ่าย รถรางจะวิ่ง 3 เส้นทาง คือ สายที่ 1 จากลานพระบรมรูปทรงม้า ถึงลานคนเมือง สายที่ 2 จากลานคนเมืองถึงคลองคูเมือง และสายที่ 3 จากคลองคูเมืองถึงสนามหลวง นอกจากรถรางแล้วยังมีบริการรถสามล้อถีบ รถลาก ภายในงานอีกด้วย--จบ--
-นห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ