กรมประมงฟุ้งเตรียมประกาศ “ปลาโมง” เป็นปลาเศรษฐกิจชนิดใหม่

ข่าวทั่วไป Monday April 11, 2005 16:00 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--11 เม.ย.--กรมประมง
กรมประมงฟุ้งเตรียมประกาศ “ปลาโมง” เป็นปลาเศรษฐกิจชนิดใหม่ คาด เดือนมิ.ย.สามารถขยายพันธุ์ให้ผู้ประกอบการเพาะเลี้ยงได้ 1.17 ล้านตัว ระบุส่งออกอเมริกา ยุโรปแข่งเวียดนาม ตั้งเป้าปี48 ส่งออกมูลค่าสูงกว่า 160 ล้านบาท
นายสิทธิ บุณยรัตผลิน อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า ขณะนี้กรมประมง โดยสำนักวิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืด อยู่ระหว่างการจัดทำแผนเพื่อเสนอให้ “ปลาโมง” ซึ่งเป็นปลาที่อยู่ในกลุ่ม Cat Fish ไม่มีเกล็ดลักษณะคล้ายปลาสวาย และมีเนื้อสีขาว เป็นสินค้าประมงที่สำคัญทางเศรษฐกิจชนิดใหม่ จากเดิมที่มีเพียง กุ้ง ทูน่า และปลาสวยงาม เนื่องจากเห็นว่า ไทยมีศักยภาพในการผลิต และสามารถแข่งขันกับเวียดนามซึ่งเป็นผู้เลี้ยงและส่งออกปลาโมงเพียงรายเดียวได้
ทั้งนี้ ในแต่ละปีเวียดนาม จะมีการผลิตปลาโมงประมาณ 350,000 ตัน สามารถส่งออกสร้างรายได้เข้าประเทศถึงปีละ 16,000-17,000 ล้านบาท โดยตลาดส่วนใหญ่จะอยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกา และประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป (อียู) แต่ปัจจุบันเวียดนามกำลังประสบปัญหาในเรื่องภาษีนำเข้าที่สหรัฐฯเรียกเก็บสูงขึ้น และการคุมเข้มในเรื่องคุณภาพและมาตรฐานด้านความปลอดภัยของตลาดในอียู ซึ่งหากไทยสามารถพัฒนาและเพิ่มกำลังการผลิตปลาโมงเพื่อส่งออกได้ น่าจะทำให้ไทยกลายเป็นผู้ส่งออกปลาโมงได้
อธิบดีกรมประมง กล่าวเพิ่มเติมว่า หลังจากกรมประมงได้เพาะเลี้ยงและขยายพันธุ์ปลาโมงเป็นผลสำเร็จแล้ว คาดว่าจะสามารถจะจำหน่ายให้เกษตรกร หรือผู้ประกอบการได้ในเดือนมิ.ย.นี้ โดยผู้ต้องการเลี้ยงปลาโมงต้องขึ้นทะเบียนผู้เลี้ยงและเข้าสู่ระบบมาตาฐานฟาร์ม GAP ซึ่งกรมประมงจะทำหน้าที่ในการฝึกกอบรมให้ความรู้ในการเลี้ยงปลาชนิดดังกล่าว โดยเชื่อว่าจะสามารถส่งออกและสร้างรายได้ให้กับประเทศไม่ต่ำกว่าปีละ 160 ล้านบาท
ด้านนางสาวจูอะดี พงศ์มณีรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืด กล่าวว่า ในปีนี้กรมฯ ตั้งเป้าจะผลิตลูกปลาโมงให้ได้จำนวนทั้งสิ้น 1.17 ล้านตัว โดยศูนย์ฯ และสถานีต่างๆ ในสังกัดสำนักวิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืด จะเร่งพัฒนาการผลิต ส่งเสริมและสนับสนุนให้เกษตรกรเลี้ยง รองรับยุทธศาสตร์เพื่อผลักดันให้ปลาโมงเป็นสินค้าประมงเศรษฐกิจชนิดใหม่
อย่างไรก็ตาม ราคาปลาชนิดดังกล่าวยังถือว่าอยู่ในระดับสูง เนื่องจากมีเกษตรกรผู้เลี้ยงไม่มากนัก และเป็นปลาเฉพาะถิ่นที่เลี้ยงกันเฉพาะในภาคอีสาน ในแถบลำน้ำโขงเท่านั้น โดยมีราคาอยู่ที่ประมาณ 70-80 บาท/กก. โดยเกษตรกรต้องเลี้ยงนานประมาณ 8-10 เดือน จึงจับขึ้นมาจำหน่ายหรือบริโภคได้ ประกอบกับเกษตรกรยังไม่มีระบบการจัดการต้นทุนการผลิตที่เหมาะสมทำให้ต้นทุนการผลิตค่อนข้างสูง ดังนั้น กรมประมงจะเร่งศึกษาวิจัยเพื่อหาแนวทางลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มผลผลิตต่อกระชังให้สูงขึ้น เพื่อรองรับการส่งออกในอนาคตต่อไป-จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ