กรุงเทพฯ--16 ก.พ.--ตลท.
นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (สภาฯ) เปิดเผยว่าในการประชุมคณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อดำเนินมาตรการทางการเงินเกี่ยวกับการฟอกเงิน (Financial Action Task Force on Money Laundering — FATF) ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 13-17 กุมภาพันธ์ นี้ที่ประเทศฝรั่งเศส มีความเป็นไปได้ว่าประเทศไทยจะถูกปรับลดระดับให้ไปอยู่ในกลุ่มประเทศที่ต้องถูกเฝ้าระวังซึ่งทาง FATF จะประกาศรายชื่อดังกล่าวในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2555 นี้
“สาเหตุที่ทำให้ประเทศไทยมีความเสี่ยงที่จะถูกลดระดับนั้นเป็นผลมาจากความล่าช้าในการผลักดันกฎหมายรองรับการต่อต้านการฟอกเงิน คือ กฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน และกฎหมายว่าด้วยการต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย ซึ่งประเทศไทยจะมีผู้แทนไปร่วมประชุมและชี้แจงเหตุผลของความล่าช้าของการออกกฎหมายดังกล่าว อย่างไรก็ตาม สภาธุรกิจตลาดทุนไทยจะเป็นตัวแทนภาคธุรกิจตลาดทุน เร่งผลักดันให้รัฐบาลให้ความสำคัญในเรื่องนี้เพื่อให้กฎหมายทั้ง 2 ฉบับนี้ออกมาโดยเร็ว แต่อย่างไรก็ตามหากประเทศไทยถูกลดระดับจริง ส่วนตัวยังคงคิดว่าไม่น่าจะมีผลกระทบต่อตลาดทุนไทยมากนักในระยะสั้น
แต่หากไม่เร่งแก้ไขและผลักดันให้เกิดกฎหมายดังกล่าวโดยเร็วก็อาจจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้ลงทุนต่างชาติและระบบเศรษฐกิจไทยได้เช่นกัน” นายไพบูลย์ กล่าว
นายจรัมพร โชติกเสถียร กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า หากประเทศไทยถูกประกาศเป็นประเทศที่ต้องถูกเฝ้าระวังในการทำธุรกรรมทางการเงินจริง เชื่อว่าจะส่งผลกระทบต่อการทำธุรกรรมในตลาดทุนในวงจำกัด เนื่องจากปัจจุบันการทำธุรกรรมในตลาดทุนมีขั้นตอนการดำเนินการที่เป็นมาตรฐานอยู่แล้ว ทั้งมาตรฐานด้านการตรวจสอบเอกสารหลักฐานในการทำธุรกรรม รวมทั้งมาตรฐานการกำกับการซื้อขายหลักทรัพย์ ที่สำคัญคือผลการประเมินเกี่ยวกับมาตรการการปราบปรามการฟอกเงินและการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายของของ FATF ในปี 2550 ได้ระบุว่าภาคธุรกิจหลักทรัพย์สามารถปฏิบัติได้สอดคล้องกับมาตรฐานของ FATF ได้มากที่สุด แสดงให้เห็นถึงการดำเนินธุรกิจหลักทรัพย์ที่มีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับได้ อย่างไรก็ตาม ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะติดตามความคืบหน้าดังกล่าว และประสานงานกับสมาคมในตลาดทุนอย่างใกล้ชิดต่อไป
นางวรวรรณ ธาราภูมิ นายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุน กล่าวว่า สมาคมฯ มีความกังวลว่าหากประเทศไทยถูกจัดอยู่ในบัญชีรายชื่อประทศที่มีข้อบกพร่องทางยุทธศาสตร์ซึ่งมีความเสี่ยงในการทำธุรกรรม ก็อาจส่งผลกระทบต่อประเทศโดยรวม ไม่ว่าทั้งที่เป็นสถาบันการเงินหรือผู้ประกอบอาชีพต่างๆ ที่มีธุรกรรมกับประเทศสมาชิกของ FATF “หากเราถูกยกระดับการเฝ้าระวังจากประเทศสมาชิกของ FATF ซึ่งมีกลุ่มประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ใน G 20 ที่มีขนาดเศรษฐกิจรวมกันถึงประมาณ 90 % ของเศรษฐกิจโลกรวมอยู่ด้วย การค้าขายของประเทศอาจจะพบกับอุปสรรคไม่น้อย เช่น การเปิดบัญชีกับสถาบันการเงินในต่างประเทศ การส่งเงินไปยังต่างประเทศ อาจจะต้องชี้แจงและให้เอกสารเพิ่มเติมเพื่อแสดงที่มาของเงินและวัตถุประสงค์ของการส่งเงินไปยังต่างประเทศนั้น ระยะเวลาที่ต้องใช้ในการทำธุรกรรมน่าจะนานมากขึ้น และบางแห่งอาจจะไม่ยอมทำธุรกรรมด้วยก็ได้ ดังนั้น องค์กรทั้งภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องกับการออกกฎหมาย การปรับปรุงกฎหมาย และการดำเนินการต่างๆ ในการปฏิบัติตามมาตรฐานสากลด้าน AML/CFT จึงต้องร่วมกันผลักดันและดำเนินการให้ประเทศไทยพ้นจากการประกาศของ FATF ให้เป็นประเทศที่มีข้อบกพร่องทางยุทธศาสตร์ซึ่งมีความเสี่ยงในการทำธุรกรรมให้เร็วที่สุดเพื่อไม่ให้ประเทศสูญเสียทางเศรษฐกิจ ซึ่งขณะนี้นับเป็นจังหวะเวลาอันดีที่รัฐบาลและสภาผู้แทนราษฎรจะได้ให้ความสนใจ และทำการผ่านร่างกฏหมายที่รอมายาวนานนี้เสียที”
นางภัทธีรา ดิลกรุ่งธีระภพ นายกสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย กล่าวว่าเนื่องจากการป้องกันปราบปรามการฟอกเงินและการต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย (AML/CFT) เป็นส่วนหนึ่งของมาตรการบรรษัทภิบาลของภาคการเงิน ซึ่งกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ 20 ประเทศ (G-20) ให้ความสำคัญและได้เรียกร้องให้ประเทศต่างๆ ปรับปรุงแก้ไขข้อบกพร่องที่เกี่ยวข้อง สำหรับประเทศไทยควรดำเนินการในเรื่องการแก้ไขกฎหมายให้การสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายเป็นความผิดอาญาอย่างครบถ้วน การดำเนินมาตรการในการตรวจสอบและอายัดทรัพย์สินของผู้ก่อการร้ายและปรับปรุงการกำกับดูแลเกี่ยวกับ AML/CFT ให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น หากรัฐบาลสามารถปรับปรุงข้อบกพร่องตามการประเมินของ FATF และ ICRG (International Cooperation Review Group) ได้ก็จะทำให้สามารถหลีกเลี่ยงภาระและความยากลำบากของการทำธุรกรรมทางการเงินกับต่างประเทศ ซึ่งจะต้องมีกระบวนการทำ KYC/CDD (Know Your Customer/Customer Due Diligence) ที่เข้มงวดมากขึ้นและใช้เวลานานขึ้น อันจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อภาคธุรกิจและระบบเศรษฐกิจของประเทศไทยโดยรวม
อย่างไรก็ตาม สภาธุรกิจตลาดทุนไทย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สมาคมบริษัทหลักทรัพย์ สมาคมบริษัทจัดการลงทุน และสมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย จะทำงานร่วมกันเพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับการประกาศของ FATF โดยมีการติดตามและประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และหาแนวทางในการแก้ไขปัญหา รวมทั้งร่วมกันผลักดันรัฐให้ออกกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเร่งด่วน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นของผู้ลงทุนทั้งในและต่างประเทศ
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ติดตามข่าวสารข้อมูลและกิจกรรมต่างๆ ได้ที่ คุณคเณศ วังส์ไพจิตร ผู้อำนวยการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย โทร 02-229-2900-1 หรือ email: fetco@set.or.th