กรุงเทพฯ--1 เม.ย.--สสวท.
นายวุธิวัช จิตจักร นักเรียนทุนโครงการพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ชั้น ม.6 โรงเรียนแก่นนครวิทยาลัย ได้จัดทำผลงานวิทยาศาสตร์เรื่องแกงหน่อไม้กึ่งสำเร็จรูปโดยมี อ.วรรณา ปักษีเลิศ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา และ ผศ.ดร.ชูศักดิ์ พูนสวัสดิ์ ดร.ไชยวัฒน์ รักสกุลพิวัฒน์ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาพิเศษ หนุ่มน้อยคนนี้ได้สังเกตว่าผลิตภัณฑ์กึ่งสำเร็จรูปผลิตออกมาสู่ตลาดมากมาย เพื่อตอบสนองความต้องการของมนุษย์ เนื่องจากชีวิตความเป็นอยู่ในภาวะปัจจุบันมีความเร่งรีบ จึงเกิดความคิดในการทำแกงหน่อไม้สำเร็จรูปขึ้นมา โดยมีกระบวนการทำดังนี้
ขั้นตอนที่ 1 การทำน้ำใบย่านางเข้มข้น โดยคั้นน้ำใบย่านางสด แล้วต้มให้น้ำระเหยออก ได้น้ำใบย่านางเข้มข้น จากนั้นแบ่งน้ำใบย่านางเข้มข้นที่ได้เขี่ยลงจานเพาะเชื้อที่มีอาหารเลี้ยงเชื้อ 2 ชุด เก็บไว้ในตู้เย็นและอุณหภูมิห้อง
ขั้นตอนที่ 2 เป็นการทำเครื่องปรุงแห้ง นำใบแมงลัก พริกขี้หนูสด ปลาร้า หน่อไม้ ฟักทอง ข้าวสารเหนียว อบด้วยตู้อบลมร้อน จากนั้นทดสอบการคืนตัว โดยนำเครื่องปรุงแห้งต้มในน้ำ แล้วเปรียบเทียบลักษณะกับเครื่องปรุงสดต้ม
ขั้นตอนที่ 3 ทดสอบสีของน้ำใบย่านางเข้มข้นต้มและน้ำใบย่านางสดต้ม ด้วยการวัดค่าดูดกลืนแสงสีเขียว
ขั้นตอนที่ 4 นำเครื่องปรุงแห้งและน้ำใบย่านางเข้มข้น ปรุงเป็นแกงหน่อไม้ แล้วทดสอบรสชาติกลิ่น และสีของแกง จากการกรอกแบบสอบถามของอาสาสมัคร
จากการทดลองได้ผลดังนี้ ขั้นตอนที่ 1 เมื่อเวลาผ่านไป 12 วัน น้ำใบย่านางเข้มข้นที่เก็บไว้ที่อุณหภูมิห้องเริ่มมีเชื้อแบคทีเรียเกิดขึ้นตามรอยของน้ำใบย่านางเข้มข้นที่เขี่ยลงบนอาหารเลี้ยงเชื้อ แต่น้ำใบย่านางเข้มข้นที่เก็บในตู้เย็น ไม่เปลี่ยนแปลง
ขั้นตอนที่ 2 เมื่อนำเครื่องปรุงแห้งมาทดสอบการคืนตัวโดยการต้ม ปรากฏว่าลักษณะที่สังเกตได้คล้ายกับเครื่องปรุงสด
ขั้นตอนที่ 3 วัดค่าดูดกลืนแสงของน้ำใบย่านางเข้มข้นที่ใช้เนื้อใบย่านางเข้มข้น 1 กรัม ต่อน้ำ 200 กรัมแล้วนำไปต้ม วัดค่าดูดกลืนแสงสีเขียวเท่ากับ 0.375 และค่าดูดกลืนแสงสีเขียวของน้ำใบย่านางสดต้มเท่ากับ 0.377
ขั้นตอนที่ 4 ผลจากความเห็นอาสาสมัครจำนวน 53 คน กับรสชาติพบว่า ร้อยละ 54.72 มีรสชาติดีมาก ร้อยละ 41.50 ดี ร้อยละ 3.78 พอใช้ และร้อยละ 0 ควรปรับปรุง ความเห็นกับกลิ้น ร้อยละ 43.40 ดีมาก ร้อยละ 47.16 ดี ร้อยละ 5.66 พอใช้ และร้อยละ 3.78 ควรปรับปรุง ความเห็นกับสี ร้อยละ 50.94 ดีมาก ร้อยละ 39.62 ดี ร้อยละ 9.44 พอใช้ และร้อยละ 0 ควรปรับปรุง
พบกับความน่าทึ่งของผลงานวิทยาศาสตร์เหล่านี้ได้ในงาน "คลื่นลูกใหม่วิทยาศาสตร์ไทย กลไกพัมนาชาติ" เนื่องในโอกาสครบรอบ 20 ปี โครงการพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์แลเทคโนโลยี(พสวท.) ระหว่างวันที่ 1-2 เมษายน 2547 ณ Hall 8 อิมแพค เมืองทองธานี ภายในงานจะได้พบกับการบรรยายพิเศษจากผู้ทรงคุณวุฒิ เวทีเสวนาการพัฒนาเครือข่ายผู้มีความสามารถ พิเศษ 5 ด้าน และบรรยายทางวิชาการ ผลงานวิจัยและการประดิษฐ์คิดค้นนวัตกรรมทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของเยาวชนและคนรุ่นใหม่กว่าสี่ร้อยผลงาน คลีนิกวัดแววความสามารถพิเศษของเยาวชน ละครวิทยาศาสตร์แสนสนุก การประกวดเรื่องสั้นวิทยาศาสตร์ และพบกับนักเขียนดัง เช่ย ชัยคุปต์ ดร.ป๊อป การตอบปัญหาวิทยาศาตร์ ตื่นเต้นเร้าใจไปกับ Science Show การแข่งขันเครื่องบินเล็ก และกิจกรรมที่น่าสนใจอีกมากมาย จัดโดยสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี(สสวท.)--จบ--
-ดพ/นท-