กรุงเทพฯ--17 ก.พ.--ไทยพีบีเอส
คมสันต์ สุทนต์ผู้ดำเนินรายการ พาคุณผู้ชมไปพูดคุยเคล้าเสียงฮากับจำอวดอาวุโสยุคบุกเบิกวัย 90 ปี ก๊กเฮง- ครูเฉลิมศักดิ์ พุกกะณะสุต เพื่อรู้ที่มาของคำว่า “ระนาดจำอวด” และไปเที่ยวบ้านจำอวดใจดีเมืองเพชรบุรี ลุงเล็ก-ครูชนะ ชำนิราชกิจ ศิลปินครบเครื่องเรื่องร้องรำทำเพลง ปิดท้ายด้วย “ระนาดตลก คาเฟ่” ข้ามยุค พี่ปู ดอกกระโดน-ครูบุญสร้าง เรืองนนท์ ในรายการบางบรรเลงเพลงระนาด ตอนระนาดจำอวด วันจันทร์ที่ 20 กุมภาพันธ์ 2555 เวลา 23.00 น.(ห้าทุ่ม) ทาง ไทยพีบีเอส
คมสันต์ สุทนต์ เล่าให้ฟังถึงบางบรรเลงฯ และความหมายของคำว่า ระนาดจำอวด ตอนนี้ว่า“ระนาดจำอวด ตอนนี้เป็นตอนประวัติศาสตร์ที่ไม่อยากให้คนไทยพลาดชม ความรื่นรมย์ร่ำรวยอารมณ์ขันของสามศิลปินจำอวด-ตลกชั้นครู ที่จะมาเล่าเรื่องราวเคล้าเสียงฮา เรียกรอยยิ้มได้เกือบ 1 ชั่วโมงเต็ม..
จำอวด ผมว่าน่าจะมาจากคำว่า “จำมาอวด” (คมสันต์ สุทนต์) มีที่มาจากสวดคฤหัสถ์ในงานศพ อาจจะเป็นเครือญาติกับตลกลิเก, ตลกหลวง, ตลกโขน, ตลกเสภา, เบญจพรรณ..
ระนาดจำอวด น่าจะมีจุดเริ่มต้นมาจาก จำอวดคณะดอกจันทร์ ที่ครูยรรยงค์ โปร่งน้ำใจ(จมูกแดง) ล้อเลียนการประชันปี่พาทย์ ของวงปี่พาทย์วังบูรพาฯ มีจางวางศร(หลวงประดิษฐไพเราะ-ศร ศิลปบรรเลง) กับวงปี่พาทย์บางขุนพรหม จางวางทั่ว (คุณครูจางวางทั่ว พาทยโกศล) ท่านครูทั้งสองเป็นผู้ควบคุมวง ในยุคสมัยนั้นเป็นที่เลื่องลือกันกล่าวขานกันทั้งพระนคร
ครูยรรยงค์ก็หยิบมาแสดงล้อเลียน โดยตั้งชื่อแทนเสียใหม่ว่า “จางวางเพลิง” แล้วแต่งตัวสีแดงแจ๊ดติดเหรียญตราเต็มจนล้นอกซึ่งชื่อตัวจำอวดนี้น่าจะหยิบมาจาก ชื่อจางวางเพลิง ใน พลนิกร กิมหงวน ของ ป. อินทรปาลิต”
คมสันต์กล่าวสรุป พร้อมปิดท้ายไว้อย่างน่าสนใจว่า“สิ่งที่น่าแปลกและทึ่งคือ จุดเริ่มต้นของระนาดจำอวด มาจากเรื่องราวการประชันปี่พาทย์ เหมือนอย่างในละครเรื่อง โหมโรง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตจริงของท่านครูหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) ครับ
พลาดชมตอนนี้จะเสียใจไปทั้งชาติ รายการบางบรรเลงเพลงระนาด ตอนระนาดจำอวด วันจันทร์ที่ 20 กุมภาพันธ์ 2555 เวลา 23.00 น.(ห้าทุ่ม) ทาง ไทยพีบีเอส“แล้วคุณ..จะรักระนาด ทุกชาติไป”
ติดต่อ:
รู้จัก “ระนาดจำอวด” เพิ่มเติมได้ที่ : http://ranadjamauad.blogspot.com/
คมสันต์ สุทนต์ khomsun_suthon@hotmail.com