คปภ. แจงเหตุรถทัวร์โดยสารสองชั้น กรุงเทพ-ศรีสะเกษ ชนประสานงา รถบรรทุกพ่วง 18 ล้อ ผู้ประสบภัยได้รับความคุ้มครองจากการทำประกันภัย

ข่าวทั่วไป Wednesday February 15, 2012 14:26 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--15 ก.พ.--คปภ. นายประเวช องอาจสิทธิกุล เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า จากเหตุการณ์รถทัวร์โดยสารสองชั้น กรุงเทพ-ศรีสะเกษ หมายเลขทะเบียน 10-7865 นครราชสีมา เสียหลักชนประสานงากับรถบรรทุกพ่วง 18 ล้อ หมายเลขทะเบียน 70-1622 อุบลราชธานี ของบริษัท พัฒนกิจพืชผล ซึ่งบรรทุกมันสำปะหลังเส้นมาเต็มคันรถ ช่วงบริเวณบ้านสะกาด-บ้านหลัก ตำบลสระกาด อำเภอสังขะ จังหวัดสุรินทร์ เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตทั้งสิ้น 10 ราย และได้รับบาดเจ็บอีก 24 ราย นั้น สำนักงาน คปภ. ได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปประสานงานให้ความช่วยเหลือแล้ว และจากการตรวจสอบพบว่ารถทัวร์คันดังกล่าวเป็นของบริษัท ศรีสะเกษ ทัวร์ ซึ่งได้ทำประกันภัยรถภาคบังคับ (พ.ร.บ.) และประกันภัยรถภาคสมัครใจ (ประเภท 1 ) ไว้กับบริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด ซึ่งผู้โดยสารที่เสียชีวิตจะได้รับความคุ้มครองจากประกันภัยรถภาคบังคับ (พ.ร.บ.) รายละ 200,000 บาท ความคุ้มครองจากประกันภัยรถภาคสมัครใจ (ประเภท 1) อีกรายละไม่ต่ำกว่า 100,000 บาท และจากการประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคลอีกรายละ 100,000 บาท สำหรับผู้ได้รับบาดเจ็บทั้ง 24 ราย ได้ถูกนำตัวเข้ารักษาที่โรงพยาบาลใกล้เคียง ประกอบด้วย โรงพยาบาลสังขะ โรงพยาบาลลำดวน โรงพยาบาลปราสาท และ โรงพยาบาลสุรินทร์ จะได้รับความคุ้มครองค่ารักษาพยาบาลตามที่จ่ายจริงจากการประกันภัยรถภาคบังคับ (พ.ร.บ.) รายละ 50,000 บาท จากการประกันภัยภาคสมัครใจ (ประเภท 1) รายละไม่ต่ำกว่า 250,000 บาท และจากการประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคล รายละไม่ต่ำกว่า 100,000 บาท เลขาธิการ คปภ. กล่าวเพิ่มเติมว่า สำนักงาน คปภ. มีความห่วงใยประชาชนที่ประสบอุบัติเหตุ จึงได้เร่งประสานกับบริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด เพื่อดำเนินการจ่ายค่าสินไหมทดแทนสำหรับผู้เสียชีวิต และประสานกับโรงพยาบาลที่รับรักษาผู้บาดเจ็บ เพื่ออำนวยความสะดวกเรื่องค่ารักษาพยาบาลแล้ว อย่างไรก็ตามขอฝากเตือนผู้ใช้รถควรขับขี่ด้วยความระมัดระวัง และตรวจสอบสภาพรถให้พร้อมใช้งานอยู่เสมอ ที่สำคัญอย่าลืมตรวจสอบวันหมดอายุของการทำประกันภัยทั้งภาคบังคับ (พ.ร.บ.) และภาคสมัครใจที่มีอยู่ก่อนออกเดินทาง เพราะหากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิดขึ้น ความคุ้มครองจากการทำประกันภัยจะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนที่เกิดขึ้นได้ หากมีข้อสงสัยเพิ่มเติมสอบถามข้อมูลได้ที่ สายด่วนประกันภัย 1186 หรือ www.oic.or.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ