วิกฤติโลกร้อน อุณหภูมิสูงขึ้น ๑ องศา ภัยพิบัติจะรุนแรงขึ้น ๔ - ๕ เท่า

ข่าวทั่วไป Thursday October 27, 2005 10:26 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--27 ต.ค.--สำนักงานเลขานุการกองทัพเรือ
เมื่อวันที่ ๑๒ ตุลาคม ๒๕๔๘ ด๊อกเตอร์ กัณฑรีย์ บุญประกอบ นักวิจัยจากคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ผู้ได้รับทุนจาก สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(สผ.) หัวหน้าโครงการจัดทำแผนปฏิบัติการวิจัยพัฒนาเพื่อรองรับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย เปิดเผยว่า มีความเป็นไปได้สูงว่าภัยธรรมชาติที่เกี่ยวกับอากาศและเกิดขึ้น ในหลายประเทศทั่วโลก เช่น พายุพัดถล่มในประเทศสหรัฐอเมริกา น้ำท่วม น้ำแล้ง ที่มีระดับความรุนแรงมากขึ้น เป็นผลกระทบโดยตรงจากภาวะโลกร้อน ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ได้พิสูจน์แล้วว่าในรอบ ๔๐ ปี อุณหภูมิของโลกที่สูงขึ้นเพียง ๐.๖ หรือ ๑ องศาเซลเซียส ได้ส่งผลต่อระดับความรุนแรงของภัยธรรมชาติเพิ่มขึ้น ๔ - ๕ เท่าตัว
สำหรับประเทศไทย แม้ขณะนี้จะยังไม่สามารถประเมินได้ชัดเจนถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น จากภาวะโลกร้อน แต่ในช่วง ๓ - ๕ ปีที่ผ่านมาก็พบว่าปัญหาน้ำแล้ง น้ำท่วม หรือแม้แต่ไฟป่า และการ ลดลงของพื้นที่ป่าก็เป็นผลโดยตรง และมีความสัมพันธ์กันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ได้ จัดทำแผนปฏิบัติการวิจัยพัฒนาเพื่อรองรับการภาวะโลกร้อนของประเทศไทย และส่งให้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแล้ว ตั้งแต่เดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ทั้งนี้ แผนดังกล่าว ประกอบด้วย การประเมินผลกระทบของภาวะโลกร้อนที่จะเกิดขึ้นกับป่าไม้ ระบบนิเวศน์สิ่งแวดล้อม การเกษตร น้ำกินน้ำใช้ สุขภาพอนามัย โดยจะต้องทำแบบจำลองสถานการณ์เพื่อประเมินผลกระทบออกมาให้ชัดเจน รวมทั้งมาตรการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับ หลายกระทรวง อาทิ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย กระทรวงคมนาคม และกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นต้น โดยมีระยะเวลารวม ๕ ปี วงเงินทั้งสิ้น ๓,๐๐๐ ล้านบาท เท่าที่ทราบ ขณะนี้ระดับนักการเมืองยังไม่ให้ความสนใจกับปัญหาภาวะโลกร้อน เพราะมองว่าเป็นเรื่องไกลตัว และมองว่าเป็นแค่งานวิจัยเท่านั้น ทั้งที่ผลกระทบ จากภาวะโลกร้อนเป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม เพราะถ้าไม่มีงานวิจัยก็จะไม่มีคำตอบและแนวทางแก้ไขปัญหา ทั้งที่ปัจจุบันก็มีสัญญาณบ่งบอกถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นแล้วโดยเฉพาะเรื่องน้ำแล้ง น้ำท่วม เพราะจะ เชื่อมโยงกับปัญหาผลผลิตทางเกษตร
(ที่มา :http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9480000140965)--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ