กรุงเทพฯ--15 ก.พ.--กองประชาสัมพันธ์ กทม.
ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แถลงข่าวมาตรการเฝ้าระวังและป้องกันด้านความมั่นคงปลอดภัยในพื้นที่ จากกรณีเกิดเหตุการณ์ระเบิด 3 จุด ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เมื่อวานนี้ (14 ก.พ. 55 ) เวลาประมาณ 14.00 น. ณ บริเวณ ซ.สุขุมวิท 71 จนเป็นเหตุให้มีผู้บาดเจ็บ 5 ราย โดยจับตัวคนร้ายและผู้ต้องสงสัยชาวอิหร่านได้ 2 ราย นั้น ในวันและช่วงที่เกิดเหตุการณ์ดังกล่าว ตนอยู่ในระหว่างการเดินทางกลับจากราชการที่ต่างประเทศ และมีภารกิจต่อในการร่วมประชุมการรับเสด็จพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริวัณณวรีนารีรัตน์ ในงานมูลนิธิซีไรท์ แต่ได้รับรายงานเหตุการณ์ดังกล่าวโดยตลอด ด้วยความห่วงใย จึงมอบหมาย ดร.วัลลภ สุวรรณดี รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ไปตรวจสอบร่วมในเหตุการณ์โดยตลอด พร้อมกับผู้อำนวยการเขตวัฒนา และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง
พร้อมสนับสนุนหน่วยงานด้านความมั่นคงเต็มที่
ทั้งนี้กรณีดังกล่าวอยู่ในส่วนความรับผิดชอบของฝ่ายความมั่นคง คือ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ส่วนกรุงเทพมหานครในฐานะเจ้าของพื้นที่ได้ให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ กองบัญชาการตำรวจนครบาล โดยส่งเจ้าหน้าที่บรรเทาสาธารณภัย จำนวน 17 นาย พร้อมรถดับเพลิง 4 คัน เจ้าหน้าที่เทศกิจเขต จำนวน 20 นาย ไปช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ตำรวจในการกันฝูงชนและอำนวยการจราจร และประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเข้าใจ เจ้าหน้าที่ฝ่ายรักษาความสะอาด จำนวน 20 คน พร้อมรถน้ำ และรถไฟฟ้าส่องสว่าง เข้าทำความสะอาดพื้นที่เพื่อไม่ให้เกิดอันตรายจากเศษวัตถุต่างๆ ที่เกิดจากเหตุระเบิดแล้วเสร็จเมื่อเย็นวานนี้
ส่งเทศกิจ 3,500 นาย หมั่นตรวจตราย่านชุมชนและจุดเสี่ยง
ผู้ว่าฯกทม. กล่าวว่า ในฐานะผู้อำนวยการ กอ.รมน. กรุงเทพมหานคร กำหนดจะจัดประชุมภารกิจหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกับหน่วยงานด้านความมั่นคงในช่วงบ่ายวันศุกร์ที่ 17 ก.พ. นี้ อย่างไรก็ตามได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของกรุงเทพมหานคร ดำเนินการดูแลป้องกัน รักษาความปลอดภัย ความสงบของบ้านเมือง และบรรเทาภัยต่างๆ กรณีมีสถานการณ์ใดเกิดขึ้น เพื่อให้ประชาชนชาวกรุงเทพมหานครเกิดความมั่นใจในศักยภาพและความพร้อมของหน่วยงานด้านความมั่นคง และการสนับสนุนของกรุงเทพมหานคร ซึ่งมีเจ้าหน้าที่ได้รับการฝึกฝน อบรมเพื่อช่วยเหลือสนับสนุนหน่วยงานด้านความมั่งคงและด้านการรักษาความสงบมาอย่างสม่ำเสมอ พร้อมทั้งเครื่องมือ อุปกรณ์ และยานพาหนะต่างๆ ที่พร้อมจะดูแล ป้องกัน บรรเทาภัย และให้ความช่วยเหลือ โดยสำนักเทศกิจ และเจ้าหน้าที่เทศกิจ 50 เขต ได้เตรียมกำลังเจ้าหน้าที่ จำนวน 3,500 นาย คอยดูแลอำนวยความสะดวกและความปลอดภัยให้กับประชานในย่านชุมนุมชนต่างๆ เช่น สถานีขนส่งทั้งทางบกและทางน้ำ ย่านการค้าหรือแหล่งท่องเที่ยว ตลอดจนพื้นที่จุดเสี่ยงภัย สถานที่จัดกิจกรรมต่างๆ รวมทั้งรักษาความสงบปลอดภัย เจ้าหน้าที่เทศกิจที่ผ่านการอบรมด้านการหาข่าว และความมั่นคงเป็นหน่วยสนับสนุน 300 นาย สามารถช่วยเหลือเจ้าพนักงานฝ่ายตำรวจเมื่อเกิดสถานการณ์ได้ โดยรับแจ้งเหตุ ผ่านสายด่วน กทม. 1555 พร้อมทั้งรับแจ้งเบาะแสผ่านตู้เขียวไฮเทค จำนวน 28 ตู้
คนงานเก็บกวาดและอาสาสมัครร่วมเป็นตาสับปะรด
ขณะเดียวกันสำนักงานเขตพื้นที 50 เขต ได้ส่งเจ้าหน้าที่เทศกิจในการดูแลด้านความมั่นคงปลอดภัย ตรวจตราอาคาร สถานที่ราชการ และสถานที่สำคัญ แหล่งชุมชน แหล่งสาธารณูปโภค ตรวจสอบวัสดุต้องสงสัย โดยอบรมให้เจ้าหน้าที่รักษาความสะอาด และพนักงานเก็บขนมูลฝอย ประมาณ 25,000 คน ที่ทำงานใกล้ชิดพื้นที่คอยเป็นหูเป็นตา และช่วยหาข่าว อีกทั้งประสานงานกับอาสาสมัครร่วมป้องกันภัย อปพร. ตำรวจบ้าน วินจักรยานยนต์รับจ้าง และ สน.พื้นที่ โดยตลอด ส่วนสำนักสิ่งแวดล้อม มีอุปกรณ์ เช่น รถน้ำ รถบรรทุก รถสุขาเคลื่อนที่ ในการให้ความช่วยเหลือ โดยมีพนักงาน กวาดและเก็บขนมูลฝอยประมาณ 3,500 คน ช่วยเป็นหูเป็นตา ส่วนสำนักการโยธา มีความพร้อมเรื่องยานพาหนะ เช่น รถขุด รถตัก รถกระเช้า รถยก รถลากจูง รถบรรทุกเทท้าย ฯลฯ พร้อมทั้งมีหน่วยเคลื่อนที่เร็ว หรือ BEST ที่พร้อมจะเข้าไปซ่อมแซมปรับปรุงพื้นที่ให้อยู่ในสภาพปกติ ตลอด 24 ชั่วโมง นอกจากนี้ยังได้เตรียมความพร้อมของโรงพยาบาลในสังกัดสำนักการแพทย์ กทม. ทั้ง 9 แห่ง พร้อมรองรับผู้ป่วย และประสานกับโรงพยาบาลผ่านเครือข่ายศูนย์เอราวัณ โดยมีทีมหน่วยแพทย์กู้ชีวิตคอยให้ความช่วยเหลือ โดยรับแจ้งรถพยาบาลผ่านสายด่วน 1646 ตลอด 24 ชั่วโมง
เพิ่มกล้อง CCTV พร้อมขอความร่วมมือประชาชนช่วยแจ้งเหตุ
ผู้ว่าฯกทม. กล่าวด้วยว่า ได้สั่งการกำชับให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในสังกัดของกรุงเทพมหานคร ปฏิบัติหน้าที่สนับสนุนการทำงานของฝ่ายรักษาความมั่นคงอย่างเต็มที่ โดยการตรวจตรา ดูแลความปลอดภัยในสถานที่ต่างๆ อย่างเข้มงวด เคร่งครัด โดยเฉพาะย่านชุมชน หรือแหล่งท่องเที่ยวที่มีชาวต่างชาติอยู่เป็นจำนวนมาก เช่น ย่านเยาวราช เจริญกรุง สุขุมวิท ถนนข้าวสาร เป็นต้น พร้อมทั้งให้สำนักการจราจรและขนส่งคอยตรวจสอบให้กล้อง CCTV ให้สามารถใช้งานได้ตามปกติ พร้อมทั้งติดตั้งกล้องเพิ่มเติมในย่านที่มีชาวต่างชาติจำนวนมาก อาทิ ข้าวสาร อโศก ทองหล่อ อีกด้วย ทั้งนี้ได้ติดตั้งกล้อง CCTV ทั่วพื้นที่กรุงเทพฯ แล้ว จำนวน 12,000 ตัว กำลังเร่งรัดติดตั้งอีก 10,000 ตัว ภายในปี 2555 ให้ครอบคลุมพื้นที่ให้ได้มากที่สุด พร้อมทั้งขอให้ประชาชนเชื่อมั่นในการทำงานของกรุงเทพมหานครและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อย่าตื่นตระหนกกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และขอความร่วมมือประชาชนช่วยกันสอดส่องดูแลความสงบเรียบร้อยในพื้นที่ หากพบเหตุสิ่งผิดปกติหรือต้องสงสัยให้แจ้งเจ้าหน้าที่โดยเร็ว โดยโทรสายด่วน 1555 ตลอด 24 ชั่วโมง