กรุงเทพฯ--18 ก.พ.--กลุ่มสารนิเทศการคลัง กระทรวงการคลัง
นายวิรุฬ เตชะไพบูลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ร่วมประชุมกับสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ในการกำกับดูแลทั้ง 6 แห่ง ได้แก่ ธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (ธพว.) ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย บริษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) และ บรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย (บตท.) เพื่อหารือเกี่ยวกับการปฏิบัติตามแผนพัฒนาสถาบันการเงินเฉพาะกิจ
นายวิรุฬฯ กล่าวว่าสถาบันการเงินเฉพาะกิจแต่ละแห่งจะมีลูกค้ากลุ่มเป้าหมายของตนเอง อย่างไรก็ตามแม้จะมีจุดเน้นต่างกันแต่ในภาพรวมแล้วสถาบันการเงินเฉพาะกิจเป็นกลไกสำคัญในการตอบสนองนโยบายกึ่งการคลังของภาครัฐ (Quasi-Fiscal Policy) ซึ่งต้องมีการทำงานร่วมกันอย่างมีเอกภาพ นอกจากนี้สถาบันการเงินเฉพาะกิจมีบทบาทที่สำคัญอีกด้านหนึ่งในการทำหน้าที่เป็นสถาบันการเงินเพื่อการพัฒนา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บทบาทในระบบการเงินเพื่อช่วยเหลือประชาชนรายย่อยโดยเฉพาะในระดับฐานรากที่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบที่เป็นธนาคารพาณิชย์หรือสถาบันการเงินประเภทอื่นได้ ทำให้คนกลุ่มนี้จำเป็นต้องหันไปพึ่งแหล่งเงินทุนนอกระบบ โดยสถาบันการเงินเฉพาะกิจจะเข้าไปช่วยเหลือในด้านเงินทุนให้ลูกค้ากลุ่มดังกล่าวนำไปประกอบกิจการสร้างฐานะ ให้กับตนเอง จนมีความสามารถ เพียงพอที่เข้าสู่ระบบสถาบันการเงินปกติได้ อันจะลดช่องว่างในตลาดการเงิน และลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมได้อีกทางหนึ่ง
นายวิรุฬฯ ยังได้ขอให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจมุ่งเน้นบทบาทในการ
(1) เติมเต็มช่องว่างในการให้บริการทางการเงินในส่วนที่ธนาคารพาณิชย์ไม่สามารถให้บริการได้อย่างทั่วถึงในภาคต่างๆ ทั้ง SMEs ประชาชนรายย่อย Microfinance รวมถึง ภาคการเกษตร
(2) ลดความทับซ้อนในการดำเนินงานระหว่างสถาบันการเงินเฉพาะกิจด้วยกันเอง
(3) แยกบัญชีธุรกรรมนโยบายรัฐออกจากธุรกรรมเชิงพาณิชย์ หรือที่เรียกว่า PSA (Public Service Account)
ในตอนท้าย นายวิรุฬฯ ยังได้เน้นให้สถาบันการเงินแต่ละแห่งดูแลสัดส่วนเงินฝากลูกค้ารายใหญ่ต่อรายย่อยให้อยู่ในสัดส่วนที่เหมาะสม เพื่อลดการแข่งขันด้านเงินฝากของสถาบันการเงินเฉพาะกิจด้วยกันเอง ตลอดจนดูแลการปล่อยสินเชื่อให้มีคุณภาพ และควบคุม NPLs ให้อยู่ในระดับที่ต่ำ