กรุงเทพฯ--20 ก.พ.--สภาที่ปรึกษาฯ
สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้จัดให้มีการวิพากษ์ (ร่าง)ความเห็นและข้อเสนอแนะ เรื่อง “นวัตกรรมในการบริหารจัดการแก้ไขปัญหายาเสพติดของประเทศไทย” ซึ่งเป็นผลมาจากการจัดสัมมนาในการแก้ไขปัญหายาเสพติดของประเทศไทยในภูมิภาคต่างๆ จำนวน 6 ครั้ง โดยในครั้งนี้ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับงานด้านการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด การบำบัดฟื้นฟู และด้านอื่นๆ กว่า 20 องค์กร ในการเสนอแนะแนวทาง และปรับปรุงร่างความเห็นดังกล่าว เพื่อให้ความเห็นและข้อเสนอแนะมีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น
โดยมี นายโอกาส เตพละกุล ประธานสภาที่ปรึกษาฯ กล่าวเปิดการประชุมและนำเสนอ(ร่าง)ความเห็นและข้อเสนอแนะ ซึ่งสามารถสรุป ประเด็นสำคัญได้ 3 ด้าน ดังนี้
1. ด้านการป้องกันและรักษา บำบัด ฟื้นฟู
ข้อเสนอของที่ประชุม
- รัฐควรส่งเสริมให้มีการจัดตั้งคลินิกนิรนามและศูนย์บำบัดให้กระจายครอบคลุมทุกพื้นที่ โดยมอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุขเป็นหน่วยงานรับผิดชอบ ข้อมูลของผู้รักษาให้ปกปิดเป็นความลับ และหากผ่านการบำบัดแล้ว ต้องได้รับการลบชื่อออกจากทะเบียนประวัติของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
- รัฐควรส่งเสริมให้มีการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ ให้ผู้เสพยาเสพติดทุกคนเข้ารับการรักษาโดยสมัครใจ และเลือกวิธีการรณรงค์ให้เป็นที่จูงใจ และตรงต่อกลุ่มเป้าหมาย
- รัฐควรส่งเสริมให้มีการจัดตั้งอาสาสมัครชุมชนไปจูงใจและชักชวนผู้เสพยาเสพติดให้เข้ารับการรักษา โดยเฉพาะผู้ที่เคยติดยาเสพติดมาก่อน โดยให้อาสาสมัครได้รับค่าตอบแทนตามความเหมาะสม ซึ่งมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยเป็นผู้รับผิดชอบ
- ผลจาการดำเนินการตาม ข้อ 1 ,2 และ 3 จะทำให้จำนวนผู้ติดยาเสพติดลดน้อยลง เพราะเมื่อความต้องการยาเสพติดน้อยลง ผู้ค้าก็จะลดลง เป็นการตัดวงจรธุรกิจยาเสพติดอย่างยั่งยืน
2. ด้านการปราบปราม
ข้อเสนอของที่ประชุม
- รัฐควรมีนโยบายในการปราบปรามการลักลอบนำเข้ายาเสพติด โดยเริ่มจากตามชายแดนประเทศเพื่อนบ้านแบบ “พหุภาคี”
- ควรเพิ่มอัตรากำลังเจ้าหน้าที่ด้านการปราบปราม และเสริมสร้างความรู้และความรับผิดชอบให้แก่เจ้าหน้าที่ และควรเพิ่มอัตราเงินเดือนให้สูงขึ้น เพื่อเป็นกำลังใจให้แก่เจ้าหน้าที่ ตลอดจนสนับสนุนงบประมารในการจัดซื้ออุปกรณ์ตรวจค้นยาเสพติดที่มีประสิทธิภาพ
- รัฐควรมีมาตรการในการคุ้มครองพยานในคดียาเสพติด เพื่อจะได้มีแหล่งข่าวในการให้ข้อมูลอย่างต่อเนื่อง โดยที่พยานไม่ต้องกังวลว่าจะได้รับอันตราย
3. การแก้ไขปัญหาพืชกระท่อม
ข้อเสนอของที่ประชุม
รัฐควรเสนอปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 โดยยกเลิกไม่ให้เป็นยาเสพติดให้โทษ เพื่อให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตพื้นบ้านที่ผู้เสพเป็นผู้มีรายได้น้อยและเสพเพื่อให้ทำงานได้มาก และมีรายได้เพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ภายหลังการประชุมสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จะได้นำข้อเสนอต่างๆมาปรับปรุงร่างความเห็นดังกล่าว ให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น เพื่อนำเสนอต่อสภาที่ปรึกษาฯ และคณะรัฐมนตรีต่อไป