กรุงเทพฯ--15 ก.พ.--สหภาพยุโรป
'สหภาพยุโรปยอมรับสิทธิของประเทศอินเดียในการบังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรยา (Compulsory Licensing) และไม่มีเจตนารมณ์ในการลดทอนศักยภาพของประเทศอินเีดียในการผลิตและส่งออกยาไปยังประเทศที่กำลังพัฒนาซึ่งรวมถึงประเทศไทยด้วย'
การประชุมสุดยอดสหภาพยุโรป-อินเดียครั้งที่ 12 ได้เริ่มขึ้น ณ กรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย หนึ่งในหัวข้อที่จะมีการประชุมกันคือการเจรจาการค้าเสรี หรือ Free Trade Agreement ที่กำลังดำเนินอยู่อย่างต่อเนื่อง ในขณะเีดียวกัน ในวันนี้กลุ่มองค์กรภาคเอกชนหรือเอ็นจีโอไทยหลายองค์กรได้ร่วมกันส่งจดหมายเปิดผนึกให้กับ ฯพณฯ เดวิด ลิปแมน เอกอัครราชทูตสหภาพยุโรปประจำประเทศไทยเพื่อแสดงความเป็นห่วงต่อผลกระทบที่อาจเกิดจากกรณ๊ที่มีการลงนามในข้อตกลงทางการค้าสหภาพยุโรป-อินเดีย ทั้งนี้ทางกลุ่มองค์กรฯ ดังกล่าวได้แสดงความเป็นห่วงต่อผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นเกี่ยวกับการเข้าถึงยา 'สามัญ' ต่อกรณีดังกล่าวทางเอกอัครราชทูตเดวิด ลิปแมนจึงได้ออกแถลงการณ์ดังต่อไปนี้
'ทางสหภาพยุโรปมีความตั้งใจที่จะให้มีการเข้าถึงยาที่จำเป็นในราคาที่สามารถซื้อได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อผู้ใช้ยาในประเทศต่างๆ ที่กำลังพัฒนา ความเป็นห่วงถึงการเข้าถึงยาในกรณีดังกล่าวนั้นถือว่าเป็นเรื่องที่ถูกต้องในเรื่องของตัวบทกฎหมาย แต่ข้อกล่าวหาที่แจ้งในจดหมายเปิดผนึกไม่ได้ตั้งอยู่บนความเป็นจริงในกรณีที่สหภาพยุโรปทำการเจรจาการค้ากับประเทศอินเดีย (และประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ ด้วย)
สหภาพยุโรปยอมรับสิทธิของประเทศอินเดียในการบังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรยา (Compulsory licensing) และไม่มีเจตนารมณ์ในการลดทอนศักยภาพของประเทศอินเีดียในการผลิตและส่งออกยาไปยังประเทศที่กำลังพัฒนาซึ่งรวมถึงประเทศไทยด้วย
ในทางตรงกันข้าม ทางสหภาพยุโรปได้ระบุข้อความในการเจรจาการค้าเสรีนี้เพื่อให้แน่ใจว่าจะไม่มีเนื่อหาใดๆ ในข้อตกลงฯ ที่จะจำกัดเสรีภาพของประเทศอินเดียในการผลิตและส่งออกยาภายใต้ข้อตกลงองค์กรการค้าโลกว่าด้วยสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวพันกับการค้าหรือทริปส์ (Trade Related Aspects of Intellectual Property Rights -TRIPS) และ ในปฏิญญาโดฮาว่าด้วยความตกลงทริปส์และสาธารณสุข (Doha Declaration on the TRIPs Agreement and Public Health) โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับการบังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรยา (Compulsory licensing) (Compulsory licensing หรือ การบังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรยาจะถูกนำมาใช้เมื่อรัฐบาลอนุญาตให้บุคคลที่สามสามารถผลิตยาหรือมีส่วนร่วมในกระบวนการผลิตยาที่ได้รับการคุ้มครองจากการจดสิทธิบัตรได้แม้ว่าไม่ได้รับการยินยอมจากเจ้าของสิทธิบัตรยานั้น) นอกจากนี้ ทางสหภาพยุโรปและอินเดียยังได้ตกลงร่วมกันแล้วว่าเนื้้อหาในข้อตกลงเสรีทางการค้าฯ ในส่วนที่เกี่ยวกับสิทธิทรัพย์สินทางปัญญามุ่งที่จะใช้กฎหมายเดิมของทั้งสองฝ่าย ดังนั้นข้อตกลงการค้าฯ นี้จะไม่เรียกร้องให้ทางอินเดียมีการเปลี่ยนแปลงกฎหมายด้านทรัพย์สินทางปัญญาไม่ว่าจะเป็นในเรื่องการต่ออายุสิทธิบัตร (patent term extension) และการให้ความคุ้มครองข้อมูลยา (data exclusivity)
นอกจากนี้ ข้อตกลงการค้าสหภาพยุโรป — อินเดียจะไม่ได้เข้าไปแทรกแซงการค้าและการขนส่งยาสามัญผ่านพรมแดนที่ถูกต้องตามกฎหมายแต่อย่างใด (generic medicines in transit) จากการพิจารณาข้อตกลงทางการค้าเพื่อต่อต้านการปลอมแปลงสินค้า (The Anti-Counterfeiting Trade Agreement - ACTA) ทางสหภาพยุโรปเชื่อว่าข้อตกลงฯ ดังกล่าวสามารถมีส่วนในการลดการค้าและการขายยา/สินค้าปลอมแปลงประเภทยารักษาโรค (ซึ่งไม่มีสรรพคุณในการรักษาโรคและอาจมีสารพิษที่เป็นอันตรายต่อชีวิต) ซึ่งเป็นการสนับสนุนเป้าหมายเพื่อประโยชน์ของการสาธารณสุขสาธารณะ ภาคส่วนต่างๆ ที่ได้ลงนามในข้อตกลงฯ นี้ซึ่งรวมถึงประเทศไทยได้ประกาศต่อสาธารณะชนแล้วว่าข้อตกลงฯ ACTA นี้จะไม่เป็นอุปสรรคต่อการค้าและการขนส่งยาสามัญผ่านพรมแดนที่ถูกต้องตามกฎหมายแต่อย่างใด (the cross-border transit of legitimate generic medicines)
การป้องกันสิทธิทรัพย์สินทางปัญญาที่เพียงพอมีความจำเป็นในการสนับสนุนอุตสาหกรรมนวัตกรรมเพื่อให้มีการพัฒนายาใหม่ๆ และเพื่อสร้างการแข่งขันที่เป็นธรรม (level playing-field) ให้กับภาคอุตสาหกรรมทั้งหมด แต่ในขณะเดียวกันก็ให้ความสนใจกับการป้องกันสิทธิประโยชน์ในการสาธารณสุขสาธารณะไปพร้อมๆ กัน การสนับสนุนการเข้าถึงยาเป็นเสาหลักที่สำคัญของนโยบายการป้องกันสิทธิทรัพย์สินทางปัญญาของสหภาพยุโรปด้วยเช่นกันและนโยบายนี้ก็เป็นหนึ่งในหลักการที่นำไปใช้ในการเจรจาการค้าเสรีกับประเทศอินเดียและประเทศคู่ค้าอื่นๆ ด้วยเช่นเดียวกัน
เนื้อหาในข้อตกลงเสรีทางการค้ากับประเทศอินเดียในส่วนที่เกี่ยวกับสิทธิทรัพย์สินทางปัญญายังอยู่ในขบวนการของการเจรจา และผลสิ้นสุดจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อคู่เจรจาทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องกันในเนื้อหาที่อยู่ในข้อตกลง สหภาพยุโรปยังคงเปิดกว้างต่อการมีส่วนร่วมในการพูดคุยอย่างสร้างสรรค์กับองค์กรภาคประชาสังคมและภาคีอื่นๆ ภายใต้กรอบนโยบายการค้าการต่างประเทศของสหภาพยุโรป'
สื่อที่สนใจข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ คุณกุลวดี สุมาลย์นพ kullwadee.sumalnop@eeas.europa.eu, 02.305.2644