กรุงเทพฯ--16 ก.พ.--คิธ แอนด์ คิน
มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ นำหลักการพัฒนาตามตำราแม่ฟ้าหลวงฯ ซึ่งคือการเน้นที่ “คน” เป็นศูนย์กลางในการพัฒนาอย่างมีบูรณาการ ด้วยการน้อมนำหลักการทรงงานของพระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัวในการ “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” และ “ระเบิดจากข้างใน” รวมถึงแนวพระราชดำริของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีในการ “ช่วยเขาให้เขาช่วยตัวเขาเอง” มาใช้เป็นแนวคิดของโครงการกล้า...ดี จนเกิดเป็นความสำเร็จ
โครงการมีเป้าหมายในการบรรเทาความเดือดร้อน และเยียวยาทางด้านจิตใจ เพื่อให้ผู้ประสบอุทกภัยเริ่มต้นใหม่ได้ด้วยตนเอง อีกทั้งช่วยลดรายจ่าย และเพิ่มรายได้ให้กับผู้ประสบอุทกภัยที่เข้าร่วมโครงการ ซึ่งขณะนี้หลายจังหวัดนำแนวทางของโครงการกล้า...ดีมาปรับใช้เพื่อรับมือและฟื้นฟูวิกฤติอุทกภัย ประเดิมที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งจะมีการต่อยอดจัดตั้งศูนย์เพาะกล้า 16 จุด ครอบคลุมทั้งจังหวัด
หม่อมราชวงศ์ ดิศนัดดา ดิศกุล เลขาธิการมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ฯ เปิดเผยว่ามูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ได้ดำเนินโครงการกล้า...ดี สำเร็จลุล่วงตามเป้าหมายในการช่วยฟื้นฟูคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของผู้ประสบอุทกภัย ในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่างและภาคกลางรวม 13 จังหวัด 78 อำเภอ 498 ตำบล 3,347 หมู่บ้าน ซึ่งได้ดำเนินการเป็นเวลา 4 เดือน ระหว่างช่วงกลางเดือนตุลาคม 2554 — กลางเดือนกุมภาพันธ์ 2555 โดยจังหวัดพระนครศรีอยุธยาเป็นพื้นที่สุดท้ายที่ได้เข้าไปดำเนินโครงการ และสามารถสรุปจำนวนรวมผู้ที่เข้าร่วมโครงการได้ทั้งสิ้น 988,460 คน
ทั้งนี้โครงการกล้า...ดี ได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็น ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน โดยสรุปเงินบริจาคและค่าใช้จ่ายของโครงการ มียอดเงินบริจาครวมทั้งสิ้น 82,817,523.81 บาท ยอดค่าใช้จ่าย 40,088,541.50 บาท ณ วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2555 ซึ่งค่าใช้จ่ายในการจัดเตรียมชุด 3 พร้อม (พร้อมกิน พร้อมปลูก พร้อมเพาะ) ที่ได้แจกจ่ายให้กับผู้ประสบอุทกภัยอยู่ที่ 40 บาท ต่อคน จากชุด 3 พร้อมนี้ทำให้สามารถช่วยลดค่าใช้จ่ายของผู้ประสบอุทกภัยได้ประมาณ 667 บาท ต่อคน และยังสามารถเพิ่มรายได้อีกประมาณ 889 บาท ต่อคน
“มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ต้องการให้ โครงการกล้า...ดี เป็นต้นแบบของการฟื้นฟูคุณภาพชีวิตผู้ประสบอุทกภัยอย่างยั่งยืน นั่นคือ ช่วยเขาให้เขาช่วยตัวเขาเอง ซึ่งนับเป็นการให้ที่เคารพในศักดิ์ศรีและเล็งเห็นศักยภาพของผู้รับ คือ เอาความต้องการและความพร้อมของผู้รับเป็นที่ตั้ง ผู้ให้เพียงแค่สนับสนุนในสิ่งที่ผู้รับขาดแคลน และเป็นการให้เพื่อให้ผู้รับนำไปปรับใช้ตามวิถีที่เขาเลือกสรรได้เอง จนทำให้เกิดเป็นความมั่นคงและยั่งยืน ตามหลักการทรงงาน “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” และ “ระเบิดจากข้างใน” ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และแนวพระราชดำริของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีในการ “ช่วยเขาให้เขาช่วยตัวเขาเอง” ซึ่งเป็นที่น่ายินดีว่าขณะนี้ผู้นำท้องถิ่นในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา รวมถึงผู้นำท้องถิ่นในจังหวัดอุทัยธานี ลพบุรี ชัยนาท พิษณุโลก นครสวรรค์ พิจิตร สิงห์บุรี และอ่างทอง ได้มีแนวความคิดที่จะนำแนวทางของโครงการกล้า...ดี ไปใช้ในการรับมืออุทกภัยในอนาคต โดยยึดถือหลักการช่วยเหลือตนเอง” เลขาธิการมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ กล่าว
ทั้งนี้ ผู้นำชุมชนจากจังหวัดต่างๆ เห็นควรในการผลักดันรูปแบบการดำเนินงานตามแนวทางของโครงการกล้า...ดี ซึ่งเป็นการฟื้นฟูอย่างยั่งยืนให้เกิดขึ้นในจังหวัดของตน ด้วยเหตุผลหลักสองประการคือ หนึ่ง ปรัชญาที่สอนให้ช่วยเหลือตนเอง ไม่รอรับการบริจาคแต่เพียงอย่างเดียว สอง การดำเนินการใช้งบประมาณไม่มาก และสามารถฟื้นฟูได้อย่างรวดเร็ว ยั่งยืน
ซึ่งจากนี้โครงการมีแผนที่จะนำยอดเงินคงเหลือจากการบริจาคหลังหักค่าใช้จ่ายมาใช้เพื่อส่งเสริมและต่อยอดศักยภาพของชุมชนเข้มแข็ง เพื่อสร้างชุมชนกล้า...ดี ที่จะเป็นแบบอย่างของการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืนให้แก่ชุมชนอื่นๆ ต่อไป และทีมงานกล้า...ดี ซึ่งจะคอยให้คำปรึกษาให้เกิดกระบวนการที่จะนำไปสู่การสร้างเสริมศักยภาพ การพึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต