กรุงเทพฯ--15 ก.พ.--ทริสเรทติ้ง
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ยืนยันอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่มีประกันชุดปัจจุบันของ ธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) คงเดิมที่ระดับ “A-” พร้อมทั้งจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่มีประกันชุดใหม่ของธนาคารในวงเงินไม่เกิน 3,000 ล้านบาทที่ระดับ “A-” โดยแนวโน้มอันดับเครดิตเป็น “Positive” หรือ “บวก” อันดับเครดิตสะท้อนถึงธุรกิจและผลประกอบการของธนาคารที่ดีขึ้น รวมถึงคณะผู้บริหารที่มีประสบการณ์ การบริหารความเสี่ยงในระดับที่ยอมรับได้ คุณภาพสินทรัพย์ที่ดีขึ้น และฐานเงินกองทุนที่มีความแข็งแกร่ง อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตยังได้รับแรงกดดันจากการที่ธนาคารมีมูลค่าเครือข่ายธุรกิจ (Franchise Value) ในระดับปานกลาง รวมถึงการมีเครือข่ายที่น้อยกว่าเมื่อเทียบกับธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ และความไม่แน่นอนของการเคลื่อนย้ายเงินฝากภาคเอกชนภายหลังการลดวงเงินคุ้มครองเงินฝากตามพระราชบัญญัติสถาบันคุ้มครองเงินฝาก นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงของภาวะเศรษฐกิจและการเมือง รวมทั้งการแข่งขันในธุรกิจธนาคารพาณิชย์และธุรกิจหลักทรัพย์ที่ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นอาจส่งผลกระทบต่อการเติบโตทางธุรกิจและความสามารถในการทำกำไรของธนาคารได้ในอนาคต ในขณะที่แนวโน้มอันดับเครดิต “Positive” หรือ “บวก” สะท้อนการคาดการณ์ว่าธนาคารจะสามารถรักษาระดับการเติบโตทางธุรกิจและความสามารถในการทำกำไรได้ในระยะกลาง อีกทั้งยังสะท้อนถึงความสามารถของธนาคารในการควบคุมคุณภาพสินเชื่อและการดำรงเงินกองทุนที่เพียงพอเพื่อรองรับความเสี่ยงที่เกิดจากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจและการเงินในอนาคตได้ ประเด็นกังวลสำคัญ 3 ประการที่ยังคงอยู่ประกอบด้วย ผลกระทบที่อาจเกิดจากอุทกภัยครั้งใหญ่ในประเทศไทย ความเสี่ยงในเรื่องเสถียรภาพของฐานลูกค้าเงินฝากรายย่อยที่อาจถูกกระทบจากการบังคับใช้กฎหมายคุ้มครองเงินฝากในเดือนสิงหาคม 2555 และต้นทุนทางการเงินที่อาจเพิ่มสูงขึ้น ทั้งนี้ ความสามารถของธนาคารในการดำรงจุดแข็ง รวมทั้งการรักษาฐานเงินทุนที่มีเสถียรภาพไว้ได้ด้วยต้นทุนที่เหมาะสมยังคงต้องรอการพิสูจน์ต่อไป
ทริสเรทติ้งรายงานว่า ณ สิ้นเดือนกันยายน 2554 ธนาคารเกียรตินาคินเป็นธนาคารพาณิชย์ที่มีขนาดของสินทรัพย์รวมใหญ่เป็นอันดับที่ 11 ในบรรดาธนาคารพาณิชย์ไทยทั้งสิ้น 15 แห่ง โดยธนาคารมีส่วนแบ่งตลาดของสินทรัพย์ 1.6% เงินให้สินเชื่อ 1.7% และเงินรับฝาก 1.0% ธนาคารบริหารจัดการธุรกิจหลักซึ่งประกอบด้วยสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ สินเชื่อโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัย และการบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพด้วยความชำนาญ ในขณะที่คุณภาพสินทรัพย์อยู่ในระดับที่ควบคุมได้ สินเชื่อของธนาคารเติบโตถึง 21% จากการขยายตัวของยอดขายรถยนต์ในประเทศและการเติบโตทางเศรษฐกิจในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2554 ด้วยยอดสินเชื่อทั้งสิ้น 130 พันล้านบาท ธนาคารมีสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์คิดเป็นสัดส่วน 74% จากสินเชื่อทั้งหมด ในขณะที่สินเชื่อเพื่อโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยและสินเชื่อประเภทอื่นๆ มีสัดส่วน 26% ทั้งนี้ ณ สิ้นเดือนกันยายน 2554 สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์มียอดคงค้างทั้งสิ้น 96 พันล้านบาท ด้วยอัตราการเติบโต 25% เทียบกับ 77 พันล้านบาท ณ สิ้นปี 2553 ส่วนสินเชื่อธุรกิจกลุ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้างเติบโต 12% จาก 21 พันล้านบาทเมื่อสิ้นปี 2553 เป็น 23 พันล้านบาท ณ สิ้นเดือนกันยายน 2554
ในเดือนธันวาคม 2554 ธนาคารได้ลงนามในข้อตกลงการควบรวมกิจการกับ บริษัท ทุนภัทร จำกัด (มหาชน) ซึ่งดำเนินธุรกิจหลักทรัพย์โดยมีมูลค่าการซื้อขายหลักทรัพย์ในปี 2554 มากเป็นอันดับ 8 ในบรรดาบริษัทหลักทรัพย์ทั้งสิ้น 33 แห่ง ธนาคารมีแผนการจะซื้อหุ้นทั้งหมด (Tender Offer) ของบริษัททุนภัทรโดยการออกหุ้นสามัญของธนาคารชุดใหม่เพื่อแลกเปลี่ยนกับผู้ถือหุ้นของบริษัททุนภัทร ซึ่งการซื้อหุ้นดังกล่าวคาดว่าจะดำเนินการได้ในไตรมาสที่ 2-3 ของปี 2555 หากการควบรวมกิจการสำเร็จ ธนาคารจะมีขีดความสามารถในการแข่งขันในธุรกิจหลักทรัพย์สูงขึ้นและมีผลประกอบการโดยรวมดีขึ้นหากธนาคารและบริษัทย่อยสามารถสร้างรายได้ค่าธรรมเนียมเพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นโดยทันทีหลังการควบรวมกิจการแล้วเสร็จคาดว่าจะยังไม่เพียงพอต่อการเปลี่ยนแปลงสถานะเครดิตของธนาคาร
ธนาคารมีกลยุทธ์เติบโตโดยมุ่งเน้นสินทรัพย์ที่มีคุณภาพดีโดยได้กำหนดนโยบายด้านสินเชื่อและเกณฑ์การอนุมัติสินเชื่อที่มีความเข้มงวด ส่งผลให้ธนาคารมีสินเชื่อด้อยคุณภาพลดลงอย่างต่อเนื่อง อัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อสินเชื่อรวมของธนาคารลดลงจาก 12.3% ในปี 2550 มาอยู่ที่ 4.6% ในปี 2553 และลดลงอย่างต่อเนื่องมาอยู่ที่ระดับ 3.7% ในเดือนกันยายน 2554 ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 4.0% ของธนาคารพาณิชย์ไทย 11 แห่งในฐานข้อมูลของทริสเรทติ้ง (ไม่รวมธนาคาร 4 แห่งที่ไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย) ในขณะเดียวกัน ธนาคารมีสินทรัพย์ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (ประกอบด้วยสินเชื่อจัดชั้นที่ค้างชำระเกิน 3 เดือน ยอดคงค้างสินเชื่อที่ปรับโครงสร้างหนี้ และสินทรัพย์รอการขาย) คิดเป็น 6.4% ของสินทรัพย์รวม ดีกว่าค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรมที่ 7.0% ธนาคารได้ให้สินเชื่อแก่โครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยที่มีความน่าเชื่อถือน้อยซึ่งมีความเสี่ยงด้านเครดิตสูง สินเชื่อด้อยคุณภาพในกลุ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้างยังคงอยู่ในระดับสูงคิดเป็น 14% ของสินเชื่อกลุ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้างทั้งหมดของธนาคาร ณ สิ้นเดือนกันยายน 2554 ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ย 8% สำหรับสินเชื่อด้อยคุณภาพในกลุ่มเดียวกันนี้ อย่างไรก็ตาม ธนาคารยังดำรงเงินกองทุนซึ่งรวมสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญที่เพียงพอเพื่อรองรับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากสินทรัพย์ด้อยคุณภาพได้ ทั้งนี้ ธนาคารมีอัตราส่วนสินทรัพย์ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อเงินกองทุนซึ่งรวมค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญคิดเป็น 0.44 เท่า ดีกว่าค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรมที่ระดับ 0.53 เท่า นอกจากนี้ อัตราส่วนสำรองหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพของธนาคารยังเพิ่มขึ้นจาก 85% ณ สิ้นปี 2553 เป็น 95% ในเดือนกันยายน 2554 แต่ยังคงต่ำกว่าค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรมที่ระดับ 100% อย่างไรก็ตาม ธนาคารอาจมีสินเชื่อด้อยคุณภาพเพิ่มขึ้นภายหลังอุทกภัยครั้งใหญ่ซึ่งเกิดเมื่อช่วงปลายปี 2554 แต่ก็คาดว่าจะเป็นการเพิ่มขึ้นเพียงชั่วคราวและอยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้
ทริสเรทติ้งกล่าวว่า ธนาคารเกียรตินาคินสามารถสร้างรายได้ที่สูงขึ้นและรักษาระดับผลตอบแทนที่สูงเอาไว้ได้จากธุรกิจหลัก ในขณะเดียวกันยังสามารถควบคุมค่าใช้จ่ายดำเนินงานได้เป็นอย่างดี ธนาคารมีกำไรสุทธิในปี 2553 จำนวน 2,840 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 27% จากกำไรสุทธิ 2,229 ล้านบาทในปี 2552 แม้ว่าอัตราส่วนค่าใช้จ่ายดำเนินงานต่อรายได้รวมจะเพิ่มขึ้น
จาก 30% ในปี 2552 เป็น 38% ในปี 2553 แต่ยังคงต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ที่ 42% อัตราส่วนผลตอบแทนต่อสินทรัพย์รวมถัวเฉลี่ยของธนาคารปี 2553 เพิ่มขึ้นเป็น 2.1% จาก 1.8% ในปี 2552 ในขณะที่อัตราส่วนผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้นถัวเฉลี่ยเพิ่มขึ้นจาก 12.7% ในปี 2552 เป็น 14.6% ในปี 2553 สำหรับกำไรสุทธิของธนาคารในงวด 9 เดือนแรกของปี 2554 มีจำนวน 2,176 ล้านบาท ลดลง 7.4% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีอัตราส่วนผลตอบแทนต่อสินทรัพย์รวมถัวเฉลี่ยและอัตราส่วนผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้นถัวเฉลี่ย (ยังไม่ได้ปรับอัตราส่วนให้เป็นตัวเลขเต็มปี) อยู่ที่ระดับ 1.3% และ 10.0% ตามลำดับ ทั้งนี้ เป็นผลจากการที่ธนาคารตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญเพิ่มขึ้น รวมทั้งมีค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรเพิ่มขึ้นมากกว่างวดเดียวกันของปีก่อน ความสามารถในการทำกำไรของธนาคารอาจได้รับผลกระทบจากค่าธรรมเนียมที่คำนวณจากฐานเงินฝากและตั๋วแลกเงินซึ่งจะส่งผลให้ต้นทุนทางการเงินเพิ่มขึ้น โดยต้องนำส่งค่าธรรมเนียมให้แก่ธนาคารแห่งประเทศไทยเพื่อชำระคืนภาระหนี้สินของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน
ในส่วนของสภาพคล่องและเงินทุนนั้น ธนาคารมีความเสี่ยงด้านสภาพคล่องในระดับหนึ่งจากการมีหนี้สินที่จะครบกำหนดชำระคืนภายใน 12 เดือนมากกว่าสินทรัพย์ที่จะครบกำหนดในช่วงเวลาเดียวกัน นอกจากนี้ ธนาคารยังคงพึ่งพิงแหล่งเงินทุนจากลูกค้ารายใหญ่ซึ่งเป็นแหล่งเงินทุนที่อาจมีความผันผวนได้มาก โครงสร้างเงินทุนของธนาคาร ณ สิ้นเดือนกันยายน 2554 ประกอบด้วยเงินกู้ยืมตั๋วแลกเงินคิดเป็น 50% ของเงินรับฝากรวมตั๋วแลกเงิน เงินฝากประจำ 44% และเงินฝากกระแสรายวันและออมทรัพย์ 6% อย่างไรก็ดี ธนาคารมีกลยุทธ์ที่จะเพิ่มจำนวนบัญชีเงินฝากรายย่อยเพื่อให้แหล่งเงินทุนมีการกระจายตัวและมีเสถียรภาพดียิ่งขึ้น นอกจากนี้ การลดวงเงินคุ้มครองเงินฝากจาก 50 ล้านบาทเป็น 1 ล้านบาทในเดือนสิงหาคม 2555 นี้อาจส่งผลกระทบต่อความแข็งแกร่งทางการเงินและเสถียรภาพของแหล่งเงินทุนของธนาคารได้ด้วยเช่นกัน
ธนาคารมีฐานเงินทุนที่แข็งแกร่งโดยสะท้อนจากอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงที่ระดับ 15.50% ณ สิ้นเดือนกันยายน 2554 ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 15.18% ในปี 2553 อัตราส่วนของส่วนของผู้ถือหุ้นต่อสินทรัพย์ของธนาคารลดลงเล็กน้อยจาก 14.7% ในปี 2553 มาอยู่ที่ 12.3% แต่ยังคงสูงกว่าค่าเฉลี่ยที่ 9.4% ซึ่งเป็นผลจากการขยายตัวของสินเชื่ออย่างต่อเนื่อง ธนาคารมีสินเชื่อที่มีความเสี่ยงและผลตอบแทนสูงโดยเฉพาะสินเชื่อโครงการที่อยู่อาศัย ดังนั้น การดำรงเงินกองทุนและสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญที่แข็งแกร่งเพียงพอจึงเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อรองรับความเสียหายที่มิอาจคาดการณ์ได้จากความเสี่ยงจากภาวะถดถอยที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต ทริสเรทติ้งกล่าว
ธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) (KK)
อันดับเครดิตองค์กร: คงเดิมที่ A-
อันดับเครดิตตราสารหนี้:
KK127A: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 2,493 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2555 คงเดิมที่ A-
KK12OA: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 2,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2555 คงเดิมที่ A-
KK16DA: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 975 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2559 คงเดิมที่ A-
KK187A: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 240 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2561 คงเดิมที่ A-
KK18DA: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 625 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2561 คงเดิมที่ A-
KK18DB: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 10 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2561 คงเดิมที่ A-
หุ้นกู้ไม่มีประกันในวงเงินไม่เกิน 3,000 ล้านบาท ไถ่ถอนภายในปี 2557 A-
แนวโน้มอันดับเครดิต: Positive (บวก)